“ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ”เติมฝันเด็กสายอาชีพยากจนแต่มีศักยภาพ

“ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ”เติมฝันเด็กสายอาชีพยากจนแต่มีศักยภาพ

กสศ.เปิดตัว “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” เติมฝันให้กับนักศึกษาสายอาชีพที่ยากจนขาดโอกาสแต่มีศักยภาพ พร้อมโชว์ 13 เด็กช้างเผือกได้เรียนต่อจนถึงปริญญาเอก พบกว่า 80% ของเด็กกลุ่มนี้ต้องการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) แถลงข่าวเปิดโครงการ “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ปี2563” ซึ่งเป็นทุนแรกของประเทศไทยที่เติมเต็ม โอกาสให้แก่เด็กช้างเผือกสายอาชีพ (นักศึกษาที่มีศักยภาพแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ที่จบ ปวช. หรือ ปวส. ปี 2562 และกำลังเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในสาขา S-Curve, New S-Curve, STEM และเทคโนโลยีดิจิทัล) 

ปัญหาเด็กด้อยโอกาสขาดแคลนทุนทรัพย์ ไม่มีโอกาสที่จะศึกษาต่อในสายอาชีพระดับสูง จัดเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ต้องแก้ไข เนื่องจากประเทศไทยมีเด็กด้อยโอกาสที่จัดอยู่ในกลุ่ม 25 เปอร์เซ็นต์ล่างสุด แต่มีความรู้ความสามารถและมีคะแนนสอบ PISA ได้เท่ากับเด็กที่เรียนดีในกลุ่ม 25 เปอร์เซ็นต์สูงสุดประมาณ 3.3 เปอร์เซ็นต์ของเด็กกลุ่มยากจนหรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 6,111 คน

"นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ" กล่าวว่า องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ทำการสำรวจเด็กช้างเผือกกลุ่มนี้ พบว่าเด็กด้อยโอกาสกว่า 80% คาดหวังอยากจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ดังนั้น หากเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้รับทุนการศึกษาก็มีแนวโน้มที่จะหลุดออกนอกระบบ ประเทศไทยจะสูญเสียทรัพยากรที่มีความสามารถไปอย่างน่าเสียดาย

อย่างไรก็ตามแม้ที่ผ่านมาประเทศไทยจะให้ทุนกับเด็กด้อยโอกาสจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปที่เด็กสายสามัญ กสศ. มองเห็นความสำคัญของปัญหาและอยากที่จะส่งเสริมให้เด็กด้อยโอกาส แต่มีศักยภาพทางสายอาชีพได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้น และเพื่อให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่อยากจะส่งเสริมการศึกษาสายอาชีพ กสศ. จึงได้ริเริ่มโครงการมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กอาชีวะ ได้เรียนต่อในระดับปริญญาตรีขึ้นไป โดยชื่อทุนได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีชื่อว่า “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ปี2563

นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ. เป็นกองทุนของรัฐมีภารกิจหลักด้านการสร้างความเสมอภาคและส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาให้เด็กด้อยโอกาส ซึ่งทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ เป็นทุนแรกของรัฐบาลไทยที่ส่งเสริมให้คนจบสายอาชีพ ได้เรียนต่อระดับปริญญาตรีขึ้นไป ซึ่งกระบวนการพิจารณาความยากจน ของ กสศ. จะพิจารณาจากรายได้ ภาระพึ่งพิง ที่อยู่อาศัย สภาพที่อยู่อาศัย ที่ดินการเกษตร ไฟฟ้า ยานพาหนะ รวมทั้งจะต้องมาพิจารณา ความสามารถ เกียรติประวัติ ผลงานการทำโครงงาน สิ่งประดิษฐ์ รวมทั้งจะต้องมีความประพฤติดี  

“ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพจะสนับสนุนกำลังคนสายอาชีพที่มีศักยภาพให้ศึกษาต่อปริญญาตรี โท เอก ในสาขาที่ตอบโจทย์ประเทศ ทั้ง S-Curve New S-Curve STEM  และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ถึงแม้ว่าจะมีจำนวนทุนไม่มากราว 40 ทุน ต่อปี  แต่กสศ. มุ่งสร้างและพัฒนาให้เป็นต้นแบบการเรียนสายอาชีพ ให้เห็นว่ามีเส้นทางความก้าวหน้าได้จริง สร้างกลุ่มเยาวชนยากจนด้อยโอกาสที่มีศักยภาพให้เป็นบุคลากรชั้นนำได้” นายสุภกร กล่าว

อย่างไรก็ตาม กสศ.ต้องการให้นักศึกษาทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ เป็นเสมือน ‘บุคคลต้นแบบ’(Role Model) ของนักศึกษาสายอาชีวะ เนื่องจากยังมีน้อง ๆ อีกจำนวนมากที่เรียนอยู่ในระดับ ปวช.-ปวส. โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. ที่มีจำนวนประมาณ 5,000 คน ใน 2 รุ่น ที่มีความฝันอยากเรียนต่อแต่ขาดทุนทรัพย์ เมื่อพวกเขามองขึ้นมาจะได้เห็นว่าโอกาสทางการศึกษานั้นมีอยู่ และเห็นว่ามีรุ่นพี่ที่ทำให้ดูแล้วว่าฝันนั้นเป็นจริงได้ เป็นการส่งต่อแรงบันดาลใจ แรงจูงใจ ให้มีรุ่นน้องได้เดินตามรุ่นพี่ ซึ่งเราคิดว่าจะได้เห็นภาพของการแนะแนวกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องอย่างใกล้ชิด

น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า ตามวัตถุประสงค์ของทุนมุ่งพัฒนาผู้เชี่ยวชาญที่มีพื้นฐานมาจากสายอาชีวศึกษา เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ผ่านการให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาสายอาชีพ (ปวช.- ปวส.)ที่มีผลการเรียนดีและยากจนที่สุดหรือด้อยโอกาส โดยตั้งเป้าว่าจะมีการให้ทุนการศึกษาปีละ 40 ทุน ทุนละ 300,000 บาท ต่อคนต่อปี

เป็นการรวมทั้งค่าเล่าเรียน อุปกรณ์การเรียน ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การทำโครงงาน/วิจัย และการสนับสนุนที่ทักษะสำคัญและเสริมประสบการณ์ (Enrichment) แต่ในรุ่นที่ 1 มีนักศึกษาผ่านคัดเลือก 13 คนแม้จะมีนักศึกษาชื่อกว่า 70 คน นั่นเพราะต้องผ่านการทดสอบหลายด้าน โดยเฉพาะความมุ่งมั่นตั้งใจ รวมถึงความสามารถการทำโครงงานต่าง ๆ ด้วยต้องการคนที่เป็น ‘ช้างเผือก’ จริง ๆ และนี่คือจุดมุ่งหมายของทุนนี้

“จากข้อมูล ทาง กสศ.พบว่า นักเรียนที่มีฐานะยากจนที่สุดหรือด้อยโอกาส จะมีเพียง 5% เท่านั้นที่มีโอกาสศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ต่างจากคนชั้นกลางที่มีโอกาสศึกษาต่อถึง100% ซึ่งทาง กสศ.เห็นช่องว่างดังกล่าว จึงหาทางที่จะส่งเสริมทางการศึกษาให้กับเด็กที่เรียนจบระดับชั้น ปวช.-ปวส.ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี และหากเด็กมีศักยภาพจะมีทุนให้ถึงระดับปริญญาโทและเอก เมื่อเด็กเหล่านี้จบการศึกษาจะเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศต่อไป” น.ส.ธันว์ธิดา กล่าว

ในปี 2563 นี้ กสศ. สนับสนุนทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพได้จำนวน 67 ทุน โดยคุณสมบัติของนักศึกษาที่จะเสนอชื่อเข้ารับทุนนั้น จะต้องเป็นนักศึกษาที่จบ ปวช. หรือ ปวส. ในปี 2562 และกำลังจะเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรต่อเนื่องหรือเทียบโอน เป็นผู้ที่มีรายได้ครอบครัวเฉลี่ยไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน มีผลการเรียนเฉลี่ยตั้งแต่ 3.00 ขึ้นไป และอยู่ในระดับไม่เกิน 20% บนของสาขาที่จบการศึกษา และมีผลงานที่โดดเด่น มีโครงงานหรือสิ่งประดิษฐ์จะได้รับการพิจารณาพิเศษ นอกจากนี้จะต้องมีคุณลักษณะมีภาวะผู้นำ มีจิตอาสา ขอเชิญชวนสถานศึกษาอาชีวศึกษาเสนอชื่อนักศึกษาศิษย์เก่า สถานศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีเสนอชื่อนักศึกษา เพื่อรับทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ

นอกจากนั้น ปีนี้เป็นปีแรกที่นักศึกษาตามคุณสมบัติยังสามารถสมัครขอรับทุนได้ด้วยตนเองด้วย โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ผ่านเว็บไซต์ https://www.eef.or.th/ หรือโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 02-079-5475 กด 4 ตามวันเวลาราชการ

ขณะที่ น.ส.ภัทรียา แซ่คำ น้องป้าง อายุ 22 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า-โทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา นักศึกษา “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” รุ่นที่ 1 กล่าวว่า แรงบันดาลที่ทำให้เลือกเรียนสาขาสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า-โทรคมนาคม เพราะอยากเป็นวิศวกรที่สามารถช่วยไร่ผลิตไฟฟ้าและมีบทบาทในการพัฒนาประเทศ ที่สำคัญเมื่อเรียนจบวิชาชีพนี้สามารถยกระดับชีวิตและรายได้ให้ดีขึ้น สามารถนำเงินส่งต่อการศึกษาให้น้องได้ แต่เนื่องจากฐานะทางบ้านยากจน จึงต้องผลักดันตัวเองด้วยการหางานพิเศษทำเพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัวตั้งแต่ชั้น ม. 2

เมื่อ กสศ.เปิดรับสมัครนักเรียนเข้าร่วมโครงการ “พระกนิษฐาสัมมาชีพ” ซึ่งเป็นทุนการศึกษาที่ส่งเสริมให้ผู้ที่เรียนในสายอาชีพได้มีโอกาสเรียนต่อในสายอาชีพชั้นสูง อาจารย์ที่ปรึกษาจึงส่งรายชื่อของตนเข้าชิงทุน เพราะอยู่ในเกณฑ์รับสมัครคือ เป็นนักเรียนที่เรียนดีและมีฐานะยากจน หลังจากทราบผลว่าได้รับทุนรู้สึกดีใจมาก เพราะทุนดังกล่าวสานฝันให้เรียนจนจบในระดับที่เราอยากเรียนได้ โดยดังนั้นจึงอยากฝากถึงน้องๆที่อยากได้รับโอกาสเช่นนี้ อย่าให้ความจนมาปิดกั้นอนาคตทางการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นประตูแรกที่จะทำไปสู่ความสำเร็จ