สี่ยุคของ ‘เสิ่นเจิ้น’ ที่ก้าวสู่การเป็น ‘ซิลิคอน วัลเลย์’
ก้าวใหม่ของ "เสิ่นเจิ้น" ในวันนี้คือ The Silicon Valley of Hardware เมืองที่ก้าวสู่สากลเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม โดยเฉพาะด้านฮาร์ดแวร์ สะท้อนให้เห็นถึงการมุ่งมั่นในการเปลี่ยนผ่านจากภาพจำแหล่งก็อบปี้สินค้า
เสิ่นเจิ้นยุคแรกที่ทำการประมง ยุคสอง Tech Copycat และเปลี่ยนเป็นผลิตแบรนด์ตัวเองในยุคที่สาม ยุคที่สี่ เสิ่นเจิ้นกำลังก้าวสู่ "ซิลิคอน วัลเลย์"
ยุคแรกที่เมืองเสิ่นเจิ้นเปิดตลาดผลิตภัณฑ์ไอทีสู่โลกภายนอก ผู้คนจะเรียกกระบวนการผลิตจากที่นี่ว่า “Shanzhai” ผลิตสินค้าที่รวดเร็ว แต่สินค้าสิบชิ้นที่ผลิตอาจมีคละกันทั้งของจริงและของก็อป บางชิ้นไม่สามารถใช้งานได้ กล่าวกันว่าสินค้าที่ใช้เวลาผลิตในประเทศตะวันตก 12-18 เดือน จะผลิตในสภาพแวดล้อมอย่าง Shanzhai เพียง 4-6 สัปดาห์
ตัวอย่างสินค้า Shanzhai ที่ขึ้นชื่อ คือ การก็อปปี้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อดังๆ สมัยนั้นอย่างโนเกีย ซัมซุง และแอ๊ปเปิ้ล ขณะที่สินค้าเหล่านี้แฝงไปด้วยนวัตกรรมบางอย่างที่สุดท้ายแบรนด์ดังๆ ต้องทำตามอย่าง เช่น Dual-Sim ในโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
ยุคต่อมาของ เสิ่นเจิ้น คือยุคการปรับเปลี่ยน ที่มีปัจจัยหลักสามด้าน คือ ผู้คนมีความสามารถมากขึ้น มีค่าแรงที่สูงขึ้น และรัฐบาลจีนเริ่มจริงจังในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์มากขึ้น จากการเข้าสู่ข้อตกลงขององค์กรการค้าโลก ทำให้บริษัทในเสิ่นเจิ้นที่ประสบความสำเร็จ เริ่มสร้างผลิตภัณฑ์และแบรนด์ของตัวเอง
ยุคที่สามของเสิ่นเจิ้นเกิดขึ้นหลังประธานาธิบดีสีจิ้นผิงมาเยี่ยมในปี 2558 และเริ่มจัดตั้ง Maker Space กว่าหนึ่งพันแห่ง เพื่อสร้างฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ แทนการก็อปปี้สินค้าแบบเดิมๆ แต่สุดท้าย Maker Space ก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า Co-working Space ทั่วๆ ไป และส่วนใหญ่ปิดตัวลงหลังไม่ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ
ปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่สี่ของเมืองเสิ่นเจิ้น คือ การก้าวสู่สากล (Globalization Era) พร้อมด้านนวัตกรรมที่แข่งในตลาดโลกได้ และเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ ได้มากมาย เป็นศูนย์กลางนวัตกรรม โดยเฉพาะด้านฮาร์ดแวร์
อาจกล่าวว่าเมืองเสิ่นเจิ้น คือ The Silicon Valley of Hardware ที่มีนวัตกรรมเกิดขึ้นมากมาย ทั้งหุ่นยนต์ โดรน อุปกรณ์แวร์เอเบิล อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ และอุปกรณ์ไฮเทค อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
ความสำเร็จของเมืองเสิ่นเจิ้น มาจากการมีบุคลากรที่มีคุณภาพจำนวนมาก มีคนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีมากถึง 37.1% สูงกว่าปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ ทำให้สามารถสร้างงานวิจัยและพัฒนาได้จำนวนมาก โดยตั้งแต่ปี 2552 ถึงปี 2557 พบว่า 90% ของบริษัทในเมืองเสิ่นเจิ้นลงทุนทางด้านการวิจัยและพัฒนา
ขณะที่งบประมาณงานวิจัยและพัฒนาของเมืองเสิ่นเจิ้นคิดเป็น 4.2% ของจีดีพี สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศจีนที่ 2% และ 2.5% ที่เป็นค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศด้านนวัตกรรม เสิ่นเจิ้น ยังเป็นเมืองที่มีสิทธิบัตรสูงที่สุดในประเทศจีน และพบว่าการยื่นจดสิทธิบัตรกว่า 51.8% ของจีนในปี 2559 มาจากเสิ่นเจิ้น
วันนี้วิกฤติโควิด-19 ที่ประเทศจีนแก้ปัญหาการปัองกันโรคระบาดได้ดีกว่าหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยุโรป ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของเมืองเสิ่นเจิ้นว่า จะก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก จึงไม่น่าแปลกใจถ้าอนาคตอันใกล้ เมืองเสิ่นเจิ้นกลายเป็นซิลิคอน วัลเลย์ตัวจริงแซงหน้าอีกหลายประเทศทั่วโลก