ธปท.จ่องัดมาตรการ 'คุมบาท' เรียก 'เทรดเดอร์' ถกปัญหาค่าเงินแข็ง หวังสกัดต่างชาติเก็งกำไร
“แบงก์ชาติ” เรียกเทรดเดอร์ถกสถานการณ์ค่าเงิน เล็งงัดมาตรการคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายใช้ หากเงินบาทแข็งค่าเร็ว ห่วงทุนนอกไหลเข้ามาพักเงินระยะสั้น “กสิกร” เชื่อไม่ถึงขั้นเก็บภาษีลงทุนบอนด์ แต่อาจเพิ่มความยุ่งยากในการเข้ามาลงทุน
การแข็งค่าของเงินบาทเริ่มกลับมาเป็นประเด็นที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ให้ความกังวลอีกครั้ง เพราะนับตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค.2563 จนถึงปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าแล้วราว 2.81% ถือเป็นการแข็งค่าอันดับสองในภูมิภาค รองจากเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย และการแข็งค่าของเงินบาทในรอบนี้ ยังไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง
ส่วนกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย พบว่า เริ่มไหลเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา สะท้อนผ่านยอดซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ไทย ที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาเป็นผู้ซื้อสุทธิ โดยตั้งแต่วันที่ 1-5 มิ.ย.ที่ผ่านมา นักลงทุนกลุ่มนี้ซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยรวม 6,065 ล้านบาท และซื้อสุทธิในตลาดบอนด์ไทยอีก 14,756 ล้านบาท รวมทั้ง 2 ตลาดซื้อสุทธิจำนวน 20,821 ล้านบาท
มีรายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา ธปท. ได้เชิญผู้บริหารระดับสูงฝั่ง “ห้องค้าเงิน” หรือ “เทรดเดอร์” ของธนาคารพาณิชย์ที่ดูแลตลาดเงินเข้าหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นที่มีต่อภาวะตลาดเงินในปัจจุบัน หลังจากที่ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
**เล็งงัดมาตรการคุมทุนเคลื่อนย้าย
การหารือดังกล่าว ธปท. ยังได้สอบถามถึงผลดีและผลเสียในด้านต่างๆ หากจะมีการนำมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย(แคปปิทัลคอนโทล) มาใช้ เช่น การเรียกเก็บภาษีจากผู้ลงทุนที่เข้ามาลงทุนในบอนด์ระยะสั้น หรือ การเก็บดอกเบี้ยเพิ่มเติมกรณีที่มาแลกเงินบาท
ขณะเดียวกันยังพูดคุยถึงผลดีและผลเสีย หาก ธปท. จะลดการออกบอนด์ระยะสั้นลง รวมทั้งยังหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเงินบาทที่ผันผวนจากแรงซื้อขายของผู้ค้าทองคำ
รายงานข่าวระบุด้วยว่า สาเหตุที่ ธปท. เข้ามาติดตามการเคลื่อนไหวในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดในช่วงนี้เนื่องจากเริ่มเห็นเงินทุนเคลื่อนย้ายของต่างชาติมาในลักษณะเก็งกำไรมากขึ้น ทำให้เงินบาทแข็งค่าสร้างความไม่สบายใจให้กับ ธปท. เนื่องจากเงินบาทที่แข็งค่าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่อ่อนแอลง และ ธปท. กังวลว่า การแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยด้วย
**ชี้บาทแข็งจากดอลลาร์อ่อน
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักวิเคราะห์ตลาดการเงินและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าในรอบนี้ สาเหตุหลักไม่น่าจะเกิดจากเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามา เพราะเงินที่ไหลเข้ายังถือว่าน้อยมาก อีกทั้งยังเพิ่งเป็นการเข้ามาได้เพียงไม่กี่วันเท่านั้น โดยสาเหตุที่แท้จริงน่าจะเกิดจากการที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง
“ที่เราควรต้องกังวล คือ แนวโน้มเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง เพราะหลายปัจจัยเอื้อให้เกิดภาวะนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมืองในสหรัฐ นโยบายการเงินที่เอื้อให้เงินดอลลาร์อ่อนลง และเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกจากสหรัฐ ทั้งหมดนี้เป็นตัวเร่งให้เกิดการขายเงินดอลลาร์ออกมา ซึ่งถ้าดูดัชนีเงินดอลลาร์ตอนนี้อยู่ที่ระดับ 97 จุด จากช่วงพีคๆ ที่อยู่ระดับ 103 จุด และในอดีตเงินดอลลาร์ก็เคยลงไปอยู่ที่ระดับ 80 จุดต้นๆ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่เงินดอลลาร์อาจจะอ่อนลงต่อเนื่อง กดดันให้เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น”
ส่วนกรณีที่ ธปท. ได้เรียกเทรดเดอร์เข้าหารือเพื่อพูดคุยถึงสถานการณ์ค่าเงินบาท รวมทั้งสอบถามถึงการนำมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายมาใช้นั้น โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะอย่างที่บอกสาเหตุที่แท้จริงของการแข็งค่าของเงินบาท คือ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์
**ฟันธงบาทแข็งทะลุ31ต่อดอลลาร์
นายจิติพล กล่าวว่า หาก ธปท. ต้องการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทจริง อยากเสนอให้ใช้วิธีเดียวกับธนาคารกลางสิงคโปร์ซึ่งเขาจะมีประมาณการในแต่ละปีว่า ปีนั้นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะเป็นเท่าไรแล้วทิศทางค่าเงินจะเป็นอย่างไร ช่วยให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินได้ ส่วนของไทยแม้จะมีประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดแต่ไม่มีประมาณการเรื่องของค่าเงิน ทำให้การคาดการณ์ของผู้ประกอบการเป็นไปได้ยาก
ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทระยะข้างหน้า เชื่อว่ามีโอกาสสูงที่เงินบาทจะแข็งค่าต่อเนื่องจนทะลุกระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์ เพียงแต่จะไม่แข็งค่าลงไปเท่ากับช่วงปลายปี 2562 ที่เงินบาทเคลื่อนไหวในระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์
**คาดธปท.จ่องัดใช้มาตรการเร็วๆนี้
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาธปท.ได้เรียกฝ่ายตลาดเงิน และเทรดเดอร์ของธนาคารเข้าไปพบจริง เพื่อหารือร่วมกันเกี่ยวกับการแข็งค่าของค่าเงินบาท โดยหวังลดแรงกดดันของค่าเงินบาทและดูในส่วนที่มีผลกระทบค่าเงินเช่นธุรกรรมการซื้อขายทองคำ จึงเชื่อว่าระยะข้างหน้า ธปท.อาจออกมาตราการเพื่อดูแลเงินบาทเพิ่มเติม แต่คงไม่ใช่มาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายเหมือนในอดีต ที่มีการเก็บภาษีเงินไหลเข้ามาลงทุน
สำหรับมาตรการที่คาดว่า ธปท. จะดำเนินการ น่าจะเป็นลักษณะเพิ่มความยุ่งยากให้กับนักลงทุนที่หวังเข้ามาพักเงินระยะสั้น เช่นขอดูเอกสารเพิ่มเติมในธุรกรรมการซื้อขายสินทรัพย์บางประเภท เพื่อลดความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมลง การทำแบบนี้เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณให้นักลงทุนที่หวังเก็งกำไรค่าเงินบาทได้รับทราบว่า ธปท. จับตาดูอยู่ ซึ่งจะช่วยลดการเก็งกำไรลงได้
“คิดว่าคงไม่มีการเก็บภาษีเงินไหลเข้าเหมือนในอดีต เพราะเราเคยทำในอดีตแล้วเกิดผลกระทบมากมาย แบงก์ชาติคงมีบทเรียนในส่วนนี้แล้ว ดังนั้นมาตรการถ้าจะออกในคราวนี้ ก็คงเป็นลักษณะที่ลดความคล่องตัวในการทำธุรกรรม เพื่อแสดงให้นักลงทุนเห็นว่าแบงก์ชาติตรวจสอบอยู่"
**จับตาธปท.ลดออกบอนด์สั้น
อย่างไรก็ตาม หากระยะข้างหน้ายังพบการเข้ามาเก็งกำไรในค่าเงินต่อเนื่อง ก็มีความเป็นไปได้ที่ ธปท.จะลดการออกพันธบัตรระยะสั้นลง เพื่อลดช่องทางให้นักลงทุนต่างชาตินำเงินมากพักเอาไว้ ซึ่งก็คงช่วยลดแรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาทลงได้บ้าง
นายกอบสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า การแข็งค่าของค่าเงินบาท เชื่อว่าไม่ได้มาจากทองคำ หรือแรงเก็งกำไรระยะสั้นอย่างเดียว ดังนั้นหากต้องการแก้ไขการแข็งค่าของค่าเงินบาท ต้องมองไปถึงเงินทุนไหลเข้า ที่ถูกดึงกลับจาก FIF หรือบัญชีเงินฝากในต่างประเทศ ที่ไหลกลับมาในภาวะที่ธุรกิจขนาดสภาพคล่องด้วย
"เราอาจต้องพิจารณาในหลายมิติมากขึ้น เพื่อหาแนวทางการป้องกันบาทแข็งค่า หรือหามาตราการรองรับกลุ่มนี้ เพื่อหนุนไม่ให้นำเงินกลับมาในประเทศมากนัก"
**‘อีไอซี’คาดจีดีพีปีนี้ติดลบ7.3%
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic intelligence center หรือ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า อีไอซี ได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เป็นหดตัว 7.3% จากเดิมที่คาดติดลบเพียง 5.6% หลังได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 มากกว่าคาด ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงทำให้ภาคการท่องเที่ยวหดตัว 75% หรือมีนักท่องเที่ยวเพียงระดับ 9.8 ล้านคน จากปีก่อนหน้าที่มีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน ขณะที่คาดมูลค่าส่งออกติดลบสูงถึง 10.4%
ขณะที่แนวโน้มจีดีพีไตรมาสสอง คาดติดลบที่ 12% และน่าจะเป็นจุดที่เศรษฐกิจต่ำสุด โดยคาดเศรษฐกิจจะติดลบต่อเนื่องในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 แต่จะทยอยติดลบน้อยลง ส่วนประเด็นที่ต้องจับตา คือความเปราะบางของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ที่อาจเห็นแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มมากขึ้น สอดคล้องว่างงานที่คาดมีโอกาสเห็นเพิ่มเป็น 3-5 ล้านคน
สำหรับนโยบายการเงิน คาดว่ากนง.น่าจะคงดอกเบี้ยที่ 0.50% ต่อไปตลอดทั้งปีนี้ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนคาดว่ามีแนวโน้มอ่อนค่าลง หลังคลายล็อกดาวน์มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจเริ่มกลับมา ทำให้คาดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุลได้ 2.4% ปีนี้ ทำให้ประเทศไทยอาจไม่ได้เป็นเซฟเฮฟเว่นในสายตานักลงทุน ซึ่งหนุนให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าได้ในระยะข้างหน้า หากเทียบกับระดับปัจจุบัน ซึ่งทั้งปี คาดเงินบาทอยู่ที่ 31.50-32.00 บาท