เอกซเรย์คัดกรองโควิด-19 ด้วย AI ช่วยแพทย์ทำงานรวดเร็ว แม่นยำ

เอกซเรย์คัดกรองโควิด-19 ด้วย AI ช่วยแพทย์ทำงานรวดเร็ว แม่นยำ

การระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการพัฒนาและใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยีใหม่ๆ ทางด้านการแพทย์ การวินิจฉัย นำไปสู่การรักษาและควบคุมโรค ขณะเดียวกัน AI ถูกนำมามาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์โรคปอดอักเสบจากโควิด-19 เพื่อความรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น

แม้ประเทศไทยจะผ่านพ้นวิกฤตไปได้ แต่การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ มาตรการในการคัดกรอง ควบคุม ติดตาม ยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนและควบคุมในประเทศเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบในวงกว้าง การมองหาเทคโนโลยีเพื่อเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ คัดกรอง ติดตาม เฝ้าระวัง จึงถือเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ ทั้งนี้ หนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในด้านการแพทย์และสุขภาพ คือ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้วยความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลมหาศาล และความรวดเร็ว แม่นยำ ในการประมวลผลเชิงตรรกะ AI จึงสามารถสร้างประโยชน์ได้มากและแตกต่าง

159428364134

จากประเด็นดังกล่าว นำมาซึ่งการร่วมมือระหว่าง เครือโรงพยาบาลพญาไทและเครือโรงพยาบาลเปาโล หน่วยงานพันธมิตรภาครัฐ ภายใต้ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี และภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (จำกัด) , บริษัท เมลโลว์ อินโนเวชัน จำกัด และ JLK Inspection Korea PCL สนับสนุนทุนวิจัยโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) พัฒนาเทคโนโลยีชุด Portable Chest x-ray : CXR ภายใต้ โครงการปัญญาประดิษฐ์ สำหรับการวิเคราะห์ภาพเอ็กซเรย์ทรวงอก ในการตรวจคัดกรอง โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วยลดภาระของหน่วยงานและบุคลากรทางการแพทย์ ในการดำเนินงานช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19

159428363610

สำหรับ เทคโนโลยีชุด Portable Chest x-ray : CXR ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำ สามารถแปรผลวินิจฉัยจากวิเคราะห์ภาพเอ็กซเรย์ทรวงอกได้ราว 15 โรค ได้แก่ 1.วัณโรค(Tuberculosis) 2.ปอดอักเสบ(Pneumonia) 3.ปอดแฟบ (Atelectasis) 4.หัวใจโต(Cardiomegaly) 5.น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด (Effusion) 6.ฝ้าขาว(Infiltration) 7.เนื้องอก(Mass ) 8. ก้อนเนื้อเดี่ยว(Nodule) 9. ภาวะปอดรั่ว(Pneumothorax) 10.เงาขาวหนาทึบ(Consolidation) 11.ปอดบวม(Edema) 12. ถุงลมโป่งพอง(Emphysema) 13. พังผืด(Fibrosis)

14. เยื่อหุ้มปอดเป็นพังผืดหนา(Pleural thickening) และ 15. ไส้เลื่อนที่กระบังลม(Hernia) โดยใช้เวลาประมวลผลไม่ถึง 10 นาที ผ่านการรับรอง จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) จากประเทศเกาหลีใต้ โดย เอไอเอส ได้ให้การสนับสนุนการเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ ทั้งนี้ ในระยะแรก มีการวิจัยเพื่อประเมินประสิทธิภาพความแม่นยำของ AI ในการแปลผลเมื่อเทียบกับรังสีแพทย์ โดยได้รับความร่วมมือจาก โรงพยาบาลราชวิถี พบว่า AI สามารถช่วยแพทย์แปรผลได้รวดเร็ว มีความแม่นยำราว 90%

159428363976

ขั้นตอนต่อไป คือ การเข้าสู่กระบวนการยืนยันความแม่นยำ ระยะที่ 2 ได้แก่ แสกนจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 200 ราย และเทียบกับผลการตรวจด้วย RT-PCR และ ระยะที่ 3 คือการตรวจคัดกรองบุคลากรทางการแพทย์ บุคคลทั่วไป ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และไม่เสี่ยง (กลุ่มอาสาสมัคร) โดยได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นำผลมาแปรผลเทียบกับการตรวจทางอณูชีวิทยาหาเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 และจุลชีพก่อโรค มากกว่า 25,000 สายพันธุ์ที่ได้จากการ Swab จากผู้ติดเชื้อ เพื่อทดสอบความไวของระบบเพื่อยืนยันความแม่นยำ ของเทคโนโลยี AI  คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ และสามารถขยายผลสู่การใช้งานจริงเพื่อให้ประชาชนได้เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงขณะนี้อยู่ในกระบวนการขออนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 

159428363661

การต่อยอดในอนาคต “ดร.ประภาศรี เบญจศิริลักษณ์” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ ศูนย์เร่งรัดวิจัยและนวัตกรรมเอกชน เครือโรงพยาบาลพญาไท และเครือโรงพยาบาลเปาโล หัวหน้าโครงการวิจัย อธิบายว่า สามารถนำอุปกรณ์เหล่านี้เข้าไปช่วย ทั้งในโรงเรียน ห้างสรรพสินค้า หรืออาจจะผูกกับแพลตฟอร์มไทยชนะได้ สามารถคัดกรองได้มากขึ้น หรือในเชิงธุรกิจ ต่อไปทุกคนอาจจะสามารถเอ็กซเรย์ปอดของตัวเองปริ้นซ์ออกมาและนำผลไปโรงพยาบาล ตอบโจทย์ระบบสุขภาพในอนาคต

ด้าน โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งได้รับมอบหมายในการตรวจคัดกรองและรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ตามแนวทางการควบคุมโรคของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข “รศ.พิเศษ นพ.สถิตย์ นิรมิตรมหาปัญญา” นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานอายุรกรรมและหัวหน้างานนวัตกรรมทางการแพทย์โรงพยาบาลราชวิถี ระบุว่า เนื่องจากการแพร่ระบาดที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก รพ.ราชวิถีจึงมีความพยายามในการพัฒนานวัตกรรมทั้งด้านการบริการ และการรักษามาช่วยให้การตรวจคัดกรอง การรักษาเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น เทคโนโลยีดังกล่าว หากสำเร็จจะสามารถช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มความรวดเร็วและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้ และเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถขยายผล ไปยังโรงพยาบาลที่ยังขาดแคลนอุปกรณ์ในการตรวจคัดกรองได้อีกมาก

159428363816

“ดร.นเรศ ดำรงชัย” ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) กล่าวเสริมว่า ช่วงโควิด-19 พบว่าระบบ Chest x-ray คือการเอ็กซเรย์ปอด ด้วยระบบ AI มีศักยภาพทำให้รู้โรคหลายชนิด เช่น ปอดบวม วัณโรค และโรคอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับปอด สามารถรู้ผลได้ภายในเวลาไม่ถึง 10 นาที ด้วยค่าใช้จ่ายต่ำ

“ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงการปลดล็อก เรายังอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา การวิจัย ครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจากนี้ไปเราจะเห็นผู้เดินทางเข้ามาในประเทศ นักธุรกิจ และนักท่องเที่ยว โรงเรียนเปิด หากมีเหตุการณ์แพร่ระบาดเข้ามา เชื่อเลยว่าการเตรียมการตรงนี้จะทำให้ประเทศไทยมีความพร้อม ผลจากการทำงานในครั้งนี้จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ เมื่อเรามีความจำเป็นในการรับมือกับโควิด-19 หากเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่หากไม่เกิดขึ้นก็สามารถประยุกต์ใช้ในโรคระบาดอื่นๆ การลงทุนในครั้งนี้เป็นการลงทุนที่ไม่มากแต่เชื่อว่าผลตอบแทนจะสูงมาก” ผอ.ทีเซลส์ กล่าว  

159428365182

FYI : ศูนย์กลางการแพทย์และวิจัยย่านโยธี

สำหรับ ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (Yothi Medical Innovation District : YMID) เป็นศูนย์กลางแห่งนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สำคัญของประเทศ และเป็นต้นแบบของการพัฒนาย่านนวัตกรรมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เกิดจากความร่วมมือของ สํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) 

พร้อมทั้งหน่วยงานพันธมิตรภายในย่าน ดําเนินงานภายใต้ 3 กระทรวง คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ วางแผนพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนานวัตกรรม การแพทย์ของประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศษฐกิจและเพิ่มโอกาสใน การเข้าถึงการบริการเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัยของประชาชน

เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และวิจัย 4 ส่วน คือ ศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ (Medical Service Center) ศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์และสุขภาพ (Medical Research & Start Up) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการใช้งานที่หลากหลาย (Mix Use) และเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสื่อกลางในการบริการข้อมูล (Service Platform)

มีเป้าหมายในเชื่อมโยงนวัตกรรม 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อประโยชน์ต่อคนทุกกลุ่ม (Physical Assets) คือ การพัฒนาพื้นที่สำหรับการวิจัย พัฒนาและทดลองนวัตกรรม ถัดมา การพัฒนาสินทรัพย์ทางเศรษฐกิจ (Economic Assets) คือ การส่งเสริมมาตรการ และนโยบาย การลงทุนนวัตกรรม ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการพัฒนานวัตกรรม และ การพัฒนาสินทรัพย์ทางเครือข่าย (Networking Assets) คือ การพัฒนาฐานข้อมูลทางการแพทย์ รวมทั้งเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อแบ่งปันและถ่ายทอดองค์ความรู้งานวิจัยและนวัตกรรม

เชื่อมโยงภายในย่านประกอบด้วยพื้นที่สถาบันทางการแพทย์และวิจัยกว่า 1.7 ล้านตารางเมตร และมีพื้นที่พัฒนานวัตกรรม 1.7 หมื่นตารางเมตร ประกอบด้วย พื้นที่วิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการแพทย์เฉพาะทางที่เป็นเลิศระดับโลก , พื้นที่ส่งเสริมนวัตกรรมและลงทุนนวัตกรรมทางด้านการแพทย์และสุขภาพ และ โครงข่ายพื้นที่สาธารณะ เพื่อแลกเปลี่ยนนวัตกรรม โดยมีทางเดินเท้าและระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมโยงภายในย่าน เพื่อเป็นศูนย์กลางการให้บริการทางการแพทย์ระดับโลก และสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน