'บิ๊กตู่' แจงสภาฯ ยันโอนงบ 'กลาโหม' มากสุด เพราะชะลอได้
"นายกรัฐมนตรี" แจงสภาฯ ยันโอนงบ "กลาโหม" กลับมากสุด เพราะชะลอได้ ไม่กระทบราชการ ขออย่าห่วงทุจริตพร้อมเอาผิดไม่ ไว้หน้าใคร ยืนยันจะดูแลคนทุกกลุ่มเท่าเทียม
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย วงเงินกว่า 88,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด -19 อีกครั้งว่า หลังจากที่ฟังการอภิปรายของ ส.ส. หลายคน เป็นประโยชน์ พร้อมนำไปปรับปรุงพิจารณา อะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ จะรับฟังแต่จะให้เข้าหูซ้ายทะลุหูขวาไปยืนยันว่า งบประมาณส่วนนี้ จะนำไปใช้จ่ายให้สอดคล้องกับ สภาพความเป็นจริง
ยืนยันว่าโครงสร้าง งบกลาง มีทั้งเบี้ยหวัดบำนาญ สำหรับปรับเงินเดือนข้าราชการและเงินสมทบลูกจ้างประจำ กว่า 5.1แสนล้านบาท เป็นเงินสำรองกรณีฉุกเฉิน 96,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ใช้จ่ายไปแล้วเหลือเพียง 400 ล้านบาทเท่านั้น โดยแบ่งออกเป็นค่าใช้จ่าย 4 กลุ่ม คือ
- เงินสำหรับการแก้ปัญหาสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 จำนวน กว่า 56,000 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งและอุทกภัยกว่า 18,000 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายด้านเศรษฐกิจและสังคม กว่า 11,000 ล้านบาท
- และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการภาครัฐ กว่า 9,000 ล้านบาท โดยรวมที่ใช้ไปแล้ว กว่า 95,000 ล้านบาท ซึ่งเหตุผลที่จำเป็นต้องใช้งบกลางไปก่อน เพราะ พ.ร.บ.โอนงบ และพ.ร.ก.กู้เงินยังไม่ออก จึงขอให้เข้าใจสัดส่วนงบกลางให้ดีก่อน ย้ำว่าการบริหารเงินไม่ใช่อำนาจการบริหารของนายกฯเพียงอย่างเดียว เพราะไม่ใช่เงินของนายกฯ
ส่วนเหตุผลที่ไม่เสนอ พ.ร.บ.โอนงบฯ ก่อนพ.ร.ก.กู้เงินนั้น นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า การ ออกเป็น พ.ร.ก. จัดทำได้เร็วกว่า และมีการประมาณการณ์แล้วว่า แม้กู้เงินมาก็ยังไม่เพียงพอ เฉพาะค่าใช้จ่ายเยียวยาประชาชน ประมาณการณ์ไว้มาก ถึง 55,000 ล้านบาท
ซึ่งเงินสำรองจ่ายที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ย้ำว่าเงิน 2 ก้อนทั้งจากพ.ร.ก.กู้เงิน และพ.ร.บ.โอนงบจะเข้ามาอยู่ในงบกลาง มีกรอบการใช้จ่าย ที่รัฐบาลกำหนดไว้ว่าจะเอาไปใช้จ่ายส่วนใดบ้าง ตามความจำเป็นของสถานการณ์ โดยเงินที่มีการโอนกลับมาในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นงบจากโครงการที่ยังทำสัญญาไม่ได้ โครงการที่แผนรายละเอียดที่ยังไม่สมบูรณ์ ทำให้จำเป็นต้องหยุดโครงการดังกล่าวไว้ก่อน แต่ไม่ได้ตัดโครงการทั้งหมด เมื่อมีความพร้อมให้นำเสนอกลับมาใหม่ได้
ส่วนกรณีที่มีการตัดงบกระทรวงกลาโหมมากกว่ากระทรวงอื่นถึงกว่าร้อยละ 10 จากที่หน่วยงานอื่นที่ปรับลดเพียงร้อยละ 5 นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามหลักเกณฑ์โครงการใดที่สามารถชะลอได้โดยไม่สร้างความเสียหายแก่ราชการก็สามารถปรับได้มากกว่าร้อยละ 5 อยู่แล้ว ดังนั้นงบประมาณในปี 2563 ส่วนใดที่ยังไม่สามารถใช้ได้ในปีนี้ ให้โอนกลับมาส่วนกลางก่อน ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐไม่ใช่การปรับโอนงบประมาณเพื่อให้รัฐบาลใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น
เพราะหลายโครงการอยู่เกณฑ์ที่สามารถชะลอได้ ยกเว้นบางโครงการที่เป็นงบผูกพัน โดยเฉพาะการจัดซื้อยุทโธปกรณ์บางรายการที่ทำสัญญาไปแล้วก็ไม่สามารถปรับลดได้ เพราะจะไม่ให้ซื้อเลยคงทำไม่ได้ ต้องรู้ว่าทหารทำหน้าที่กี่อย่าง ย้ำว่าไม่ใช่ว่าเพราะตนเป็นทหารจึงเห็นใจทหาร แต่ทหารต้องช่วยทุกเรื่อง แม้ว่าจะมีหน้าที่จริงจะทำหน้าที่ป้องกันประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาทหารก็ไม่ได้เรียกร้องอะไรเพิ่มเติม
ส่วนปัญหาการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ราคาแพง ก็เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตของผู้ปฏิบัติหน้าที่ เพราะชีวิตคนก็มีความสำคัญ
นายกรัฐมนตรี ยังขออย่าห่วงการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ โดยขอให้เป็นไปตามกฎหมายและให้เจ้าหน้าที่ทำงานไปตามกระบวนการ และค่อยมาดูว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะตอนนี้ยังเป็นเพียงการตั้งกรอบงบประมาณ เมื่อมีการใช้จ่ายงบประมาณขึ้นมาก็ต้องมีกรรมการคัดกรองและตรวจสอบตั้งแต่ระดับล่าง
ย้ำว่าการใช้จ่ายงบกลางหลังจากนี้จะต้องรับฟังความเห็นของประชาชนว่าต้องการอะไร ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) พิจารณา ห่วงอย่างเดียวคืออย่ามีใครไปก้าวก่ายหรือบังคับ ระดับล่าง เพราะส่วนนี้มีสำนักงบประมาณคอยตรวจสอบอยู่แล้ว ก่อนจะเสนอให้ คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณในการใช้จ่าย
ถ้ามีการทุจริตจะมีการลงโทษทุกคนที่เกี่ยวข้องโดยไม่ละเว้น การจัดสรรงบประมาณไม่ใช่เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เพื่อคนไทยทุกคน ยืนยันว่าจะดูแลคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม