บจ.พึ่งหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ยอม ‘จ่ายแพง’ ตุนสภาพคล่อง
การวางแผนดำเนินธุรกิจต่างมองไปยังครึ่งปีหลังว่าจะอยู่ได้อย่างไร เพื่อรอให้สถานการณ์ไม่กลับเข้าสู่การระบาดอีกระรอกหรือเวฟ 2 และกำลังซื้อของผู้บริโภคกลับมาอยู่ในภาวะปกติก่อนจะมีการระบาดไวรัสโควิด -19 เกิดขึ้น
กุญแจสำคัญจึงอยู่ที่สายป่าน หรือสภาพคล่องที่มีเพียงพอให้ธุรกิจยังเดินได้ต่อไม่ล้มหายตายจากไป ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่นาทีนี้ไม่ว่าจะเป็นบิ๊กคอร์ปอเรท หรือธุรกิจขนาดกลางต่างใช้เครื่องมือทางการเงินและตลาดทุนกันทุกช่องทางเพื่อสะสม ‘เงินสด’ ไว้ในมือเอาไว้ให้มากที่สุด หลังจากตัดรายจ่าย ลดต้นทุน ระงับแผนลงทุนเลื่อนออกไปกันเป็นจำนวนมาก
ฟากของบริษัทจดทะเบียนที่มีความได้เปรียบในเครื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากกว่ายังต้องแย่งชิงเม็ดเงินในระบบกันเองไม่น้อย ยิ่งในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์แต่สภาพคล่องกลับล้นระบบจากการอัดฉีดเม็ดเงินของภาครัฐผ่านมาตรการต่างๆ ซึ่งเงินเหล่านี้ล้วนแต่ต้องการแสวงหาผลตอบแทนทำให้กลายเป็นตลาดของผู้ลงทุน จนต้องมีการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (Perpetual Bond) เรียกกันว่า หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์
หุ้นกู้ประเภทนี้เหมาะสมกับการล็อกเงินทุนไว้ในระยะยาวมาก จนทำให้บริษัทในฐานะผู้ออกตราสารมั่นใจว่ามีแหล่งเงินทุนที่ต้นทุนคงที่ ด้วยคุณสมบัติที่ไม่มีอายุการไถ่ถอนยกเว้นบริษัทจะเลิกกิจการ หรือหากจะไถ่ถอนจริงบริษัทต้องระบุไว้ว่าขอสิทธิไถ่ถอนเอง (Call Put) ซึ่งต้องแลกกับการให้อัตราดอกเบี้ยที่ต้องสูงมากกว่าในท้องตลาดเพื่อจูงใจให้มีผู้ลงทุน
นอกจากนี้ยังมีจุดที่น่าสนใจคือผู้ออกสามารถเลื่อนการชำระดอกเบี้ยได้โดยไม่มีเงื่อนไข แม้ว่าขณะนั้นบริษัทที่ออกหุ้นกู้จะมีกำไรก็ตาม ซึ่งในกรณีนี้หากเกิดขึ้นย่อมมีผลกระทบทางลบต่อชื่อเสียงบริษัท และเครดิตเรตติ้งทันที
รวมทั้งคำว่าการเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ทำให้ผู้ถือหุ้นกู้มีความเสี่ยงกรณีบริษัทล้มละลายต้องเข้าฟื้นฟูกิจการตามกระบวนการของศาล เพราะตามลำดับขั้นการได้หนี้คืนแล้วจะต้องรอต่อจากเจ้าหนี้ที่มีหลักประกัน และเจ้าหนี้ไม่ด้อยสิทธิ
ดังนั้นจึงทำให้ใครที่อยากจะลงทุนในหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์แค่มองว่าให้ผลตอบแทนคงไม่เพียงพอ เพราะต้องเป็นผู้ที่มีเงินลงทุนในพอร์ตมากพอจำนวนหนึ่งที่จะรับความเสี่ยงที่สูงจนสามารถถือลงทุนได้ยาวมากจริงๆ และไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินในระยะสั้นหรือระยะกลาง
ดังนั้นการขายหุ้นกู้ประเภทนี้จึงไม่ง่ายนัก ท่ามกลางผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีอยู่จำนวนมาก และยังมีสภาพคล่องสูงกว่าสามารถเข้าออกได้รวดเร็วกว่าด้วย แต่ด้วยความจำเป็นด้านเงินสดในมือ ทำให้ปี 2563 มีบริษัทจดทะเบียนจำยอมออกหุ้นกู้ประเภทนี้ออกมา
บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ประกาศขออนุมัติผู้ถือหุ้นในการออกหุ้นกู้มูลค่า 25,000 ล้านบาท จากเดิมที่ขอวงเงินอยู่แล้ว 95,000 ล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าวจะเป็นการเสนอขายหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ที่ยังไม่ระบุจำนวนที่แน่นอน เนื่องจากบริษัทมีการออกหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิมและออกใบสำคัญแสดงสิทธิ (วอร์แรนต์) ไว้รองรับไว้แล้ว
ตามมาด้วย บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI ที่ยอมออกหุ้นกู้ประเภทนี้มูลค่า 3,000 ล้านบาท กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้สูงถึง 8.5 % ต่อปีในช่วง 5 ปีแรก ซึ่งจะจ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือนให้กับนักลงทุนรายย่อยด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 100,000 บาท และจะเริ่มจองซื้อ 22 -25 มิ.ย. นี้
ก่อนหน้านี้ SIRI จะมีการเพิ่มทุน 4,600 ล้านหุ้น เพื่อรองรับวอร์แรนต์ และยังเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนประเภทเฉพาะเจาะจง ( PP) และเพิ่มวงเงินออกหุ้นกู้อีก 10,000 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการช่วยเติมสภาพคล่องให้กับบริษัทได้ทำตามแผน 3 ปียอดขาย 1.2 แสนล้านบาท และยังลดความตรึงตัวของการไล่ชำระหนี้ในช่วง 1 ปี เกือบ 20,000 ล้านบาท ทั้งหุ้นกู้ที่ครบกำหนดและเงินกู้จากสถาบันการเงิน
อย่างไรก็ตามในส่วนของต้นทุนการเงินเพิ่มสูงถือว่าเป็นจุดที่น่าห่วง ต้นทุนการเงิน (cost of debt) ของ SIRI อยู่ที่ 3.6 % และมีอัตราส่วนหนี้ต่อทุน (D/E ) 2 เท่า หากไม่มีการไถ่ถอนหุ้นกู้ชุดนี้เลยจะมีผลต่อต้นทุนหนี้ที่สูงขึ้น ยกเว้นหากบริษัทมีการไถ่ถอนหุ้นกู้ดังกล่าวภายใน 5 ปี อาจจะลดภาระตรงนี้ไปได้เพราะช่วงดังกล่าวตามเกณฑ์บัญชีไม่นับเป็นหนี้สินให้นับเป็นทุน จึงไม่แปลกที่หลายบริษัทซื้อเวลายอมจ่ายต้นทุนที่สูงแลกกับเงินสดในมือให้อุ่นใจ