“ดิจิทาซ”ผนึก“แฮนด์อัพ” พลิกโมเดลกู้รายได้เอสเอ็มอี
พิษสงโควิด-19 มีพลังทำลายล้างธุรกิจรุนแรงมาก เพราะครั้งนี้ “กวาดผู้ประกอบการทั้งกระดาน” ทั้งรายเล็กไปจนถึงรายใหญ่เดือดร้อนถ้วนหน้า ค้าขายไม่ได้ ยอดขายหดจากมาตรการ “ล็อกดาวน์” ธุรกิจ ผู้บริโภคซื้อสินค้าน้อยลง
เมื่อแบรนด์เล็กใหญ่เผชิญความยากลำยาก “ดิจิทัลเอเยนซี่” โดนห่างเลขอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นาทีนี้จึงต้องช่วย “กอบกู้” ผู้ประกอบการให้พ้นวิกฤติ “ดิจิทาซ” ดิจิทัล เอเจนซี่ในเครือ ปับลิซีส กรุ๊ป ประเทศไทย ที่มุ่งทรานส์ฟอร์มโมเดลเป็น “บิสสิเนส โซลูชั่น”ช่วยลูกค้าจริงๆมา 5 ปี แต่ยังไม่เป็นรูปร่างนัก จึงอาศัยจังหวะโควิดผนึก “แฮนด์อัพ เน็ตเวิร์ค” ลุยโปรเจค “มือดีเอสเอ็มอีดัง” ฟื้นธุรกิจให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่มีผู้สมัคร 140 ราย ผ่านด่านแรก 12 ราย ครอบคลุมธุรกิจบริการ-ค้าปลีก,อาหารและสิ่งแวดล้อม เพื่อเวิร์คช็อปต่อไป
ภารุจ ดาวราย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิทาซ จำกัด ฉายภาพสถานการณ์เอสเอ็มอีที่เดือดร้อนมีมาก เพราะช่วงโควิดยอดขายหายไป ทำให้ต้องปรับตัวเพื่อหาทางออกสู้วิกฤติ และกระจายเสี่ยงในระยะยาวด้วย
หนึ่งในโจทย์ที่เอสเอ็มอีเจอและต้องการแก้ไข คือการใช้สื่อออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพ เป็นปัญหาหรือ Pain point ใหญ่สุด ที่เหลือเป็นเรื่องการขยายช่องทางจำหน่ายสู่ออนไลน์ หลัวจากที่ผ่านมา “หน้าร้าน” ถูกปิดให้บริการ การโปรโมทสร้างการรับรู้แบรนด์ การสร้างโอกาสในการขาย(Leads) ที่สำคัญแปลงให้เป็น “ยอดขาย” ได้จริงๆ เพราะถือเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกบริษัทต้องการฟื้นรายได้กลับมายืนหยัดอีกครั้ง
ภารกิจครั้งนี้ ดิจิทาซ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการตลาด สื่อสารการตลาดด้านดิจิทัลให้แก่เอสเอ็มอี เพื่อให้ติดอาวุธพร้อมรบได้แกร่งขึ้น และหากสำเร็จไม่เพียงแค่เอสเอ็มอีที่กลับมาลืมตาอ้าปากได้ “ดิจิทาซ” ยังได้เรียนรู้การทำงานกับผู้ประกอบการเหล่านี้นำไปต่อยอดธุรกิจดิจิทัลเอเยนซี่ด้วย
“ประสบการณ์ที่ได้จะเปลี่ยนวิธีการทำงานของเรา เป็นการทุบโครงสร้างองค์กรให้มีโมเดลการทำงานแบบใหม” ภารุจย้ำ โดยการทำงานกับเอสเอ็มอี จำนวนคนราว 50% ขององค์กรถูกโยกมาเรียนรู้โมเดลใหม่ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ และซอยย่อยโปรเจคหนึ่งใช้คนทำงานราว 3-4 คน หากเทียบกับทำการตลาด สื่อสารการตลาดดิจิทัลให้แบรนด์ใหญ่ใช้ทีมงานหลักสิบราย
ยิ่งกว่านั้น การทำงานกับเอสเอ็มอีที่ “เจ้าของ” มี “อำนาจการตัดสินใจ” แบบเบ็ดเสร็จตั้งแต่ต้นถึงปลายน้ำ ทำให้การทำงานของทีมยังครบวงจรมากขึ้น จากเดิมทำงานกับลูกค้ารายใหญ่จะได้สัมผัสเพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น ครีเอทีฟ การสื่อสารการตลาด เป็นต้น
อีกผลบลัพธ์ที่ “ดิจิทาซ” ต้องการคือโครงการการทำงานของดิจิทัลเอเยนซี่จะต้องมีความรวดเร็ว(Agile) และเบา(Lean) มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การทำงานแบบเดิมที่ต้องเจรจากับลูกค้าที่มีมูลค่างานหลักสิบหรือร้อยล้าน จะถูก “ล็อก” ด้วยวิธีคิด กรอบการทำงานแบบเดิมๆ แต่โมเดลใหม่จะมีความยืดหยุดขึ้นด้วย เมื่อจบโปรเจคนี้ดิจิทาซ หวังมีเอสเอ็มอีมาเป็นลูกค้ามากน้อยแค่ไหน “ภารุจ” ยังไม่ตั้งเป้า แต่หวังเป็นจุดสตาร์ทที่ดี เพราะระลอกนี้จะชี้ชัดให้เอสเอ็มอีเห็น “กำไร” หรือผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่ามากขึ้น จากเดิมฉายภาพใช้เงินลงทุนทำแคมเปญการตลาด โฆษณา ฯ แปลงเป็น “ยอดขาย” ยังเป็นคำถามจนลูกค้าไม่กล้าควัก
เดิมเน้นช่วยธุรกิจเพื่อสังคม(Social Enterprise : SE) แต่เพราะโควิดกวาดธุรกิจพังทั้งกระดาน ทำให้ อังกูร ไชยปรีชาวิทย์ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แฮนด์ เน็ตเวิร์ค จำกัด ขันอาสาขยับมาช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีบ้าง และโปรเจคมือดีเอสเอ็มอี ยังต่างจากโครงการที่ผ่านมา เนื่องจากเจาะจงชัดจะช่วยเหลือด้านการตลาด การขายผ่าน “ดิจิทัล” ซึ่งเป็น “จุดอ่อน” ของธุรกิจขนาดเล็ก ที่ผ่านมาหลายรายพยายามจะทรานส์ฟอร์มตัวเองไปสู่โลกออนไลน์ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จและเผชิญอุปสรรคอยู่มาก
สำหรับเอสเอ็มอีที่ผ่านด่านแรกมาเวิร์คช็อป 12 ราย มียอดขายตั้งแต่หลัก “แสนบาท” ต่อเดือน จนถึงหลัก “ร้อยล้านบาท” ต่อปี ส่วนความช่วยเหลือในโครงการนี้ ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1.การช่วยวางกลยุทธ์การตลาดดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective Digital Marketing Strategy) 2.การแก้ปัญหาการตลาดอย่างสร้างสรรค์ (Creative Solution Initiative) และ 3.ทำให้การใช้เงินลงทุนบรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ (Optimized ROI) ทั้งหมดใชะระยะเวลา 8 สัปดาห์
“การทำโปรเจคนี้ ทำให้เราขยายขอบเขตการช่วยเหลือสู่เอสเอ็มอี จากเดิมเป็นธุรกิจเพื่อสังคม และยังเป็นครั้งแรกที่ทำงานร่วมกับอาสาสมัครทั้งองค์กร อีกประโยชน์ที่ได้ในการทำโครงการ หากเอสเอ็มอีที่เราช่วยสำเร็จ โมเดลดังกล่าวสามารถช่วยเหลือธุรกิจอื่นๆได้อีกด้วย”