เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้า จี้ไทยตั้งกก.อิสระศึกษา 'บุหรี่ไฟฟ้า' จริงจัง
เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า เผยสภานิติบัญญัติฮ่องกงปัดทิ้งร่างกฎหมายแบน "บุหรี่ไฟฟ้า" จี้สภาผู้แทนฯ ไทยตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อมูลบุหรี่ไฟฟ้าหาช่องคุมให้เหมาะสม
เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.63 นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า หรือ ECST เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการร่างกฎหมายยาสูบของฮ่องกงตัดสินใจไม่แบนบุหรี่ไฟฟ้า และผลิตไร้ควัน หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ 3 ครั้ง และประชุมไป 9 ครั้ง ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ระบุไว้อย่างชัดเจนในเอกสารคือสมาชิกเห็นว่ามีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันได้ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีสารพิษต่ำกว่าเมื่อเทียบกับบุหรี่ รวมถึงกังวลว่าจะก่อให้เกิดช่องทางซื้อขายที่ผิดกฎหมายมากขึ้นหากมีการแบนผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ฮ่องกงจึงเป็นตัวอย่างที่ดีที่มีการรับฟังความคิดเห็นของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาชน เพื่อกำหนดนโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าต่างกับไทยที่ปิดกั้นความเห็นที่แตกต่างโดยสิ้นเชิง
ขณะเดียวกันที่งานประชุมนิโคตินโลก (Global Forum on Nicotine: GFN) ประจำปี 2663 ซึ่งครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 7 ผู้เชี่ยวชาญด้านนิโคตินและการควบคุมการบริโภคบุหรี่ระดับโลกกว่า 30 ราย เห็นด้วยว่าแนวทางการลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ไม่ได้เป็นการต่อต้านการควบคุมยาสูบ แต่ควรจะเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมยาสูบ โดยการสนับสนุนให้ผู้ที่สูบบุหรี่เปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่อันตรายน้อยกว่า แต่ปัจจุบัน ยังมีอุปสรรคในการนำหลักการนี้มาใช้ในหลายประเทศ เนื่องจากองค์กรรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ยังยึดติดกับมุมมองแคบๆ จากการศึกษาภาระจากการเป็นโรค (The Global Burden of Disease) ประเมินว่าการสูบบุหรี่ทำให้ประชากรโลก 7.1 ล้านคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในปี 2561 และยังมีผู้เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองอีกกว่า 1.2 ล้านคน
“ส่วนการควบคุมยาสูบของประเทศไทยกลับเน้นวิธีสุดโต่ง เช่น แบนการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งยิ่งเป็นการสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่นการลักลอบนำเข้าหนีภาษี ผลิตภัณฑ์ไม่มีมาตรฐาน ลิดรอนสิทธิผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า และไม่สามารถควบคุมการเข้าถึงของเยาวชนได้ ต่างจากสวีเดน นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และญี่ปุ่น ซึ่งผู้บริโภคมีทางเลือกในการเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ทางเลือกแทนการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นแนวทางที่ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเชื่อว่าจะทำให้บุหรี่หายไปจากตลาดได้จริงๆ” นายอาสาเผย
ตัวเลขสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2560 ระบุว่า 43% ของผู้สูบบุหรี่ในไทยบอกว่าไม่เคยคิดเลิกสูบบุหรี่ และมี 20% ที่พยายามเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งกลุ่มนี้บอกว่าเคยพยายามมากกว่า 1 ครั้งขึ้นไป ก็ยังเลิกบุหรี่ไม่สำเร็จ แต่ประเทศไทยก็ยังคงยึดแนวทางการรณรงค์เลิกสูบบุหรี่แบบเดิมๆ ที่มาจากแนวคิดของกลุ่ม NGO เดิมๆ โดยไม่เคยมีการประเมินเลยว่าประสบผลสำเร็จหรือทำให้คนเลิกบุหรี่ได้จริงมากน้อยแค่ไหน และไม่เคยรับฟังความคิดเห็นของผู้สูบบุหรี่หรือผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า หรือคนที่เห็นต่าง
“เราเชื่อว่าพรรคภูมิใจไทยที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมต. สาธารณสุข เป็นหัวหน้า รวมถึง ส.ส. จากพรรคการเมืองอื่นๆ อีกหลายท่าน มีหัวก้าวหน้า และอยากเห็นการจัดการปัญหาการสูบบุหรี่ในแนวทางใหม่ๆ ท่านนายกฯ เองก็เพิ่งจะประกาศว่าเมื่อโลกเปลี่ยน เราก็ต้องเปลี่ยนด้วย เราจึงอยากเรียกร้องให้หยุดนำเอาวาทกรรมเรื่องเด็กและเยาวชนหรือโควิด 19 มาเป็นเครื่องมือสร้างความหวาดกลัว และให้มีการตั้งคณะกรรมการที่เป็นอิสระขึ้นมาศึกษาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจังเหมือนฮ่องกงและอีกหลายๆ ประเทศ” นายอาสา กล่าว