สุดเจ๋ง!แชมป์เขียนโค้ดควบคุมหุ่นยนต์ผุ้ช่วยนักบินอวกาศ

สุดเจ๋ง!แชมป์เขียนโค้ดควบคุมหุ่นยนต์ผุ้ช่วยนักบินอวกาศ

เยาวชน ทีม ‘won-spaceY’ แชมป์ประเทศไทยเขียนโค้ด ภารกิจ ‘ควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศ’ รับตั๋วชิงแชมป์ระดับเอเชีย SPRC2020 ที่ญี่ปุ่น

จบลงไปแล้วกับ Space Flying Robot Challenge 2020 (SPRC 2020) รอบชิงแชมป์ประเทศไทยเพื่อเฟ้นหาตัวแทนไปร่วมชิงชัยระดับเอเชีย ณ ประเทศญี่ปุ่น ผลผู้ชนะคือทีม won-spaceY (วอนสเปซวาย) ที่โดดเด่นด้วยเรื่องการดึงเอาความถนัดทานด้านวิศวกรรม

โครงการแข่งขัน Space Flying Robot Programming Challenge 2020 รอบชิงแชมป์ประเทศไทยผู้จัดคือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์กรสำรวจอวกาศแห่งญี่ปุ่น หรือแจ็กซ่า (Japan Aerospace Exploration AgencyJAXA) องค์กรบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือนาซา (National Aeronautics and Space AdministrationNASA) และหน่วยงานพันธมิตร

159395636992

"จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช." เปิดเผยว่า การแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทยมีผู้ผ่านเข้ารอบทั้งสิ้น 20 ทีม จากผู้สมัครเข้าแข่งขัน 151 ทีม โจทย์การแข่งขันคือการเขียนโค้ด (Coding) เพื่อควบคุมแอสโตรบี (Astrobee) หุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศที่ปฏิบัติหน้าที่จริงบนสถานีอวกาศ ให้ทำการซ่อมแซมสถานีที่เกิดการชำรุดเนื่องจากอุกกาบาตพุ่งชน

โดยจะต้องปฏิบัติภารกิจให้แม่นยำและใช้เวลาน้อยที่สุด การแข่งขันจะตัดสินผลผู้ชนะจากผลการรันโค้ดที่ผิดพลาดน้อยที่สุด เพราะการทำงานบนอวกาศนั้นหากมีข้อผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อยอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตนักบินอวกาศได้ ดังวลีที่ Gene Kranz ผู้นำยาน Apollo 13 ลงจอดบนดวงจันทร์ได้กล่าวไว้ว่า “Failure is not an option.”

ตลอดระยะเวลาการแข่งขันกว่า 3 เดือน คณะผู้จัดรู้สึกประทับใจในความตั้งใจของเด็กและเยาวชนทุกทีมเป็นอย่างมาก ด้เห็นถึงการผสานศาสตร์ความรู้แบบบูรณาการ และยังได้เห็นถึงการพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 อย่างการคิดวิเคราะห์และการทำงานร่วมกันเป็นทีม

ผลการแข่งขันทั้งจากการเขียนโค้ดและสอบสัมภาษณ์ ทำให้ได้ผู้ชนะของประเทศไทย คือ ทีม won-spaceY ซึ่งประกอบด้วยนายตุลา ชีวชาตรีเกษม หรือตี้ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นายธีรโชติ เมืองจำนงค์ หรือเอิร์ธ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และนายสิรภพ เวสน์ไพบูลย์ หรือริว นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

159395636730

โดยทีมผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 25,000 บาท และได้รับโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์เอเชียกับประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก อีก 5 ประเทศ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ที่ Tsukuba Space Center ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนกันยายนนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทีม won-spaceY จะได้รับประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผลงานและการทำงานในอนาคต”

"ตุลา ชีวชาตรีเกษม"เล่าถึงจุดแข็งของทีมว่า won-spaceY เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเพื่อนคณะวิศวกรรมศาสตร์ต่างสาขา ที่มีประสบการณ์การทำงานและช่วยเหลือกันในการแข่งขันมาตั้งแต่สมัยมัธยมศึกษาตอนปลาย ด้วยความสามารถที่แตกต่างหลากหลายทั้งทางด้านเครื่องกล แมคคาทรอนิกส์ การคำนวณ และการเขียนโค้ด ทำให้การแข่งขันครั้งนี้สามารถแบ่งสรรหน้าที่ได้อย่างลงตัว คนหนึ่งพัฒนาสมการในการควบคุมการเคลื่อนที่ คนหนึ่งช่วยเสริมเรื่องการคำนวณที่แม่นยำ และอีกคนนำสมการที่ได้มาจัดเรียงเป็นโค้ดเพื่อสั่งการฮาร์ดแวร์ ทำให้ได้โค้ดที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบกว่าทีมอื่น

"ธีรโชติ เมืองจำนงค์" บอกเล่าเรื่องบรรยากาศในการแข่งขันว่า แม้การแข่งขันจะมีความกดดันสูงเพราะต้องแข่งกับอีก 150 ทีม แต่สิ่งที่ทีมได้เรียนรู้และสามารถทำได้ดีคือ การทำงานร่วมกันภายใต้ความกดดันให้มีความสุขและสนุกสนาน เพราะหากไม่สามารถรักษาบรรยากาศเหล่านี้ไว้ได้จะทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ และคนในทีมไม่อยากทำงานร่วมกันต่อ

นอกจากนั้นยังมีบรรยากาศดีๆ ที่เกิดขึ้นจากการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ร่วมกับทีมอื่นอีกด้วย เพราะทุกคนในทีมเชื่อเรื่อง Give and Take การที่ให้ไปก็อาจได้สิ่งดีๆ กลับมา เช่น ความรู้ใหม่ๆ หรือการพัฒนาต่อยอด ในอนาคตหลังจบการแข่งขันรอบชิงแชมป์เอเชียก็ตั้งใจจะทำคลิปเพื่ออธิบายโค้ดของทีมอย่างละเอียด เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันต่อไป

159395636729

"สิรภพ เวสน์ไพบูลย์" กล่าวว่า การแข่งขันโครงการนี้ทำให้ได้นำความรู้ความสามารถที่มีมาทดลองใช้และต่อยอดขึ้นไปอีก แม้จะต้องทำการแข่งขันภายใต้แรงกดดัน และยังมีอุปสรรคในการพบปะเพื่อทำงานร่วมกันเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด แต่ทุกคนในทีมก็ลงความเห็นว่าสามารถเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันช่วง 3 เดือนที่ผ่านได้ค่อนข้างดี และผลลัพธ์การแข่งขันก็ออกมาดีมาก

สำหรับรอบชิงแชมป์เอเชีย ตอนนี้ได้พัฒนาสมการเพื่อปิดช่องโหว่ที่ทำให้เกิดความผิดพลาดในรอบก่อนหน้าเรียบร้อยแล้ว และกำลังช่วยกันหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาโค้ดให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งตอนนี้ทุกคนในทีมนับวันรอไปแข่งขันที่ประเทศญี่ปุ่น โดยหวังว่าจะสามารถคว้าชัยชนะกลับมาประเทศไทยได้

159395637061

ร่วมส่งแรงใจให้ทีม won-spaceY ไปคว้าชัยในเวทีการแข่งขัน Space Flying Robot Programming Challenge 2020 รอบชิงแชมป์เอเชีย ที่ Tsukuba Space Center ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนกันยายนนี้ ติดตามการแข่งขันได้ที่ FacebookJaxaThailand และ NSTDA-สวทช.