บีทีเอสยืนเกณฑ์แบ่งรายได้ ส่วนต่อขยาย 'สายสีเหลือง'
“บีทีเอส” ยื่นหนังสือถึง รฟม.พร้อมเดินหน้าส่วนต่อขยายสายสีเหลือง คงข้อเสนอแบ่งรายได้เพิ่มตามปริมาณผู้ใช้บริการ ยันไม่สามารถจ่ายชดเชยผลกระทบ “บีอีเอ็ม” โยน รฟม.เร่งตัดสิน ชี้เงื่อนไขข้อเสนอพิเศษ สัญญาระบุชัดต้องเคาะก่อนเปิดให้บริการเส้นทางหลักปี 64
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ช่วงส่วนต่อขยายสถานีแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงสถานีแยกรัชโยธิน โดยระบุว่าคณะกรรมการ (บอร์ด) บีทีเอส เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหนังสือยืนยันความพร้อมการดำเนินโครงการ ส่งไปยังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
โดยรายละเอียดหนังสือดังกล่าวยังยืนยันข้อเสนอพิเศษกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture : BSR JV) ที่เสนอลงทุนพัฒนาส่วนต่อขยาย 2 สถานี ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมโยงระบบรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีเขียว สนับสนุนการเดินทางของผู้โดยสารให้สะดวกมากขึ้น โดยบีเอสอาร์จะเป็นผู้ลงทุนโครงการดังกล่าวเอง ภายใต้งบประมาณราว 3,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ บีเอสอาร์ยังคงข้อเสนอเพิ่มส่วนแบ่งรายได้ให้กับ รฟม.ในกรณีที่มีผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้รัฐได้ส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้นจากที่ประมาณการไว้ โดยบีเอสอาร์พร้อมลงทุนพัฒนาโครงการ เนื่องจากขณะนี้ผลการศึกษาโครงการดังกล่าว ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และถูกบรรจุอยู่ในแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งทางรางแล้ว
ส่วนกรณีที่มีการคาดการณ์ว่าหากพัฒนาส่วนต่อขยายสายสีเหลืองแล้ว จะส่งผลกระทบต่อปริมาณผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้า MRT ลดลงนั้น เบื้องต้นบริษัทมองว่าเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ และเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง แต่การที่ รฟม.จะให้บริษัทยอมรับในการชดเชยผลกระทบดังกล่าวให้กับผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้า MRT นั้นไม่สามารถดำเนินการได้
“ก่อนหน้านี้ รฟม.ให้เราไปเจรจากับผู้รับสัมปทานอีกราย ซึ่งก็มีการเจรจากันแล้วว่าเขาได้รับผลกระทบ แต่เราก็ไม่สามารถจ่ายชดเชยให้ได้ โดยยืนยันว่าเราจะลงทุนตรงนี้เอง พร้อมจะให้ส่วนแบ่งรายได้กับ รฟม.เพิ่มขึ้นด้วย ถ้าผู้โดยสารเพิ่มขึ้น แต่ถ้า รฟม.ไม่รับเงื่อนไขก็ไม่เป็นไร อยู่ที่ รฟม.เป็นผู้ตัดสินใจ”
นายสุรพงษ์ ยังกล่าวด้วยว่า ข้อเสนอพิเศษที่บีเอสอาร์เสนอไปในการประกวดราคานั้น มีการระบุถึงข้อเสนอพิเศษเรื่องการลงทุนก่อสร้างส่วนต่อขยายไว้แล้ว แต่ถือเป็นเงื่อนไขที่ รฟม.จะพิจารณาว่ารับไว้หรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่ รฟม.ต้องตัดสินใจ อีกทั้งในสัญญาลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองยังระบุไว้ด้วยว่าการพิจารณาก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีเหลืองจะต้องดำเนินการแล้วเสร็จก่อนเปิดให้บริการเส้นทางหลัก ซึ่งมีกำหนดเตรียมเปิดในปี 2564 หากพิจารณาแล้วเสร็จไม่ทัน ก็จะต้องยกเลิกข้อเสนอดังกล่าว
ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า กรณีของการเจรจาพัฒนาส่วนต่อขยายสายสีเหลือง เบื้องต้นได้มอบให้เอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าทั้ง 2 โครงการ คือ บีเอสอาร์ และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีอีเอ็ม) เจรจาผลกระทบร่วมกัน ดังนั้น รฟม.ยังอยู่ระหว่างรอรับฟังข้อสรุปของทั้ง 2 ฝ่าย
รายงานข่าวจาก รฟม.ระบุว่า ผลการศึกษาประเมินตัวเลขผู้โดยสารที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปิดให้บริการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเหลือง พบว่าผู้โดยสารสายสีน้ำเงินจะลดลงประมาณ 6,000 คนต่อวัน ณ ปีแรกที่สายสีเหลืองต่อขยายเปิดให้บริการ