รับยาใกล้บ้านโมเดล 3 ลดภาระงาน-ลดความแออัด รพ.
สปสช. นำร่องโครงการรับยาใกล้บ้าน โมเดล 3 โดยให้ร้านยาสต๊อกยาและจัดยาให้ผู้ป่วยตามใบสั่ง รพ. อีกหนึ่งทางออกเพื่อลดความแออัด ลดภาระงาน ให้กับโรงพยาบาล เภสัชกร และเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ป่วย ลดความเสี่ยงติดเชื้อ
แม้โครงการรับยาใกล้บ้าน รูปแบบที่ 1 รพ.จัดยารายบุคคลส่งให้ร้านยา และ รูปแบบที่ 2 รพ.สำรองยาไว้ที่ร้านยา จะสามารถลดความแออัดของโรงพยาบาลได้ส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถลดภาระงานได้เท่าที่ควร การนำร่องรูปแบบที่ 3 โดยให้ร้านยาสต๊อกยาและจัดยาให้ผู้ป่วยตามใบสั่งรพ. จึงเป็นอีกหนึ่งทางออกเพื่อลดความแออัด ลดภาระงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายแพทย์ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า โครงการรับยาใกล้บ้าน เป็นระบบบริการใหม่ที่พยายามรับฟังความต้องการของประชาชน รวมถึงเป็นนโยบายของทางรัฐบาลที่ต้องการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และไม่ให้หน่วยบริการมีภาระงานมากเกินไป ซึ่งการนำร่องรูปแบบที่ 3 โดย ขณะนี้มี รพ.ที่สนใจสมัครเข้าร่วม จำนวน 6 แห่ง สปสช. จะสำรองเงินให้ร้านยาละ 8,000 บาทต่อปี เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนเริ่มต้น
โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี ถือเป็น 1 ใน 6 แห่ง ที่มีศักยภาพในการนำร่องโครงการ รูปแบบที่ 3 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการจำนวนมาก โดยระยะเวลารอรับยาในเดือนตุลาคม 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 39.58 นาที เดือนพฤศจิกายน 2562 เฉลี่ย 39.43 นาที และเดือนธันวาคม 2562 เฉลี่ย 48.09 นาที จึงเข้าร่วมโครงการรับยาใกล้บ้าน ในเดือนธันวาคม 2562 ในรูปแบบที่ 1 มีร้านยา (ขย.1) ในพื้นที่ร่วมเป็นเครือข่ายหน่วยบริการด้านยา 14 แห่ง โดยโรงพยาบาลได้จัดระบบส่งต่อข้อมูลและการจัดส่งยาไปที่ร้านยา บริการผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง จิตเวช หอบหืด และโรคเรื้อรังที่ไม่มีความซับซ้อนในการดูแล
สำหรับ รพ.พระจอมเกล้า เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด มีผู้ป่วย 8 อำเภอมาใช้บริการวันละ 2,000 รายขึ้นไป เมื่อผู้ป่วยประสงค์ไปรับยาที่ร้านยาทำให้มีการจัดพื้นที่ได้มากขึ้น โดยตั้งเป้าลดความแออัดให้ได้ 20%
นายแพทย์ชุมพล เดชะอำไพ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่าในช่วงเริ่มต้นมีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการไม่มาก แต่จากการประชาสัมพันธ์ทำให้มีผู้ป่วยร่วมโครงการเพิ่มขึ้น เดือนธันวาคม 2562 มีผู้ป่วยรับยา 25 ครั้ง และขยับเพิ่มขึ้นในเดือนมกราคม 64 ครั้ง กุมภาพันธ์ 78 ครั้ง มีนาคม 140 ครั้ง และในเดือนเมษายนสูงถึง 598 ครั้ง เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ผลดำเนินการในช่วง 7 เดือน (18 ธ.ค. 62 – 5 มิ.ย. 63) มีผู้ป่วยรับยาที่ร้านยา 1,132 ครั้ง สูงเป็นอันดับ 2 ของหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการในระบบทั้งหมด
ทั้งนี้ ผลจากการดำเนินการ สามารถช่วยลดระยะเวลาในการรอรับยาลงได้ ในเดือนมกราคม 2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 29.84 นาที เดือนกุมภาพันธ์ เฉลี่ย 38.79 นาที เดือนมีนาคม เฉลี่ย 30.28 นาที เดือนเมษายน เฉลี่ย 29.91 นาที และเดือนพฤษภาคม เฉลี่ยอยู่ที่ 26 นาที
ในช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้จะใช้รูปแบบที่ 3 ผู้ป่วยมาพบแพทย์ที่รพ. และสามารถรับยาเดียวกัน ด้วยมาตรฐานเดียวกัน กับเภสัชกรที่ร้านยา ที่เป็นพันธมิตรเป็นฝ่ายจัดหายาและสต๊อกยา มีการสื่อสารกันโดยใช้ระบบไอที เก็บข้อมูลผ่านระบบคลาวด์ เตรียมระบบออนไลน์ที่รับ-ส่งข้อมูล ระหว่างโรงพยายาลกับร้านยา
“ภ.ก.ทรงพล วงศ์เทพ” เภสัชกรประจำร้านยา ร้านยารวมยาเพชรบุรี หนึ่งในร้านยาที่เข้าร่วมในโครงการ และสนใจใช้รูปแบบที่ 3 กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยมารับยาที่ร้านยาประมาณ 20 รายต่อเดือน โดยให้บริการในรูปแบบที่ 1 คือ ผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่รพ. และ รพ. จัดยามาส่งที่ร้านยาในวันถัดไป หากเปลี่ยนไปใช้รูปแบบ 3 ผู้ป่วยน่าจะสะดวกขึ้นเพราะได้รับยาภายในวันเดียว
ขณะ ร้านยาก๊วยหมงกี่ หลังจากที่เข้าร่วมโครงการเป็นเวลา 7 เดือน มีผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาราว 250 ราย หรือประมาณ 20-40 รายต่อเดือน “ภ.ก.ณภัทร ศรีชลวัฒนา” ระบุว่า ปัญหาที่พบคือ ยาเดินทางมาถึงแล้วแต่ผู้ป่วยยังไม่สะดวกมารับ ยาที่บ้านยังไม่หมด หรือเดินทางมาถึงร้านยาก่อนที่ยาจะมา หรือบางคนเห็นรูปแบบยาเปลี่ยนไปไม่มั่นใจ จึงต้องอธิบาย ทั้งนี้ร้านมีแนวโน้มว่าจะเข้าร่วมรูปแบบที่ 3 แต่ต้องศึกษาระบบ และการบริหารคลังยาก่อน
ในส่วนของผู้ป่วยที่รับยาร้านยา “นางสาวนันทินี ชิตรัตน์” อายุ 63 ปี กล่าวว่า เลือกรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาด เพราะสะดวก และไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ มีเภสัชกรช่วยอธิบาย หากต่อไปทาง รพ.ให้ร้านยาจัดยาเอง คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาเพราะอย่างน้อยก็มีเภสัชกร แต่หากไม่มั่นใจก็คงไปสอบถามที่ รพ.อีกที ขณะที่ “นายอาบ น้อยกระสัน” อายุ 66 ปี ซึ่งรพ.โทรแจ้งให้รับยาที่ร้านยาเนื่องจากโควิด-19 และมีอาการคงที่ ระบุว่า มารับยาที่ร้านยาครั้งแรก ซึ่งต่างจากการไปรับที่รพ. เพราะ สะดวกสบาย ไม่ต้องรอคิว ไม่ต้องเสี่ยงติดโรค และใกล้บ้านอีกด้วย