'โควิด' และ 'การกีดกันการค้า'
โควิด-19 นอกจากจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนทั่วโลกแล้ว แต่ยังเป็นชนวนเหตุให้หลายๆ ประเทศตั้งแง่ใส่กันถึงต้นตอของโรคระบาดนี้ และทำให้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนกลับมาปะทุขึ้นอีกครั้ง และบานปลายไปสู่ประเทศอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น
ภาวะจลาจลที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา แม้จะมีจุดกำเนิดมาจากเรื่องการแบ่งแยกผิวสี แต่ความคุกรุ่นจากความขัดแย้งของชาวอเมริกันไม่ได้มีเพียงแค่ประเด็นเดียวเท่านั้น ชาวเอเชียที่มีเชื้อสายจีนทุกคนเริ่มถูกคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนอเมริกันจำนวนมากเชื่อว่าคนเอเชียเหล่านั้น เป็นต้นตอของโรคระบาดที่คร่าชีวิตชาวอเมริกันอยู่ในเวลานี้
การกล่าวหาว่าประเทศหนึ่งประเทศใดเป็นต้นตอของโรคระบาด แล้วพากันต่อต้านประเทศนั้นจึงไม่ใช่ทางออกใดๆ และไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เลย เพราะโลกเราผ่านจุดที่แต่ละประเทศจะ “ต่างคนต่างอยู่” มานานนับร้อยปีแล้ว
ในทางตรงกันข้าม ทุกวันนี้โลกอยู่ได้ด้วยความแตกต่างหลากหลายของแต่ละประเทศ การค้าการขายเกิดขึ้นจากความถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ตัวอย่างเช่นประเทศไทยของเราก็ต้องอาศัยเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวของประเทศอื่นๆ เป็นหลัก รวมไปถึงอุตสาหกรรมก็อาศัยการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกเช่นกัน
หากประเทศหนึ่งประเทศใดล้มลงย่อมส่งผลกระทบถึงประเทศอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะจีน ซึ่งเติบโตขึ้นมาเป็นมหาอำนาจที่มีบทบาทและอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกสูงมาก หากเศรษฐกิจของจีนมีปัญหา ย่อมส่งผลกระทบถึงประเทศต่างๆ ทั่วโลกแน่นอน
การเติบโตของจีนตลอด 20 ปีที่ผ่านมาสร้างประโยชน์ให้กับหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ที่ได้เปรียบจากการได้บริโภคสินค้าที่ต้นทุนต่ำที่สุดมายาวนาน เพราะได้ฐานการผลิตในเอเชียที่มีค่าแรงต่ำที่สุดมาโดยตลอด จนวันนี้หากสินค้าอย่างรองเท้า เสื้อผ้า จะกลับไปผลิตในสหรัฐ ต้นทุนคงเพิ่มขึ้นอย่างมาก
และในเวลาเดียวกัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนก็เร่งให้องค์กรธุรกิจของสหรัฐเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด เพราะจีนกลายเป็นประเทศผู้บริโภครายใหญ่ สินค้าอย่างแอ๊ปเปิ้ล โดยเฉพาะไอโฟน จึงเติบโตในจีนอย่างรวดเร็ว
แม้จะผลิตในจีนแต่ความมั่งคั่งกลับตกอยู่กับแอ๊ปเปิ้ลแต่เพียงฝ่ายเดียว เช่นเดียวกับบริษัทชั้นนำของโลกในวันนี้ที่ล้วนเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นอเมซอน กูเกิล ไมโครซอฟท์ เฟซบุ๊ค การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจึงส่งผลบวกต่อบริษัทเหล่านี้อย่างมากมาย
การกีดกันจีนย่อมส่งผลร้ายที่สหรัฐโดยตรง และยังส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ เพราะเศรษฐกิจโลกในเวลานี้ล้วนเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมด การเอาชนะกันด้วยมาตรการทางการค้าต่างๆ อาจทำให้ดูเหมือนเป็นผู้ชนะในระยะแรก แต่ในระยะยาวแล้ว เมื่อผลกระทบสะท้อนกลับมาถึง เราก็จะพบว่าไม่มีใครเป็นผู้ชนะที่แท้จริง เพราะทุกประเทศต่างต้องพึ่งพาอาศัยด้วยกันทั้งนั้น ภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นในเวลานี้เป็นวัฏจักรปกติที่เกิดขึ้นเป็นประจำ และเราจะผ่านพ้นมันไปได้ด้วยการร่วมมือร่วมใจกันเท่านั้น