เปิดรายงาน IMF ทำไมโควิดทุบศก.โลกติดลบ 4.9% ปีนี้

เปิดรายงาน IMF ทำไมโควิดทุบศก.โลกติดลบ 4.9% ปีนี้

รายงานล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชี้ว่า การระบาดใหญ่ “โควิด-19” จุดชนวนวิกฤติเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ส่งผลให้ GDP โลกติดลบ 4.9% ในปีนี้ และจะสร้างความเสียหายอย่างสาหัสราว 370 ล้านล้านบาทใน 2 ปี ส่วนไทยติดลบ 7.7%

เมื่อวันพุธ (24 มิ.ย.) IMF เผยรายงานประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจ (World Economic Outlook) ฉบับปรับปรุง ระบุว่า มาตรการชัตดาวน์ธุรกิจทั่วโลกทำลายตำแหน่งงานหลายร้อยล้านอัตรา และบรรดาเศรษฐกิจสำคัญในยุโรปต่างเผชิญกับภาวะติดลบในระดับเลข 2 หลัก

ขณะเดียวกัน แนวโน้มของการฟื้นตัวหลังจากโรคระบาดใหญ่โควิด-19 จะประสบกับ “ความไม่แน่นอนที่กระจายไปทั่ว” เนื่องจากวิถีการแพร่ระบาดของไวรัสที่คาดเดาไม่ได้

“โรคระบาดใหญ่โควิด-19 ส่งผลกระทบในทางลบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 มากกว่าที่คาดหมายไว้ และคาดว่าการฟื้นตัวจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้” IMF เตือน

รายงานระบุว่า ในขณะที่ภาคธุรกิจต่าง ๆ กลับมาเปิดทำการในหลายประเทศ และจีนเผชิญกับการฟื้นตัวด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดหมายไว้ แต่การแพร่ระบาดของไวรัสระลอก 2 ยังคงคุกคามแนวโน้มการเติบโต

IMF คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั่วโลกจะติดลบ 4.9% ในปีนี้ และจะฟื้นตัวเพียง 5.4% ในปี 2564 แต่ต้องอยู่ “ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น”

กิตา โกพินาถ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF บอกว่า จากการคาดการณ์ ณ ปัจจุบัน วิกฤติโควิดจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลก 12 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 370.4 ล้านล้านบาท) ในช่วงเวลา 2 ปี

“เรายังไม่หลุดพ้นจากช่วงเวลายากลำบาก แม้ว่ารัฐบาลและธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ออกนโยบายทางการคลังและการเงินมากมายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจไปแล้ว แต่ยังจำเป็นต้องทำมากกว่านี้อีก” โกพินาถกล่าว

IMF ระบุด้วยว่า ภาวะขาลงของเศรษฐกิจโลกสร้างความเสียหายเลวร้ายโดยเฉพาะกับประเทศต่าง ๆ ที่มีรายได้ต่ำและภาคครัวเรือน และทำให้ความคืบหน้าในความพยายามลดความยากจนขั้นรุนแรงตกอยู่ในอันตราย

รายงานประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจฉบับปรับปรุงของ IMF ปรับลดตัวเลขทางเศรษฐกิจลงอย่างมากเทียบกับรายงานครั้งก่อนหน้าในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงต้นของการระบาดใหญ่ ขณะนั้น IMF เตือนว่า เศรษฐกิจโลกจะหดตัว 3% พร้อมแสดงความกังวลว่า โควิด-19 จะสร้างความเสียหายเรื้อรังทั้งต่อการจ้างงาน ธุรกิจ และการค้า

ขณะเดียวกัน ร่างกฎหมายสำหรับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของรัฐบาลต่าง ๆ ซึ่งทำให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำมาก และมีแนวโน้มที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจโลกหลุดจากภาวะถดถอย (Recession) ไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Depression) แม้จะสร้างหนี้ก้อนใหญ่ที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ระดับความเสียหายทางเศรษฐกิจก็ยังน่าตกตะลึง และมีความเสียหายที่กว้างขวางมากกว่าภาวะถดถอยครั้งไหน ๆ ในรอบหลายทศวรรษ IMF คาดว่า ภาวะถดถอยในชาติเศรษฐกิจหลักหลายแห่งจะรุนแรงกว่าช่วงที่เผชิญกับวิกฤติการเงินโลกปี 2552 เป็นเท่าตัว

จากการคาดการณ์ของ IMF หนึ่งในไม่กี่ประเทศที่เศรษฐกิจไม่ติดลบคือ “จีน” โดยจะขยายตัว 1% ในปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัว 8% ส่วนเยอรมนีจะหดตัวกว่าเล็กน้อย ขณะที่ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และสหราชอาณาจักร จะเผชิญกับภาวะหดตัวในระดับเลข 2 หลัก แต่ญี่ปุ่นจะดีกว่าเล็กน้อย โดยจะหดตัวเพียง 5.8%

159305490162

ส่วนในกลุ่มอาเซียน-5 (ซึ่งหมายถึง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม) เศรษฐกิจปีนี้จะหดตัว -2.0% ก่อนที่จะฟื้นตัวและมีการเติบโตที่ระดับ 6.2% ในปีหน้า

หากพิจารณาแยกย่อยรายประเทศI คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยหดตัวมากที่สุดในปีนี้ ที่อัตรา -7.7% ตามมาด้วยมาเลเซีย (-3.8%) ฟิลิปปินส์ (-3.6%) อินโดนีเซีย (-0.3%) และเวียดนาม (+2.7%)

ขณะเดียวกัน IMF อ้างข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งประมาณการว่า ทั่วโลกมีคนตกงานกว่า 300 ล้านตำแหน่งในช่วงไตรมาส 2

IMF เตือนด้วยว่า ด้วยเหตุที่การคมนาคมและการผลิตถูกปิดเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ทำให้มูลค่าการค้าทั่วโลกหดตัวเกือบ 12% และบรรดาเศรษฐกิจก้าวหน้าจะเผชิญกับตัวเลขที่ลดลงมากขึ้น

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ตึงเครียดระหว่างประเทศ เช่น สหรัฐกับจีน และในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ก็ส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกเช่นกัน