'กมธ.ดีอีเอส' เตรียมหารือข้อร้องเรียน 'อีสปอร์ต' กระทบเยาวชน เป็นปัญหาสังคม
“กมธ.ดีอีเอส” เตรียมหารือข้อร้องเรียน “อีสปอร์ต” กระทบเยาวชนเป็นปัญหาสังคม “กัลยา”ยันเข้าใจทุกฝ่ายไม่กีดกัน หนุนพัฒนาเป็นกีฬาให้ถูกต้องเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ
วันที่ 5 ก.ค. น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมกรรมาธิการฯ ในสัปดาห์หน้าว่า ในการประชุมมีวาระพิจารณาที่สำคัญคือข้อร้องเรียนของเครือข่ายคุ้มครองปกป้องเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ 80 กว่าองค์กร เพื่อเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงจากการใช้สื่อออนไลน์เพื่อเล่นเกมส์ ที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยขอให้สนับสนุนและผลักดันให้มีกฎหมายการกำกับดูแลเกม และการประกอบกิจการเกมเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน
โดยกรรมาธิการฯ ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง รวมทั้งนายกสมาคมอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย (TESF) ด้วย กรรมาธิการฯ เราเข้าใจถึงความห่วงใยของเครือข่ายเด็กและเยาวชน และเข้าใจในมุมของผู้อยู่ในวงการเกมหรือเรียกว่า "อีสปอร์ต" แน่นอนว่าสิ่งที่เราจะต้องมีการหารือร่วมกัน คือ มาตรการควบคุมเกม ที่จะต้องมีการพูดคุยกับผู้ที่ได้รับผลกระทบให้รอบด้านที่สุด เพื่อเป็นทางออกร่วมกันของทุกฝ่ายในการพิทักษ์เด็กเยาวชน และส่งเสริมเกมกีฬาอีสปอร์ตให้เติบโตอย่างถูกต้องในแนวทางที่ดีถูกต้อง
น.ส.กัลยา กล่าวว่า อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจการทำงานของกรรมาธิการฯ ในการเรียกผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจง เพื่อหาทางออกร่วมกัน กรรมาธิการฯ ไม่ได้ต้องการจะไปจำกัดสิทธิต่างๆ ในการเล่นเกม แต่เราต้องการทำให้เกิดแนวทางการสนับสนุนอีสปอร์ต เพื่อการกีฬาและเศรษฐกิจที่ถูกต้อง ให้เยาวชนหรือคนเล่นเกมได้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ไม่เป็นอันตรายหรือทำให้เด็กๆ เสียคน
ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการกีดกันอีสปอร์ต แต่ตรงนี้จำเป็นต้องได้คนที่เข้าใจและรู้จริง ทั้งเรื่องอีสปอร์ตและเรื่องเยาวชน เข้ามาช่วยกันให้ข้อมูลเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมอีสปอร์ตให้เป็นกีฬา ส่งเสริมให้เด็กเยาวชนได้เล่นเกมอย่างเป็นประโยชน์ ไม่กระทบต่อเด็กๆ ทั้งในเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพจิต หรือผลลบต่อการพัฒนาสติปัญญา ไม่ให้เป็นปัญหาสังคม ที่สำคัญหากเราส่งเสริมอย่างถูกต้องจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมากในอุตสาหกรรมอีสปอร์ต ที่ในระดับนานาชาติกำลังเติบโตอย่างมาก
"เรื่องการออกเป็นกฎหมายหรือไม่ต้องถามทุกฝ่ายให้รอบครอบก่อน ซึ่งเราอยากให้ทางสมาคมอีสปอร์ต ได้มีการกำกับดูแลควบคุมกันเองก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางสังคม แต่หากไม่สามารถควบคุมได้จริงๆ การออกกฎหมายถึงจะเป็นทางเลือกสุดท้าย ในการประชุมครั้งนี้คงยังไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องการออกกฎหมาย เราเพียงแค่อยากรู้ว่าทางสมาคมอีสปอร์ต มีมาตรการควบคุมอย่างไรบ้าง" น.ส.กัลยา กล่าว