เล็กพริกขี้หนู บทพิสูจน์ ‘คีนน์’
รู้สึกว่าวิกฤติครั้งนี้เป็นการรีเซ็ตโลก ทำให้เราได้เห็นว่าประเทศในเอเซียก็ไม่ได้ห่างจากประเทศทางตะวันตกที่เคยบอกว่ามีอารยธรรมที่สูงกว่า มีเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำกว่า
ไทยเราก็ได้รับการยอมเป็นประเทศอันดับต้น ๆที่สามารถควบคุมโควิดได้เป็นอย่างดี แสดงว่าเราก็มีดี เทคโนโลยีของเราก็ไม่ได้ด้อยกว่าเขา
"ดร.วสันต์ อริยพุทธรัตน์" ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท คีนน์ จำกัด (KEEEN) บอกว่าแต่ที่แน่ ๆ โควิด-19 ทำให้สปอร์ตไลท์สาดส่องมาที่คีนน์ ซึ่งเป็นผู้คิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวบำบัด ที่มีคุณสมบัติพิเศษในการกำจัดเชื้อโรค อาทิเช่น เชื้อไวรัสต่างๆ แบคทีเรีย และเชื้อรา
"จังหวะนี้จึงถือเป็นจังหวะที่สำคัญ ถือเป็นเวลาทองของคีนน์ ที่เราต้องรีบฉกฉวยเอาไว้ เราอยู่ในเกมที่ถ้าใครเคลื่อนตัวได้ก่อน คนนั้นจะชนะ บริษัทรายใหญ่เขาอาจขยับตัวได้ยากเปรียบก็เหมือนไดโนเสาร์ ต่างจากเราที่ธุรกิจยังเล็ก ก็เหมือนแมลงสาบจะปรับตัวได้ง่ายกว่า"
เขาบอกว่าอยากให้ผู้ประกอบการมอง “สิ่งปกติใหม่” หรือนิวนอร์มอล ผลพวงจากโควิด-19 ว่าเป็น “โอกาส” และต้องคิดหาทางตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่กำลังเกิดขึ้น อย่ามัวกังวล กลัว และเฝ้ารอเพราะอาจจะถูกแซงหน้าไปได้
ซึ่งจากนี้ไปผู้คนทั่วโลกจะให้ความใส่กับความปลอดภัยของชีวิตมากขึ้น ทั้งจะคิดถึงสังคมส่วนรวมมากขึ้นด้วย การก้าวเท้าออกจากบ้านที่เดิมที่เคยคิดแค่เรื่องของความสนุก แต่เวลานี้มีการสวมหน้ากากก่อนออกทุกครั้งโดยอัตโนมัติ และยังคิดห่วงถึงการไปสัมผัสกับคนอื่น การเว้นระยะห่าง ฯลฯ ซึ่งพฤติกรรม ความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะมีสิ่งอะไรใหม่ ๆที่เกิดขึ้นตามมาบ้าง เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคิดทบทวนให้ครบถ้วนในทุก ๆมิติ
"คีนน์เองก็กำลังสร้างฐานตลาดใหม่ ๆ ลูกค้าใหม่ ๆ และสร้างสแตนดาร์ดใหม่ๆ เรามีเชี่ยวชาญด้านไบโอเทค เดิมเราโฟกัสในเรื่องของนวัตกรรมสีเขียวเพื่อความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม แต่ในเวลานี้เราจะเติมคำว่าไฮจีนิก (Hygienic) เข้าไปด้วย เพราะเมื่อเกิดวิกฤติหมายถึง เราจำเป็นต้องครีเอทอะไรใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์นิวนอร์มอล นิวมาร์เก็ต นิวสแตนดาร์ด"
รวมถึงการต้องสามารถไขโจทย์ "เพนพ้อยท์" หรือปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย ดร.วสันต์ มองว่า ปัญหาที่ทุก ๆ ธุรกิจที่หนีไม่พ้นในช่วงที่มีการคลายล็อค ก็คือ หนึ่ง การกลับมาเปิดธุรกิจหลังวิกฤติ..ธุรกิจจะรอดหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร หรือรถโดยสาร ฯลฯ จำเป็นต้องมีการเว้นที่นั่ง รักษาระยะห่าง คำถามตามมาก็คือเปิดแล้วจะรอดไหม? จำนวนลูกค้าที่ลดลงจะคุ้มต่อต้นทุนที่ต้องจ่ายไปหรือไม่ หรือถ้าต้องมีการปรับราคาสินค้าหรือบริการ ลูกค้าจะยอมจ่ายหรือไม่ ซึ่งเห็นได้ชัดว่ากำลังซื้อของประชากรทั่วโลกในเวลานี้ลดลงอย่างมาก และสอง ถ้าเปิดแล้วจะสามารถคุมโรค คุมความปลอดภัยได้หรือไม่
"เรามองถึงโซลูชั่น ไฮจีนิก เพื่อเป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของเราสามารถกลับมาทำธุรกิจได้อย่างปลอดภัยและสามารถเติบโตต่อไปได้ เราไล่ทำธุรกิจแต่ละเซ็คเมนท์เลย เช่น ธุรกิจร้านอาหาร,ทัวร์ ,โรงเรียน,สนามกอลฟ์,ห้างสรรพสินค้า และอื่นๆ ตอนนี้ทีมขายของเรายิ้มด้วยสายตาที่เต็มไปด้วยความหวัง เพราะเวลานี้องค์กรและธุรกิจกำลังจะกลับมาเปิด ทำให้เราเห็นโอกาสเต็มไปหมดเลย ซึ่งเราไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน"
ไม่ใช่แค่นวัตกรรม และเทคโนโลยี เทคนิคสำคัญในการบุกตลาดของคีนน์ ก็คือการ “ซินเนอยี่” กับพาร์ทเนอร์ที่เน้นย้ำว่าต้องเป็น “ยักษ์ใหญ่” เริ่มที่ออแกไนเซอร์ชั้นนำก็คือ “บมจ. อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ” จับมือเข้าไปนำเสนอ “อุโมงค์พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณทางเข้า” กับสยามพารากอน
พาร์ทเนอร์สำคัญอย่างไร? ดร.วสันต์ตอบว่า โลกวันนี้และในอนาคต จะไม่มีธุรกิจใดที่สามารถขับเคลื่อนเพียงลำพัง ยกตัวอย่างเช่น แต่ไหนแต่ไรมาชีวิตและการทำธุรกิจของเขาเองไม่เคยเกี่ยวข้องกับสยามพารากอนเลย แต่มาจากอินเด็กซ์ที่เคยดีลธุรกิจกันมาก่อน เป็นต้น
"เราไม่จำเป็นต้องทำเองทุกอย่าง และเชื่อว่าเราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ดีที่สุดด้วย แต่ถ้าเราจัดการได้ดี ธุรกิจที่จะยืนหยัดได้จากนี้คือธุรกิจที่สามารถบริหารจัดการส่วนที่เป็นแก่นหรือคอร์หลักของตัวเองได้ดี และต้องจับมือกับพาร์ทเนอร์"
แน่นอนว่า ภายในองค์กรก็ต้องจัดการให้ดี ที่ผ่านมาเขากับทีมงานร่วมกันคิดร่วมวางแผน มีการเขียน Scenario planning หรือ ภาพอนาคตล่วงหน้าไว้เพื่อให้รองรับกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ทั้งยังมีการรีเซ็ต ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ปรับกระบวนการทำงานใหม่ ซึ่งต่อจากนี้ไปการทำงานจะเป็นแบบรีโมทมากขึ้น คือไม่ต้องมาทำงานที่ออฟฟิศทุกวัน แน่นอนว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนเรื่องของระบบการประเมินหรือเคพีไอด้วย
นอกจากนี้เขายังให้พนักงานแต่ละฝ่ายโดยเฉพาะมาร์เก็ตติ้งและเซลล์คิดหาแนวทางต่าง ๆ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป การไปพบปะลูกค้าคงไม่สามารถทำในรูปแบบเดิม ๆ หรือแผนการตลาดเดิมก็คงไม่สามารถนำมาใช้ได้อีกต่อไป การพรีเซนต์ก็ต้องเปลี่ยน สินค้าที่ไปนำเสนอก็ต้องเปลี่ยนไปเช่นกัน
ยอมรับว่าทุกอย่างที่กล่าวมาอาจไม่สามารถฟันธงได้ในเวลานี้ว่า “เวิร์คหรือไม่เวิร์ค” ดร.วสันต์เล่าว่า ตั้งแต่เมื่อสิบปีก่อนที่คิดก่อตั้งคีนน์ขึ้นมา ตอนนั้นเขาก็ไม่รู้ว่าโลกภายภาคหน้าจะเกิดวิกฤติโควิด แต่เป็นคนที่จะมองจากเป้าหมายเล็ก ๆก่อน การตั้งบริษัทของเขาเกิดขึ้นจากความต้องการเป็นเจ้านายตัวเอง และก็เริ่มจากกิจการซื้อมาขายไป แต่เมื่อมีคู่แข่งมาทำตาม มาลอกเลียนแบบก็ขยับสู่ความคิดจะพัฒนาสินค้าเป็นของตัวเอง ด้วยความที่เรียนจบทางสายการแพทย์ ทางสายไบโอ จึงเป็นที่มาของผลิตภัณฑ์ทางด้านชีวภาพ
อย่างไรก็ดี เขามองว่าธุรกิจเป็นเรื่องของ “เก่งกับเฮง” ในบางครั้งความสำเร็จก็คล้ายเป็น “โชคชะตา” (Destiny) ที่ถูกกำหนดไว้
"แต่เชื่อว่า ที่ทำให้คีนน์ก้าวมาได้จนถึงทุกวันนี้มาจากหัวใจสำคัญ 3 ข้อ คือ หนึ่ง จากการที่มองเห็นโอกาสเสมอ ซึ่งในเวลานี้นิวนอร์มอลก็คือโอกาส สอง ต้องมีความมุ่งมั่น สาม ต้องศรัทธาต่อทั้งตัวเอง ทีมงาน และลูกค้า ตัวเราต้องเชื่อว่าสิ่งที่คิดทำขึ้นมาคือสิ่งที่ใช่ ถ้าเราไม่ศรัทธาก็อาจเปลี่ยนใจกลางทางก็ได้"
และเขาก็เชื่อว่า จากนี้ไปทิศทางของคีนน์จะเป็นขาขึ้น ธุรกิจจะเติบโตยิ่งขึ้น ทว่าก็เป็นเรื่องที่ควรต้องระมัดระวัง และที่ต้องพยายามควบคุมให้ดีมีอยู่ 2 เรื่อง ก็คือ หนึ่ง สปีด การไปเร็วเกินไปก็ไม่ดี หรือไปช้าเกินไปก็จะถูกแซง และสอง การเติบโต "เร็วไปก็อาจพลาด" หรือ "โตผิดทางก็อาจพัง" จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการให้ดี
เมื่อถามถึงเป้าหมายสูงสุด ดร.วสันต์บอกว่าความตั้งใจก็คือการก้าวสู่ระดับโลก แต่ในความเป็นจริงหากคีนน์ได้ขึ้นแท่นเป็น “Country Brand” น่าจะเป็นเรื่องที่เจ๋งยิ่งกว่าซึ่งโดยปริยายมันยังหมายถึงความเป็นโกลบอลด้วย เหมือนกับที่คนทั่วโลกรู้ว่าซัมซุงเป็นสินค้าของเกาหลี หัวเว่ยเป็นสินค้าของจีน หรือแอปเปิลเป็นสินค้าของอเมริกา เป็นต้น
“ตอนนี้ถ้าพูดถึงชื่อคีนน์ก็ยังไม่มีใครรู้จัก ที่อยากให้เกิดขึ้นก็คือ พอมีคนพูดถึงชื่อคีนน์แล้วจะมีคนร้องว่า อ๋อ..ฟรอมไทยแลนด์ มันเป็นความรู้สึกที่ดีมาก ซึ่งก็ไม่รู้เป็นการฝันเฟื่องเกินไปไหม”