เยียวยาเร่งด่วนพนักงานองค์การค้าของสกสค.ถูกเลิกจ้าง
บอร์ดองค์การค้าของสกสค. เห็นชอบเยียวยาเร่งด่วนพนักงานถูกเลิกจ้าง 961 คน จ่ายทันทีคนละ 1 แสนบาท ย้ำทุกคนยังมีสิทธิ์เต็มที่ในการฟ้องร้อง ระบุเหตุหนี้สะสมไม่เกี่ยวกับทุจริต ส่วนแผนการพิมพ์ปี 64 เป็นหน้าที่ของผอ.คนใหม่
วันนี้ (3 ก.ค.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) วาระพิเศษ ว่าที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแนวทางในการเบิกจ่ายค่าชดเชยบางส่วนให้กับพนักงานองค์การค้าที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 961 คน เป็นจำนวนเงินคนละ 100,000 บาท
โดยเจ้าหน้าที่ต้องเซ็นเอกสารบันทึกการรับเงินเยียวยาจากการเลิกจ้างเป็นพนักงานองค์การค้าของสกสค .ได้ตั้งแต่วันนี้ (3 ก.ค.2563) เป็นต้นไป โดยไม่ต้องรอเบิกจ่ายในเดือนก.ค.ตามวงรอบบัญชีเงินเดือน ซึ่งถ้าไม่เซ็นเอกสารดังกล่าวก็จะเสียสิทธิ์ในการรับเงินเยียวยาเร่งด่วนทันที แต่สามารถรับเงินจำนวนดังกล่าวในรอบชดเชยเดือนก.ค.นี้
“ในการดำเนินการครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการยุบองค์การค้าของสกสค. แต่เป็นการฟื้นฟูองค์กร ให้มีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ เนื่องจาก 18ปีที่ผ่านมา องค์การค้ามีผลขาดทุนสะสมมากกว่า 6.7 พันล้านบาท และหากไม่ดำเนินการในลักษณะนี้ก็จะทำให้องค์การค้าของสกสค. ขาดทุนสะสมเพิ่มไปกว่าหมื่นล้านบาท เพราะผลกำไรมีไม่เท่ารายจ่าย และถึงแม้ว่าองค์การค้าของสกสค.จะได้กำไรจากการจัดพิมพ์หนังสือ 35 ล้านเล่มในปีที่ผ่านมา แต่กำไรก็ยังต่ำกว่าเงินเดือนที่จะต้องเสียประมาณ 40 ล้านบาทต่อเดือน”นายประเสริฐ กล่าว
ปลัดศธ. กล่าวต่อว่าสำหรับการจ่ายค่าชดเชยจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท เต็มจำนวนตามกฎหมายกำหนด โดยใช้เงื่อนไขอายุการทำงานและเงินเดือนล่าสุดเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา โดยกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่มีอายุงานมากกว่า 20 ปี ขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชยรวม 400 วัน หรือประมาณ 13 เดือน และกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่มีอายุงานต่ำกว่า 20 ปี จะได้รับเงินชดเชย 300 วัน หรือประมาณ 10 เดือน รวมถึงจะได้เงินบำเหน็จรวม 4 ล้านบาทเศษ
โดยผู้ที่ได้รับต่ำสุดจะได้รับไม่น้อยกว่า 5 แสนบาท ซึ่งการชดเชยโดยรวมในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่องค์การค้าฯ จะได้รับมากกว่าพนักงานบริษัทเอกชนทั่วไปที่มีการเลิกจ้าง นอกจากนั้นจะได้เงินในส่วนของค่าขยันในการมาทำงานในช่วงพักร้อนอีกด้วย ดังนั้น พนักงานองค์การค้าของสกสค.ที่ถูกเลิกจ้างทั้ง 961 คน จะได้รับทั้งเงินชดเชยตามกฎหมาย เงินบำเหน็จ และเงินค่าขยันร่วมด้วย
นายธนพร สมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสกสค.และโฆษกคณะกรรมการ สกสค. กล่าวว่าเนื่องจากขณะนี้มีกระแสการบิดเบือนข้อมูลเรื่องการเซ็นเอกสารเพื่อขอรับเงินเยียวยาเร่งด่วน ว่าถ้าหากมีการเซ็นแล้วจะไม่สามารถดำเนินการฟ้องร้องสกสค.ได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ เพราะบันทึกการรับเงินฉบับนี้ ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า เงินช่วยเหลือเยียวดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าชดเชยบางส่วนที่จะได้รับรวมทั้งเงินเดือน หรือเงินบำเหน็จ หรือเงินอื่นใดที่มีสิทธิ์ได้รับจากองค์การค้าของสกสค.
องค์การค้าของสกสค.สามารถนำเงินดังกล่าวไปหักกลบหนี้กับค่าชดเชย และเงินอื่นใดที่ข้าพเจ้า พึงจะได้รับ และในหนังสือดังกล่าวจะไม่มีการระบุว่าเสียสิทธิ์ในการฟ้องร้องทางกฎหมาย ดังนั้น หากพนักงานเซ็นเอกสารดังกล่าวก็ไม่เสียสิทธิ์หากจะดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมายในภายหลัง และที่ให้เซ็นเพื่อเป็นการหักกลบหนี้เท่านั้น ทั้งนี้ หากพนักงานคนใดต้องการรับเงินเยียวยาในส่วนนี้สามารถติดต่อไปยังฝ่ายบุคคลได้ทันที
ทั้งนี้ สำหรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง 961 รายนั้น มีอายุงานโดยเฉลี่ย 25 ปี 5 เดือน และมีเงินเดือนโดยเฉลี่ยเดือนละ 31,287 บาท ซึ่งการพิจารณาค่าชดเชยครั้งนี้ ทาง สกสค. ต้องใช้เม็ดเงินกว่า 423 ล้านบาทเศษ และเมื่อรวมกับค่าบำเหน็จของเจ้าหน้าที่จำนวน 861 ล้านบาทเศษแล้ว ต้องใช้จำนวนเงินโดยรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 1,285 ล้านบาท และยังคงสิทธิในการพิจารณาค่าการทำงานในวันพักร้อน ซึ่งอยู่ระหว่างการคิดคำนวณเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งทางองค์การค้าฯ ต้องกู้ยืมเพื่อมาดำเนินการในการจ่ายค่าชดเชยครั้งนี้
“การเลิกจ้างพนักงานครั้งนี้ ผมขอยืนยันว่าสาเหตุหลักเกิดจากขาดสภาพคล่องและการเป็นหนี้สะสมจากองค์การค้า ไม่ใช่มาจากเรื่องทุจริต ซึ่งหากคนใดมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตขององค์การค้าของสกสค. ผมยินดีที่จะรับข้อมูลทั้งหมด”นายธนพร กล่าว
ด้านนายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่าเรื่องมูลเหตุขาดทุนขององค์การค้าของสกสค. 18 ปีนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้องค์การค้าของสกสค.เป็นองค์กรผูกขาดในการจัดพิมพ์หนังสือเรียน และอื่นๆ ซึ่งทำให้ผลประกอบการดีมาตลอด จนกระทั่งมีพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติพ.ศ.2542 กำหนดให้การจัดพิมพ์หนังสือดำเนินการได้อย่างเสรี ส่งผลให้เอกชนเข้ามาร่วมการแข่งขัน
ขณะเดียวกันศักยภาพขององค์การค้าของสกสค.เองก็ไม่สามารถสู่เอกชนได้ ทั้งในด้านนวัตกรรมในการพิมพ์ เครื่องจักร และอื่นๆ ทำให้องค์การค้าของสกสค.ขาดทุนมาตลอด แต่ที่พนักงานองค์การค้าของสกสค.ไม่ได้รับผลกระทบ ได้รับเงินเดือนอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อองค์การค้าของสกสค.ขาดสภาพคล่องก็จะไปกู้ยืมเงินจากสกสค.ซึ่งเป็นองค์กรแม่
ขณะนี้องค์การค้าของสกสค.เป็นหนี้สกสค.รวมแล้วประมาณ 3,400 ล้านบาท โดยในประเด็นดังกล่าว ทำให้สกสค.ถูกสมาชิกยื่นคำร้องสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.)เพื่อขอตรวจสอบการใช้เงิน ดังนั้น สกสค.จึงต้องหาทางออกในเรื่องดังกล่าว
นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่าสำหรับแนวทางเลือกในการบริหารงานองค์การค้า 3 แนวทาง คือ 1.การหยุดกิจการ 2.ดำเนินกิจการเช่นเดิมต่อไป และ 3.การปรับองค์กรด้วยลดจำนวนพนักงาน ซึ่งในแนวทางแรก การหยุดกิจการ ทำให้สกสค.จะสูญเงินทันที 5000 ล้านบาท เพราะหนี้ที่สกสค.ในฐานะนิติบุคคลขององค์การค้า ฯ ยังคงต้องรับผิดชอบในหนี้ 6,700 ล้านบาททั้งหมด แต่จากมูลค่าทรัพย์สินขององค์การค้า ฯ เช่น ที่ดิน เป็นต้น ได้เพียง 3,000 กว่าล้านบาท
ส่วนแนวทางที่สอง หากยังคงเดินหน้ากิจการต่อไปก็จะเป็นการเพิ่มหนี้สูงถึง 1 หมื่นล้านบาทในระยะเวลาอันใกล้ นั่นหมายความว่า สกสค.ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด และมีครูทั่วประเทศที่นำเงินมาฝากไว้ จะได้รับผลกระทบจากยอดหนี้ที่สูงมากขึ้น ดังนั้น แนวทางที่3 การปรับองค์กรด้วยการลดจำนวนพนักงาน จึงเหมาะสมที่สุดเพื่อให้องค์กรยังคงอยู่ และคัดสรรบุคคล คิดแผนกลยุทธ์ ปรับทิศทางการดำเนินงาน ให้สามารถดำเนินกิจการ และสามารถแข่งขันในตลาดได้ต่อไป
ทั้งนี้ ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่องค์การค้าไม่ได้เงินเดือนในเดือนมิ.ย.นั้น เนื่องจากบอร์ดองค์การค้าของสกสค.เห็นว่าควรจะรับเงินชดเชยรายเดือนในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จากกองทุนประกันสังคม แต่ในเดือนเม.ย.-พ.ค.ซึ่งเกิดโควิด-19 แต่พนักงานได้รับเงินเดือน เพราะองค์การค้าของสกสค.มีมติที่จะจ่ายเงินให้พนักงานเอง จำนวนร้อยละ 75
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการเลิกจ้างพนักงานและมีการเกษียณอายุของพนักงาน จะส่งให้ต่อการผลิตหนังสือเรียนในปีการศึกษา 2564 หรือไม่นั้น นายสมบูรณ์กล่าวว่าเรื่องดังกล่าว เป็นหน้าที่ของผอ.องค์การค้าของสกสค.คนใหม่ ที่ต้องนำเสนอแผนงาน การบริหารจัดการองค์การค้าแต่เท่าที่มีการประเมินเบื้องต้น คาดว่าจะใช้คนบริหารจัดการกระบวนการจัดพิมพ์หนังสือ 124 คน
ในจำนวนดังกล่าวจะมีการเปิดรับหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแผนการดำเนินงานของผอ.คนใหม่ ซึ่งการจ้างพนักงานหลังจากนี้คงต้องปรับเงินเดือน สวัสดิการใหม่ให้เหมาะสมกับสถานะขององค์การค้าของสกสค.ในขณะนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม การเปิดรับพนักงานขององค์การค้าของสกสค.หลังจากนี้ ไม่ได้สนใจว่าจะเป็นใครทุกคนมีสิทธิ์สมัครได้ แต่ต้องยอมรับตามกติกาใหม่ทั้งหมดขององค์การค้าของสกสค.
“การดำเนินการเลิกจ้างพนักงานในครั้งนี้ เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายทั้งหมด รวมถึงคำสั่งดังกล่าว ซึ่งถือว่ามีการประกาศล่วงหน้า 30 วันตามกฎหมาย ดังนั้น หากสหภาพแรงงานองค์กรคุรุสภาจะไปฟ้องร้องก็สามารถดำเนินการได้ตามสิทธิ์ แต่หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองกลุ่มคนที่ฟ้องก็จะยังคงไม่ได้เงินชดเชย เงินบำเหน็จและเงินค่าขยัน แต่จะได้เป็นเพียงเงินเดือนในแต่ละเดือนแทน”นายสมบูรณ์ กล่าว