ส่องความพร้อม 3 ประเทศลุยสำรวจ 'ดาวอังคาร'
สำรวจความพร้อมหน่วยงานด้านอวกาศของสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (ยูเออี) จีน และสหรัฐ ซึ่งล้วนมีแผนส่งยานสำรวจไปยังดาวอังคารในเดือนนี้
ฤดูร้อนเป็นช่วงเวลาที่โลกกับดาวอังคารเข้ามาอยู่ใกล้กันที่สุด ราว 55 ล้านกิโลเมตร ปรากฏการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นทุกๆ 26 เดือน หน่วยงานอวกาศของสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (ยูเออี) จีน และสหรัฐ มีแผนส่งยานสำรวจไปยังดาวแดง เพื่อหาสัญญาณสิ่งมีชีวิตในอดีตและโอกาสที่มนุษย์จะไปเยือน ซึ่งการเดินทางจากโลกถึงดาวอังคารต้องใช้เวลาราว 6 เดือน
เริ่มต้นจากโครงการยานสำรวจแห่งความหวัง (โฮปโพรบ) ของยูเออีที่จะปล่อยในวันที่ 15 ก.ค. เป็นภารกิจต่างดาวโครงการแรกของประเทศ ตามด้วย “เทียนเหวิน1”ยานสำรวจเล็กๆ ควบคุมด้วยรีโมทคอนโทรลของจีน จะออกเดินทางระหว่างวันที่ 20-25 ก.ค.
ส่วนโครงการใหญ่สุดนับจนถึงขณะนี้คือ “มาร์ส 2020” ของสหรัฐ กำหนดปล่อยยานสำรวจ “พรีเซเวอแรนซ์” (Perseverance) วันที่ 30 ก.ค. คาดว่าจะใช้เวลาอยู่บนพื้นผิวดาวอังคาร 1 ปีของที่นั่น หรือราว 687 วันบนโลกมนุษย์ เก็บตัวอย่างก้อนหินและดิน ที่นักวิทยาศาสตร์หวังว่าจะมีร่องรอยสิ่งมีชีวิตเคยอาศัยอยู่บนดวงดาวอันแสนห่างไกลนี้
ขณะที่โครงการ “เอ็กโซมาร์ส” ระหว่างสหภาพยุโรปกับรัสเซีย ซึ่งเป็นโครงการที่ 4 ถูกเลื่อนไปจนถึงปี 2565 เพราะวิกฤติโควิด-19
“นี่คือดาวดวงเดียวที่เราสามารถตรวจพบสัญญาณการมีชีวิตในอดีต ยิ่งศึกษามากก็ยิ่งมีความหวังมาก มันเหมือนกับเรื่องน่าตื่นเต้นกำลังเกิดขึ้น และผู้คนอยากมีส่วนร่วมด้วย” มิเชล วีโซ นักชีววิทยาอวกาศจากสำนักงานอวกาศฝรั่งเศส (ซีเอ็นอีเอส) กล่าว
อินเดียและอียูก็เล็งนำยานไปลงจอดบนดาวแดงเช่นเดียวกัน ในปี 2567 ญี่ปุ่นวางแผนส่งยานไปสำรวจโฟบอส ดวงจันทร์ดวงหนึ่งของดาวอังคาร
วิโซตั้งข้อสังเกตว่า ก็เหมือนกับภารกิจสำรวจดวงจันทร์ ประเทศต่างๆ ได้ลงทุนมหาศาล เพื่อชื่อเสียงและเงินทอง การสำรวจดาวอังคารแต่ละประเทศต่างหาจุดเด่นที่เฉพาะเจาะจงของตนเอง เป็นจอกศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนแสวงหา “สะท้อนถึงที่พรมแดนไกลสุดแห่งการสำรวจอวกาศ”
นับถึงขณะนี้มีเพียงสหรัฐเท่านั้นที่ศึกษาความเป็นไปได้อย่างละเอียด และฉากทัศน์ที่ดีที่สุดกว่าจะบรรลุเป้าหมายต้องใช้เวลา 20 ปีเป็นอย่างน้อย
นับตั้งแต่สหภาพโซเวียตส่งยานสำรวจมาร์ส 2 และ 3 ไปดาวอังคารเมื่อปี 2514 ภารกิจลงจอดบนพื้นผิวตลอด 50 ปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จแตกต่างกันไป
สำหรับยูเออี ชาติร่ำรวยน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียฝันไกล มีแผนตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารราวปี 2660 ตอนนี้จึงมีแผนตั้งเมืองวิทยาศาสตร์ขึ้นบนโลกที่จะสร้างบรรยากาศแบบเดียวกับดาวอังคาร
อย่างไรก็ตาม การที่มนุษย์จะไปใช้ชีวิตบนดาวอังคารก็มีอุปสรรคด้านโลจิสติกส์มากมาย ดาวอังคารวันนี้ส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายกว้างใหญ่และเป็นน้ำแข็ง โดยสูญเสียแรงดันบรรยากาศอันเข้มข้นที่ช่วยปกป้องดาวจากรังสีคอสมิกไปเมื่อราว 3,500 ล้านปีก่อน