background-default

วันอังคาร ที่ 26 พฤศจิกายน 2567

พณ. ชี้ เงินเฟ้อ มิ.ย. ติดลบ 1.57%

พณ. ชี้ เงินเฟ้อ มิ.ย. ติดลบ 1.57%

"พาณิชย์" เผยเงินเฟ้อมิ.ย. 2563 ติดลบ 1.57% แต่เป็นอัตราติดลบชะลอตัวลงจากกำลังซื้อเริ่มดีขึ้น หลังคลายล็อกดาวน์หลายกิจกรรมเศรษฐกิจ พร้อมหั่นเป้าเงินเฟ้อทั้งปีติดลบ 1.1%

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 63 น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน มิ.ย. 2563 ลดลง 1.57% เทียบจาก มิ.ย.2562 แต่เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 2563 ขยายตัว 1.56% โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.) เงินเฟ้อเฉลี่ยหดตัว 1.13%

"สถานการณ์เงินเฟ้อเริ่มดีขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยที่รัฐบาลได้ประกาศออกมาเป็นระยะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยที่ถูกจำกัดในช่วงก่อนหน้าเริ่มปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ ทั้งการค้าปลีก การคมนาคม-ขนส่ง และการท่องเที่ยวสอดคล้องกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจหลายตัวที่มีทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างรวมทั้งเครื่องชี้ด้านการบริโภคเอกชนซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าสถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อน่าจะสามารถกลับเข้าสู่ทิศทางปกติได้แบบค่อยเป็นค่อยไป"

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 3 โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ค. 2563 น่าจะเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดของปี ทำให้อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 3 และช่วงที่เหลือของปี 2563 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์โควิด-19 ที่น่าจะเริ่มผ่อนคลายลง ส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการบริโภคสินค้าและบริการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งราคาพลังงานมีแนวโน้มทรงตัวในระดับที่สูงกว่าไตรมาสที่ 2 จากข้อตกลงของกลุ่ม OPEC ขณะที่ภัยแล้งยังคงเป็นประเด็นที่ส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิด

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจในสถานการณ์ไม่ปกติที่ยังฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ และอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน ทำให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มต่ำกว่าศูนย์ และเฉลี่ยทั้งปีหดตัว โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2563 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์จากเดิมติดลบ 0.2-1% ค่ากลางอยู่ที่ลบ 0.6% เป็นลบ 0.7-1.5% ค่ากลางลบ 1.1%