'เสี่ยยักษ์' เล็งขายทำกำไร 'STGT'
“เสี่ยยักษ์” เผยไล่ช้อนหุ้น “ศรีตรังโกลฟส์” ไว้อื้อ ตั้งแต่ก่อนเข้าตลาดหุ้น มั่นใจผลดำเนินงานเด่นหลังจากราคาสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นราว 50% จากระดับปกติ พร้อมยอมรับอาจเทขายทำกำไรหากราคาพุ่งต่อเนื่อง ขณะ ราคาหุ้น 2 วัน กระฉูดกว่า 100%
ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT บริษัทย่อยของ บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี หรือ STA ซึ่งเพิ่งจะเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา หลังจากบริษัทขายหุ้นไอพีโอที่ราคา 34 บาท ก่อนหน้านี้ ล่าสุดราคาได้พุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 68.50 บาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 101.4% จากราคาไอพีโอ ภายในเวลาเพียง 2 วันทำการ
ทั้งนี้ จากรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ล่าสุด ปรากฏชื่อของ นายวิชัย วชิรพงศ์ นักลงทุนรายใหญ่ที่รู้จักกันในนาม “เสี่ยยักษ์” ร่วมถือหุ้นในสัดส่วน 1.55% หรือ 22.2 ล้านหุ้น โดยเสี่ยยักษ์ เปิดเผยว่า ในช่วงที่ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET) ลดลงไปถึงระดับ 1,000 จุด เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ขณะนั้นได้รับการเสนอขายหุ้นไอพีโอของ STGT มาจำนวนหนึ่ง และได้ตัดสินใจรับซื้อเอาไว้
“ในช่วงที่ตลาดลงหนัก ขณะนั้นผู้ที่ดูแลการขายหุ้นไอพีโอของ STGT รู้แล้วว่าจะต้องทำการขายหุ้น แต่ด้วยภาวะตลาดที่ไม่ดีนัก ทำให้กองทุนต่างประเทศยังไม่ค่อยมั่นใจนัก ก็เลยได้ออฟเฟอร์ส่วนหนึ่งของไอพีโอนี้ และเมื่อลองศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ประกอบกับภาวะตลาดที่เริ่มกลับมาดี และพอร์ตลงทุนยังว่างอยู่ จึงได้ซื้อหุ้นก่อนที่จะเข้าตลาดเพิ่มอีกราว 9 ล้านหุ้น ที่ราคา 40-46 บาท และหลังจากหุ้นเข้าเทรดวันแรก ได้เข้าซื้อเพิ่มอีก 4 ล้านหุ้น”
โดยภาพรวมแล้ว มีการวิเคราะห์กันว่าผลประกอบการของ STGT ในปีนี้น่าจะโดดเด่น หนุนจากราคาขายสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในแต่ละเดือน ทำให้ภาพรวมทั้งปีนี้ ราคาขายเฉลี่ยของถุงมือยาง ซึ่งเป็นสินค้าหลักของบริษัท น่าจะปรับเพิ่มขึ้นได้ราว 50% จากราคาปกติ (ด้วยผลของความต้องการภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19)
เสี่ยยักษ์ มองว่า แนวโน้มกำไรของ STGT ในปีนี้ อาจจะปรับขึ้นไปได้ถึงระดับ 4 พันล้านบาท จากปัจจุบันที่ตลาดยังประเมินกันไว้เพียงกว่า 3 พันล้านบาท โดยในช่วงไตรมาส 2 นี้ ก็คาดหวังว่าจะเริ่มเห็นกำไรของบริษัทขยับขึ้นมาในระดับ 1.2-1.3 พันล้านบาท ทั้งนี้เป็นเพียงการคาดการณ์ส่วนตัวเท่านั้น
“ในตอนนี้คงจะรอดูก่อนว่าผลประกอบการของ STGT จะเป็นอย่างไร ตัวเลขที่พูดถึงเป็นเพียงการคาดการณ์ส่วนตัว เพราะเราเองไม่ได้เป็นเจ้าของ และที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยพบกับเจ้าของบริษัทเลย ส่วนจะถือลงทุนยาวหรือไม่นั้น ส่วนหนึ่งคงขึ้นอยู่กับราคาหุ้นด้วยว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าราคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถ้าเป็นคุณ จะขายหรือไม่"
อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นในระดับปัจจุบัน ทำให้ค่า P/E ของบริษัทพุ่งเกินระดับ 100 เท่า เป็นที่เรียบร้อย หลังจากที่ ณ ราคาปิดที่ 60.50 บาท เมื่อ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา ค่า P/E ของ STGT พุ่งขึ้นไปถึง 96.06 เท่า
บล.ทิสโก้ ระบุว่า จากการวิเคราะห์มูลค่าที่เหมาะสมเบื้องต้นของ STGT เราประเมินมูลค่าที่เหมาะสมที่ 42-52 บาท เทียบกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจเดียวกันในต่างประเทศได้แก่ TOPG, KRI, HART และ SUCB ที่มาเลเซีย โดยมี P/E เฉลี่ยที่ 42 เท่า โดยเรามองว่า STGT ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการเครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้นอีกทั้งยังมีบริษัทลูกที่ทำหน้าที่ขายถุงมือทั้งในสหรัฐ และจีนทำให้เรามองว่าจนกว่าสถานการณ์ระบาดจะควบคุมได้บริษัทจะมีการดำเนินงานที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์เริ่มดีขึ้นในอนาคตอาจส่งผลกระทบต่อยอดขาย และอัตรากำไรของบริษัทได้
ด้าน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า STGT เป็นบริษัทผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและเป็นอันดับ 3 ของโลก ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตถุงมือยาง 32,619 ล้านชิ้นต่อปี โดยกำลังการผลิตเติบโตเฉลี่ย 40.7% ในช่วงปี 2560-ไตรมาส 1 ปี 2563 โดยเราประเมินกำไรสุทธิปี 2563 ที่ 2,814 ล้านบาท เติบโต 344% จากปีก่อน จากสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกทำให้ความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มสูงขึ้นมาก
ทั้งนี้ เราประเมินว่าอัตราการใช้กำลังการผลิต (utilization rate) จะเพิ่มขึ้นเป็น 95% ในปีนี้ จาก 89% ในปี 2562 นอกจากนี้ STGT ยังมีข้อได้เปรียบคู่แข่งขันด้านต้นทุนการขนส่งวัตถุดิบจากทำเลที่ตั้งโรงงานที่อยู่ใกล้กับโรงงานผลิตน้ำยางข้น รวมถึงโอกาสในการขยายตลาดไปยังประเทศเกิดใหม่ โดยเราประเมินราคาเป้าหมายปีนี้ที่ 47 บาท อิง P/E ที่ 23.9 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 42.4 เท่า ขณะที่ STGT มี ROE ที่ 25.5% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 18.4%