เปิดสูตร 'วิเวก ดาวัน' เคลื่อนเมก้าฯ โตสู้โควิด
ธุรกิจยา วิตามิน ผลิตภัณธ์เสริมอาหาร ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ถือเป็นหมวดหมู่ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโรคโควิดน้อย "เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์" เดิมหมากรบธุรกิจไทย ต่างประเทศ หวังปั๊มรายได้โต "เท่าตัว" ปี 68
ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ระบาดทั่วโลก หลายธุรกิจต้องเผชิญผลกระทบอย่างใหญ่หลวง เพราะกิจการทำมาค้าขายลำบาก ปัจจัยสี่ อาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ซึ่งเคยเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพ กลับถูกหดเหลือเพียง 2 ปัจจัยคือ อาหาร และยา จึงเป็นเหตุผลสำคัญให้ธุรกิจของ “เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์” ในไตรมาสแรกยังคงเติบโตที่ 19%
ทว่าปัจจัยที่ทำให้ “ยอดขาย” ของบริษัทเติบโตสูงนั้น ส่วนหนึ่งธุรกิจเวชภัณฑ์ยาที่ใช้รักษาโรคต่างๆ ถูกซื้อไป “ตุน” หรือสต็อกไว้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค ร้านขายยา และโรงพยาบาล อีกแรงส่ง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเกิดโรคระบาดครั้งนี้ ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น จนถูกฟันธงว่าเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตปกติใหม่หรือNew Normal ของผู้บริโภค จึงทำให้การดูแลตัวเอง ไม่ใช่แค่จากภายใน ด้วยการบริโภคอาหารที่ดี การออกกำลังกาย แต่ยังซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามินรับประทานมากขึ้น วิเวก ดาวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเภสัชกรรมและผลิตภัณฑ์สุขภาพแบรนด์ “เมก้า วีแคร์” (Mega We Care) ให้มุมมอง
ปัจจัยข้างต้น ส่งผลดีต่อบริษัท แต่ความท้าทายยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะครึ่งปีหลัง ที่ “วิเวก” เป็นห่วงอย่างมากคือ กำลังซื้อของผู้บริโภคจะฟื้นตัวกลับมาได้มากน้อยแค่ไหน เพราะวิกฤติโควิด ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบ และคนจำนวนมากตกงาน ขาดรายได้
“การขับเคลื่อนธุรกิจครึ่งปีหลัง ท้าทายอย่างมาก อย่างกำลังซื้อของผู้บริโภคยังคาดการณ์ยากว่าจะกลับมาได้หรือไม่ และเราหวังไม่ให้ครึ่งปีหลังแย่ลง” เขากล่าว และขยายความว่า
สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจช่วงครึ่งปีหลัง จะเน้นการออกสินค้าใหม่ต่อเนื่อง โดยปกติจะออกสินค้าใหม่ 6-10 รายการต่อปี ทั้งนี้สิ่งที่จะโฟกัสมากขึ้น จะเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ และมาจากธรรมชาติ ล่าสุด ออกสินค้าเพื่อสุขภาพสำหรับเด็ก และเปิดตัวใหม่สำหรับเครื่องดื่ม “ดร.ดริ้งค์”(DR.DRINK) ซึ่งบริษัทดำเนินการเองทั้งหมด
นอกจากนี้ กลยุทธ์ในการทำตลาดจากนี้ไป ยังให้ความสำคัญกับ “ดิจิทัล” มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารการตลาด(E-Communication) การทำตลาด(E-Marketing) และสร้างความผูกพันกับผู้บริโภค (E-Emgagement) ภายใต้กฎกติกาต่างๆ ที่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน และยาสามารถดำเนินการได้
“วันนี้ทุกคนไปออนไลน์กันหมดทำงานจากที่บ้าน ซื้อสินค้าจากที่บ้าน แต่ผลิตภัณฑ์ที่เราทำจำหน่ายมีข้อจำกัดในการทำตลาดที่ค้าขายออนไลน์ไม่ได้ เราจึงเน้นเรื่องการสื่อสารกับผู้บริโภค สร้างเอนเกจเมนต์ผ่านออนไลน์มากขึ้น”
แผนธุรกิจระยะสั้น คือการรักษาโมเมนตัมการเติบโตครึ่งปีหลัง เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ มียอดขายเติบโต 5-10%
ทว่า ภารกิจใหญ่ของ “วิเวก” คือการนำพาธุรกิจองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะแบรนด์ เมก้า วีแคร์ อยากเห็นยอดขายเติบโต “เท่าตัว” ภายในปี 2568 หรือทะลุหลัก 2 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนยอดขายรวมกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 1,100 ล้านบาท
ที่ผ่านมาจึงเห็นบริษัทลงทุนขยายกิจการทั้งในและต่างประเทศ ทุ่มเงินราว 460 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตยาในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งตามแผนจะต้องก่อสร้างภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า แต่ผลพวงจากโรคระบาด ทำให้แผนงานต้องล่าช้ากว่าเดิมเล็กน้อย การขยายศูนย์กระจายสินค้าในประเทศเมียนมา เป็นต้น
“การลงทุนในอินโดนีเซียเป็นจังหวะที่ดีไหม เราย้ำเสมอว่าเราทำธุรกิจเพื่อการเติบโตในระยะยาว ไม่ใช่ 3-4 เดือน แม้แผนงานจะล่าช้าเล็กน้อย แต่ธุรกิจจะมีรายได้และกำไรตามที่วางไว้ใน 3-4 ปี”
ปัจจุบันเมก้าฯจะมีการทำตลาดใน 33 ประเทศทั่วโลก และยอดขายในต่างแดนถือเป็นสัดส่วนใหญ่ราว 80% แต่ปีนี้บริษัทไม่มีแผนจะเพิ่มจำนวนตลาดต่างประเทศ จะมุ่งทำให้ตลาดเดิมมีการเติบโตมากขึ้นมากกว่า
วิเวก เป็นนักธุรกิจอินเดียที่ขับเคลื่อนธุรกิจในไทยกว่า 30 ปี เผชิญวิกฤติมามากมายตั้งแต่ออกสตาร์ททำโรงงาน ผลิตสินค้าไม่ได้ ต้องแก้ไข วิกฤติต้มยำกุ้ง น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 จนถึงโรคโควิดระบาด ซึ่งเขาบอกว่า แต่ละเหตุการณ์ไม่ใช่เรื่องหนักหนาสาหัสสำหรับองค์กรมากนัก อาจเพราะโชคดีอยู่ในธุรกิจที่จำเป็นต่อผู้บริโภค ความเสี่ยงล้วนเป็นสิ่งที่องค์กรยอมรับได้ ทว่า สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากธุรกิจคือผู้นำต้องรู้จักเรียนรู้ให้เร็ว ล้มเร็ว และลุกขึ้นเร็วเพื่อก้าวข้ามทุกสถานการณ์ให้ได้
“ไม่รู้สึกว่าวิกฤติคือเรื่องยาก เพราะทุกช่วงเวลาล้วนมีความท้าทายใหม่ๆเกิดขึ้น และเราต้องหาทางสู้กับปัญหา ขณะที่โควิดคงไม่ใช่วิกฤติสุดท้าย เราจึงต้องเรียนรู้ และสู้กับสถานการณ์ดังกล่าว”