สถาบันอาหารคาดส่งออกหด5% พิษภัยแล้ง-ศก.โลกฉุด
สถานการณ์หลังการระบาดของโควิด-19 เป็นอีกความท้าทายที่มีขั้นของความยากลำบากที่มากกว่าช่วงที่โรคโควิดกำลังแพร่ระบาดด้วยซ้ำ เพราะหากโควิดสร้างความเปลี่ยนแปลง โลกหลังโควิดย่อมต้องเปลี่ยนแปลงด้วย ซึ่งอุตสาหกรรมอาหารก็เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ
สถานการณ์หลังการระบาดของโควิด-19 เป็นอีกความท้าทายที่มีขั้นของความยากลำบากที่มากกว่าช่วงที่โรคโควิดกำลังแพร่ระบาดด้วยซ้ำ เพราะหากโควิดสร้างความเปลี่ยนแปลง โลกหลังโควิดย่อมต้องเปลี่ยนแปลงด้วย ซึ่งอุตสาหกรรมอาหารก็เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ
อนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในช่วงก่อนสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 สถาบันฯคาดการณ์ว่าการส่งออกอาหารจะอยู่ในช่วง -0.3% ถึง +3.5% แต่ภายหลังการระบาดของ โควิด-19 ทำให้ต้องปรับเป้าหมาย โดยภาพรวมทั้งปี 2563 คาดว่าภาคการผลิตคาดว่าจะหดตัวลง 7% ส่วนการส่งออกคาดว่าจะลดลง 5% มีมูลค่าส่งออก 965,000 ล้านบาท หรือลดลงจาก 1,016,926 ล้านบาทในปี 2562
ทั้งนี้ จะมีเพียงบางสาขาอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากการส่งออก แต่สินค้าส่วนใหญ่ยังคงหดตัวรุนแรง โดยสาขาอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์ เช่น อาหารทะเลกระป๋อง ปลาซาร์ดีนกระป๋อง อาหารแปรรูปพร้อมรับประทาน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รวมทั้งกลุ่มเนื้อไก่ปรุงสุก ซึ่งจัดเป็นกลุ่มสินค้าอาหารที่จำเป็นต่อการครองชีพของผู้คนในห้วงของการกักตัวอยู่ที่บ้าน ในขณะที่สินค้าส่วนใหญ่ยังคงหดตัวรุนแรงเพราะการปิดเมืองทำให้เส้นทางขนส่งถูกปิดไปหรือเป็นไปอย่างล่าช้า รวมถึงการที่โรงงานแปรรูปลดกำลังการผลิตหรือหยุดผลิตชั่วคราว แรงงานต่างชาติกลับประเทศ
ส่วนด้านการตลาดพบว่ายอดขายสินค้าในกลุ่มที่ประสบปัญหาช่องทางการจำหน่ายที่หายไปจากโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงแรม (Hotel) ร้านอาหาร (Restaurant) กาแฟและธุรกิจจัดเลี้ยง (Café and Catering) หรือ HORECA มีแนวโน้มลดลง แม้หลายๆ ประเทศคู่ค้าจะเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ แต่ธุรกิจดังกล่าวก็น่าจะเริ่มเปิดดำเนินงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นไม่มากนัก
สำหรับ การส่งออกได้รับปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของเงินบาท จึงทำให้ลดลงน้อยกว่าภาคการผลิต โดยที่ค่าเงินบาทได้อ่อนค่าลงจาก 30 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงปลายปีก่อน มาอยู่ที่ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ หรือราว 8%
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันค่าเงินบาทกลับมาอยู่ในทิศทางแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบและกดดันการส่งออกอาหารของไทยให้มีแนวโน้มลดต่ำลงกว่าที่คาดการณ์ได้ ซึ่งการแข็งค่าขึ้นทุกๆ 1 บาท จะทำให้มูลค่าส่งออกลดลงประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
“สถาบันอาหารคาดว่าภาวการณ์หดตัวจากโควิด-19 จะมีจุดต่ำสุดในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ แล้วจะค่อยๆ ฟื้นตัวในไตรมาส 3 และ 4 แต่อัตราการเติบโตยังอยู่ในแดนลบ เพราะยังถูกกดดันจากภาวการณ์ชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้คาดว่าการส่งออกอาหารในปีนี้จะลดลงประมาณ 5%”
ด้าน สถานการณ์ภัยแล้ง ก็ส่งผลทำให้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรอาหารลดลง กระทบต่อวัตถุดิบที่เข้าสู่โรงงานแปรรูปทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพของวัตถุดิบ สถานการณ์การหดตัวจะมีจุดต่ำสุดในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ แล้วค่อยๆ ฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 และ 4 แต่อัตราการเติบโตยังคงอยู่ในแดนลบ เพราะยังถูกกดดันจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่โดยภาพรวมสถานการณ์ภัยแล้งส่งผลทำให้ผลผลิตลดลง และไทยเสียโอกาสทางการค้าคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านบาท
ในส่วนของการปรับตัวของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ควรจะเร่งดำเนินการใน 6 ด้าน ได้แก่ 1. นำธุรกิจเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ 2. จัดทำมาตรการควบคุมด้านสุขลักษณะที่ดีในระดับแรงงาน และห่วงโซ่การผลิต 3. จัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ 4. พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตามความพร้อมของเทคโนโลยี เช่น สินค้าที่สะดวกพร้อมรับประทาน อาหารพร้อมปรุง หรือสินค้าแนวดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน 5. บริหารจัดการเครือข่ายโดยมุ่งเน้นใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นให้มากขึ้น ลดการพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ และ6.เข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว