งบปี 64 แจงสภาวาระแรกวันนี้ พท.ชี้เสี่ยงภาวะล้มละลายทางการคลัง

งบปี 64 แจงสภาวาระแรกวันนี้ พท.ชี้เสี่ยงภาวะล้มละลายทางการคลัง

นายกยันใช้งบ 64 คุ้มค่า-ยึดข้อกฎหมาย เตรียมแจงสภาวาระแรกวันนี้ ด้านเพื่อไทยติวเข้มทีมอภิปราย ชำแหละไร้วิสัยทัศน์ เสี่ยงภาวะล้มละลายทางการคลังทั้งระยะสั้น และระยะยาว ขณะที่ปชป.ลุยเสนอแก้รธน.รื้อระบบเลือกตั้ง-อำนาจส.ว.

“อดีตขุนคลัง”หวั่นล้มละลาย

ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย อดีตรมว.คลัง กล่าวว่า เมื่อเห็นเอกสารงบประมาณปี 2564 ตนไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องปล่อยให้มีการเขียนงบประมาณออกมาเช่นนี้ได้อย่างไร ตนอยากเรียนขอร้อง ชวนให้พวกท่านไม่รับหลักการ  เพราะเป็นการจัดทำงบประมาณที่ตั้งอยู่บนความประมาทเป็นอย่างยิ่ง และอาจจะนำประเทศไปสู้ภาวะล้มละลายทางการคลังทั้งระยะสั้น และระยะยาว 

ดังนั้น เป็นไปได้ไหมที่เราจะพิจารณางบฯเหมือนนี่เป็นฟางเส้นสุดท้ายของประเทศ เพราะเรามีรายจำประจำที่รออยู่ทั้งในปัจจุบัน และอนาคตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การจัดงบฯรายจ่ายประจำที่ไม่ใช่รายจ่ายประจำที่แท้จริงอยู่ในงบฯอย่างมากมาย เป็นการสร้างภาระ และลดความพร้อมในการสามารถกู้เงินเพื่อชดเชยงบฯขาดดุลในอนาคตได้ ดังนั้น ตนขอให้ท่านได้โปรดพิจารณารายละเอียดในเอกสาร ทั้งนี้ เรายังเสนอว่าควรจัดงบประมาณขาดดุล แต่ปริมาณที่ขาดดุลควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม และสามารถควบคุมได้ และควรเผื่อไว้สำหรับปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น

ล็อกเป้าชำแหละปัญหาเศรษฐกิจ

ส่วนนายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) เปิดเผยว่า แนวทางการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณพ.ศ.2564 ของฝ่ายค้านจะเน้นไปที่ปัญหาสภาพเศรษฐกิจ เพื่อให้รัฐบาลชี้แจงว่ารัฐบาลจะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างไร และการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลจะสามารถตอบโจทย์ประเทศไดหรือไม่ ขณะเดียวกัน ฝ่ายค้านจะมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลด้วยว่าการบริหารประเทศในเวลานี้ควรจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง

“ประชาชนรอคอยความหวัง เพราะความอยู่รอดของประชาชนก็หวังพึ่งจากงบประมาณก้อนนี้ ซึ่งประชาชนจะหวังได้หรือไม่ ฝ่ายค้านจะอภิปรายต่อไป” นายสุทิน กล่าว

ปชป.ลุยเสนอรื้อรัฐธรรมนูญ

ขณะที่นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงแนวทางการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560ของพรรคประชาธิปัตย์ ว่า พรรคยึดเรื่องดังกล่าวเป็นนโยบายหลักของพรรคตั้งแต่เริ่มมีการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งการแก้ไขไม่ได้มองแต่ระบบการเมือง และระบบการเลือกตั้งเท่านั้น แต่พรรคยังคำนึงถึงเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนที่ขาดหายไปจากรัฐธรรมนูญ 2550 ด้วย การเลือกตั้งที่ผ่านมาสร้างปัญหาหลายส่วน เพราะเป็นไปได้อย่างไรที่เรามีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะมีกระบวนการนับคะแนนด้วยวิธีการใด โดยอ้างว่าใช้วิธีจัดสรรปันส่วนผสม และยังระบุหลักการว่าไม่ให้มีคะแนนเสียงตกน้ำ แต่ปรากฏว่าแต่ละพรรคก็ยังมีคะแนนตกน้ำ และสัดส่วนส.ส.พึงมีก็บิดเบี้ยวไปหมด 

ส่วนที่บอกว่ารัฐธรรมนูญ 2560เป็นฉบับปราบโกง แต่หากดูมาตรา 236 เรื่องการถ่วงดุลระหว่างองค์กรอิสระกับฝ่ายการเมือง แต่กลับมีการระบุว่า หากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กระทำผิดให้ ส.ส. ส.ว. หรือสมาชิกของทั้งสองสภา เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 กล่าวหาป.ป.ช. แต่ให้ยื่นต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้ใช้อำนาจวินิจฉัยว่าควรส่งศาลฎีกาหรือไม่ ซึ่งการกำหนดแบบในอนาคตเราไม่สามารถคาดหวังกับตัวบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาได้

“เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ยากที่สุด เราก็อยากทำให้เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขง่ายก่อน อำนาจของส.ว.ในการที่จะมาระบุว่า ให้ความเห็นชอบในวาระ 1 - 2 ในจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 อันนี้เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน ดังนั้น เมื่อเราปลดล็อกมาตรานี้ได้ก็จะทำให้เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ง่ายตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชน ” นายราเมศ กล่าว