สสว.ชงงบฟื้นฟู 5 หมื่นล้าน อุ้ม 'เอสเอ็มอี' พ้นวิกฤติโควิด

สสว.ชงงบฟื้นฟู 5 หมื่นล้าน  อุ้ม 'เอสเอ็มอี' พ้นวิกฤติโควิด

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีมีปัญหาขาดรายได้ที่ต่อเนื่อง ซึ่งบางรายต้องหยุดการดำเนินธุรกิจชั่วคราว ทำให้ สสว.ต้องหามาตรการช่วยเอสเอ็มอี

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาย่อม (สสว.) เสนอโครงการภายใต้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมตามบัญชีท้าย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ที่กันไว้สำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท

โดยสถานะโครงการที่เผยแพร่ในระบบ “ThaiMe” ในเว็บไซต์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า สสว.เสนอ 3 โครงการ ประกอบด้วย

1.โครงการพลิกฟื้นธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอลให้กลับมาทำธุรกิจได้ ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี (เริ่มเดือน ส.ค.2563) วงเงิน 100,000 ล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอี 110,000 ราย เพราะเอสเอ็มอีมีปัญหาเอ็นพีแอล รวมทั้งมีสถานะการเป็นผู้ที่มีหนี้ค้างชำระในรายงานของเครดิตบูโร ซึ่งเป็นสถานะที่เป็นลบส่งผลให้สถาบันการเงินไม่ให้สินเชื่อเพิ่ม และท้ายที่สุดธุรกิจที่ยังมีศักยภาพต้องล้มตายไป จึงต้องเร่งช่วยเหลือเอสเอ็มอีเป็นเอ็นพีแอลฟื้นธุรกิจได้

2.โครงการฟื้นฟูศักยภาพธุรกิจเอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี (เริ่มเดือน ส.ค.2563) วงเงิน 50,000 ล้านบาท ช่วยเหลือเอสเอ็มอี 55,000 ราย

โดยให้เอสเอ็มอีหรือกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกู้ยืมเพื่อก่อตั้ง ปรับปรุงและพัฒนากิจการของวิสาหกิจหรือกลุ่มวิสาหกิจให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นเงินช่วยเหลืออุดหนุนการดำเนินการ การร่วมกิจการ ร่วมทุน หรือลงทุนใดที่เกี่ยวกับการก่อตั้ง การขยายกิจการ การวิจัย พัฒนา และการส่งเสริมเอสเอ็มอีให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

159196595664

3.โครงการพัฒนา Ecosystem เพื่อ Digital Transformation ของเอสเอ็มอีไทย วงเงิน 750 ล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอี 63,000 ราย โดยจะพัฒนาแพลตฟอร์มกลางและทำความร่วมมือกับผู้ผลิตรายใหญ่เพื่อการรวมค่าสั่งซื้อและการจัดซื้อของเอสเอ็มอี และต่อรองราคากับผู้ผลิตและโลจิสติกส์รายใหญ่

แหล่งข่าวจาก สสว. กล่าวว่า สสว.ได้ถอนโครงการพลิกฟื้นธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอลให้กลับมาทำธุรกิจได้วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดยจะเน้นผลักดันโครงการฟื้นฟูศักยภาพเอสเอ็มอี 50,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้

ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเอสเอ็มอีที่ขนาดเล็กมาก หรือไมโครเอสเอ็มอี ที่จะเป็นหากเร่แผงลอยร้านค้าขนาดเล็กในชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศให้ผ่านวิกฤติโควิด-19 ได้ เนื่องจากเห็นว่าเอสเอ็มอีกลุ่มอื่นพอที่จะเข้าถึงสินเชื่อได้และมีมาตรการอื่นรองรับแล้ว

ส่วนไมโครเอสเอ็มอีจำนวนมากเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือ จึงควรเข้ามุ่งเน้นกลุ่มนี้เป็นพิเศษ โดยกำลังกำหนดรายละเอียดให้ไมโครเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากที่สุด และหามาตรการอื่นมาช่วยเพิ่มเติม เช่น การเสริมทักษะความรู้ด้านการทำบัญชี การค้าออนไลน์ และการบริหารกิจการ

เกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เห็นด้วยที่ สสว. ของบประมาณจากภาครัฐ ในการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางการเงินได้ เนื่องจากในขณะนี้เป็นภาวะไม่ปกติจากโควิด-19 กระทบเอสเอ็มอีรุนแรงมาก

ดังนั้นหากจะให้เอสเอ็มอีไปขอสินเชื่อธนาคารต่างๆเหมือนในภาวะปกติเป็นไปได้ยาก เพราะธนาคารมีข้อกำหนดมากมายที่ต้องป้องกันไม่ได้เกิดหนี้เอ็นพีแอลตามมาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด ทำให้เอสเอ็มอีที่บอบช้ำอยู่แล้วไม่สามารถเข้าถึงได้

ทั้งนี้ สสว.ควรมีกองทุนขึ้นมาเองเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงแหล่งสินเชื่อโดยเฉพาะ ซึ่งที่ผ่านมากองทุนของ สสว. มีหลักพันล้านนับว่าน้อยมากไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือ ซึ่งการที่ สสว. ของบ 5 หมื่นล้านจึงเป็นเรื่องที่ดี ในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีกลุ่มนี้ได้ตรงจุด อย่างไรก็ตามมองว่าจำนวนเงินที่ขอไปนี้ยังไม่เพียงพอ กองทุนนี้น่าจะมีถึง 1 แสนล้านบาท จึงจะทั่วถึง เพราะเอสเอ็มอีรายย่อยทั้งประเทศมีกว่า 2 ล้านราย

โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า สสว.จำเป็นที่ต้องเข้ามารีบเข้ามาอัดฉีดเอสเอ็มอีเร่งด่วน เพื่อให้รอดวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะโครงการพลิกฟื้นธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอล  

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานข้อมูลปี 2562 ธนาคารพาณิชย์มีเอ็นพีแอล 3.2% จำนวน เกือบ 5 แสนล้านบาท และหนี้ที่ใกล้เป็นเอ็นพีแอล 8% จำนวน 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งโควิดจะทำให้เป็นเอ็นพีแอลมากขึ้นจึงต้องช่วยเร่งด่วนทั้งผู้เป็นเอ็นพีแอลปิดกิจการไปแล้วแต่อยากกลับมาทำธุรกิจต่อ และรายที่ใกล้เป็นเอ็นพีแอล

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเข้าหารือ ธปท.เพื่อให้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การเป็นเอ็นพีแอลชั่วคราวระยะสั้น เพื่อลดจำนวนผู้ประกอบการที่เป็นเอ็นพีแอลไม่ให้เพิ่มขึ้น เพราะหากธุรกิจใดเป็นเอ็นพีแอลแล้วจะเป็นการตัดอนาคตทางธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงควรมีมาตรการรัฐช่วยให้เอสเอ็มอีไม่ให้เป็นเอ็นพีแอลและกลับมาทำธุรกิจได้

“รัฐบาลควรรักษาผู้ประกอบการกลุ่มนี้ไว้ เพราะหากปล่อยให้ตายไปจะสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่มีประสบการณ์เข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจต่อได้ยาก เพราะการปั้นผู้ประกอบการต้องใช้เวลาและมีสัดส่วนที่ประสบความสำเร็จน้อยมาก”

นอกจากนี้รัฐบาลควรมีกองทุนช่วยไมโครเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ มีขนาดกองทุน 50,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มนี้มี 2.6 ล้านราย คงทยอยช่วยผู้เดือนร้อนมากที่สุดก่อน โดยหลักเกณฑ์ต้องผ่อนปรนมากที่สุดเพื่อให้ไมโครเอสเอ็มอีเข้าถึงได้

และควรใช้แนวทางแบบกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ หรือกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีอัตราดอกเบี้ย 1% ระยะเวลาผ่อนชำระ 5-7 ปี และรวมหนี้หลายรายได้ เพื่อให้ไมโครเอสเอ็มอีเหล่านี้มีกำลังส่งได้และไม่เกิดหนี้สูญ