ผ่านฉลุย! 250 เสียงไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ ปี 63 ฝ่ายค้านงดออกเสียง
ผ่านฉลุย! 250 เสียงไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ ปี 63 วงเงินกว่า 8.8 หมื่นล้านบาท สู้โควิด-19 ฝ่ายค้านงดออกเสียง
เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.63 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติ เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... จำนวน 88,452,597,900 บาท จากนั้นจะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป สำหรับการอภิปรายตลอด 10 ชั่วโมงนั้นส.ส.ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตุว่ารัฐบาลสามารถโอนงบประมาณที่มีความไม่จำเป็นได้มากกว่านี้ โดยงบประมาณเกี่ยวกับการซื้ออาวุธและการจัดอบรมสัมมนา
น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การเรียกขอดูข้อมูลจากกระทรวงกลาโหมที่อยู่ภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรี เป็นไปด้วยความยากลำบาก มีเอกสารลับมาให้ดูชั่วคราวแล้วมีทหารมาเก็บเอกสารคืน แสดงให้เห็นว่ากระทรวงนี้เป็นเหมือนหลุมดำและเปิดเผยข้อมูลไม่ได้ ทั้งที่เคยมีการมอบรางวัลให้กองทัพเป็นหน่วยงานที่โปร่งใสที่สุด ตนขอให้ปรับเปลี่ยนกองทัพให้ยึดโยงกับประโยชน์ของประชาชน และเปิดเผยข้อมูลให้โปร่งใสที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณอีกหลายส่วนที่ยังโอนได้ แต่โอนมาน้อย เช่น งบประมาณ MRO ของกองทัพเรือ ทั้งที่ไม่ได้ลงนามจัดซื้อจัดจ้างได้ทันแล้ว หรืองบประมาณการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นซึ่งจัดไม่ได้ในช่วงเวลานี้ และถ้าจัดก็อาจจะเป็นเวทีปาหี่ที่ไม่มีประชาชนมาร่วมแสดงความคิดเห็นได้จริง แต่ขณะเดียวกันในช่วงภัยแล้ง กลับมีการโอนงบประมาณในการจัดหาน้ำภาคการเกษตรคืนมากว่า 2,000 ล้านบาท แต่จากการตรวจสอบพบว่ายังมีโครงการน้ำอีกกว่าหมื่นโครงการที่สุดท้ายต้องมาเบิกงบประมาณแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นอีกรอบกว่า 4 แสนล้านบาท ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องโอนงบกลับมาเพื่อขอดึงงบประมาณอีก แล้วจะใช้เวลาอีกกี่เดือนถึงจะแก้ปัญหาได้แท้จริง ต้องรอให้เขาทุกข์และผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปก่อนหรือไม่
“แสดงให้เห็นว่าการโอนงบประมาณครั้งนี้ไม่ได้เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเองที่เป็นประธานในการแก้ปัญหาน้ำแล้งหลายคณะ เวลาไปลงพื้นที่แต่ละครั้งก็มีเพียงแค่ ส.ส. ภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน แต่มีการกีดกันไม่ให้ประชาชนหรือภาคเกษตรกรรม เข้าร่วมรับฟังความเห็น ในทางตรงกันข้ามงบประมาณของนายทุนและงบประมาณกองทัพกลับไม่ถูกตัดเลย อาจเป็นเพราะพวกเขามีเบอร์โทรหรือไลน์มาล็อบบี้นายกรัฐมนตรีเพื่อกันการตัดงบได้ แต่ประชาชนไม่มี งบที่ถึงประชาชนโดยตรง และเกิดประโยชน์กับประชาชนทันทีจึงถูกตัด"
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล กรรมาธิการวิสามัญสัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่เหมาะสมเพราะทำให้ประชาชนและหน่วยงานราชการที่ได้รับงบประมาณไปแล้วถูกตัดมา ทั้งที่จุดประสงค์ในการโอนงบประมาณเหล่านี้ต้องการใช้เพื่อแก้ปัญหาโควิด เมื่อเทียบกับงบประมาณที่กู้เงินมาก็เพียงพอแล้ว และเงินโอนนี้ก็เพียง 5% ไม่ควรโอนเงินกลับมาเพราะตอนนี้เหมือนการสร้างหนี้สินให้กับประเทศ ซึ่งไม่สนใจการสร้างหนี้ให้กับประเทศ
นอกจากนี้ ในกฎหมายยังไม่อนุญาตให้กรรมาธิการปรับลดหรือเพิ่มงบประมาณดังกล่าว ทำให้สภาเหมือนตรายาง ทั้งที่หน่วยงานสามารถใช้งบประมาณของตัวเองใช้ในกรณีฉุกเฉินช่วยเหลือประชาชน ไม่จำเป็นต้องโอนมาเก็บไว้ที่งบกลาง ขณะเดียวกันตนเห็นว่ามหาวิทยาลัยและโรงเรียน กว่าจะได้งบประมาณมาเป็นเรื่องยาก และจำเป็นต่อการศึกษาของนักเรียน อีกทั้งยังไม่สามารถคืนในงบประมาณ 2564 ได้เพราะจัดทำไปแล้ว แล้วกว่าที่เด็กนักเรียนจะได้รับงบประมาณเหล่านี้คืน ต้องไปคืนที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ตรงกันข้ามกระทรวงกลาโหมบอกว่าโอนงบประมาณกลับมาเยอะ แต่เอกสารของกระทรวงที่กรรมาธิการกำลังพิจารณากลับถูกทหารมาเก็บกลับคืนไปทั้งที่ยังพิจารณาไม่จบ ตนจึงถามว่าใช้อำนาจหน้าที่ใดในการละเมิดการทำงานของกรรมาธิการ
น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายเพิ่มเติมว่า การนำเงินงบประมาณไปใช้ให้กับประชาชนโดยตรง โอนไปสู่งบกลางและให้อำนาจกับนายกรัฐมนตรีเต็มกับรัฐมนตรีไปใช้โดยไม่ต้องตรวจสอบความโปร่งใสจะถูกนำมาใช้เพื่อการหาเสียงด้วยหรือไม่ หลายโครงการเป็นโครงการจำเป็นแต่ถูกตัดออกมาโดยไม่มีประสิทธิภาพและไม่สอดคล้องกับความต้องการ ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนหลายแห่งรองบประมาณตรงนี้มาทำถนนเข้าโรงเรียนหลายปี แต่กลับถูกตัดงบ เงินเดือนของครูพี่เลี้ยงก็ถูกตัดออกแล้วต้องไปรับเงินกับประกันสังคมแทน นอกจากนี้ยังมีการตัดงบทางลาดผู้สูงอายุ ที่ตั้งไว้เพียง 7 แสนบาท ซึ่งผู้สูงอายุเหล่านี้อาจเสียชีวิตจากอุบัติเหตุหรือการบริหารที่ล้มเหลวมากกว่าโควิด ขณะเดียวกันงบประมาณของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ ก็ถูกตัดทั้งที่เป็นที่พึ่งของประชาชนจำนวนมาก แทนที่จะทำให้โรงพยาบาลเข้มแข็งยกระดับความมั่นใจในด้านสาธารณสุข
ด้านนายวราเทพ รัตนากร กรรมาธิการวิสามัญสัดส่วนของรัฐบาล ชี้แจงว่า กรณีที่มีทหารมาเก็บเอกสารของกระทรวงกลาโหม ไม่ใช่เป็นการบังคับ แต่เห็นว่ากรรมาธิการดูเอกสารเหล่านั้นจนจบแล้วจึงขอเก็บกลับไป ส่วนการตัดโอนงบประมาณทั้งหมดก็เน้นไปที่งบประมาณการเดินทางไปต่างประเทศ และไม่ได้ตัดโอนงบประมาณทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับประชาชน แต่ตัดเพียงแค่บางส่วนที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทัน ทั้งนี้หากงบประมาณที่ถูกโอนกลับมาแล้วกระทบกับโครงการที่จะแก้ปัญหาใหักับประชาชน ให้ร้องเรียนมายังฝ่ายบริหารเพื่อจัดหางบประมาณส่วนอื่นมาทดแทน
นอกจากนี้สมาชิกยังแสดงความกังวลถึงการโอนงบบางหน่วยงานอาทิ สถาบันพระบรมราชชนก สำนักงานสมเด็จพระสังฆราช โรงพยาบาล โรงเรียนต่างๆ ซึ่งอาจทำให้มีงบไม่เพียงพอ พร้อมยกตัวอย่าง กรณีข้อพิพาทระหว่างพระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้วและบุคคลที่อ้างว้า เป็นเจ้าของที่ดินมูลค่า 10 ล้าน
ขณะที่นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ชี้แจงว่าในงบกลาง 5 แสนกว่าล้านบาทถูกใช้ไปเรื่องการป้องกันแก้ไขและเยียวยาโควิดไป 5 หมื่นกว่าล้าน ซึ่งเงินตรงส่วนนี้เดิมต้องเตรียมไว้ใช้สำหรับแก้ปัญหาภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงเป็นเหตุให้ต้องจัดทำ พ.ร.บ. โอนงบประมาณ 8.8 หมื่นล้านบาท นี้ขึ้นมาทดแทน พร้อมทั้งยืนยันว่างบประมาณที่ตัดมา ไม่กระทบกับสังคม การศึกษา และการสาธารณสุข
ส่วนข้อห่วงใยบางหน่วยงานที่ไม่สมควรจะมีการโอนงบนั้น ยืนยันว่า งบที่โอนคืองบในส่วนของการงบอบรมสัมมนาซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงดังกล่าว และมีการโอนมาเพียงร้อยละ 10 ซึ่งไม่กระทบต่อการดำเนินการในส่วนที่เหลือ พร้อมยืนยันว่าการโอนงบไม่สามารถให้โดยตรงให้หน่วยงานได้ได้แต่ต้องโอนมาอยู่ที่งบกลางตามกฎหายวิธีการงบประมาณ
หลังจากมีการอภิปรายนานกว่า 8 ชั่วโมงท้ายที่สุดที่ประชุม 434 เสียงมีมติ 250 ต่อ6 เสียง เห็นชอบร่างพ.ร.บ. โดยมีผู้งดออกเสียง 178 เสียง ขึ้นตอนต่อไปสภาฯจะมีการเสนอร่างไปยังรัฐบาลก่อนที่จะมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯและบังคับใช้ต่อไป