สรท.ค้านประกาศท่าเรือ ห่วงเพิ่มต้นทุนโลจิสติกส์

สรท.ค้านประกาศท่าเรือ ห่วงเพิ่มต้นทุนโลจิสติกส์

สรท. ยื่นหนังสือรมว.คมนาคม ทบทวนประกาศการท่าเรือฯบังคับใช้ท่าเทียบเรือชายฝั่ง A ในการรับตู้สินค้าขาเข้า ส่งผลต่อต้นทุนการขนส่ง  ไม่สอดคล้องยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ไทย

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า  สรท.ได้ยื่นหนังสือต่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทบทวนและเลื่อนการบังคับใช้ประกาศการท่าเรือแห่งประเทศไทย เรื่องให้เรือชายฝั่งรับตู้สินค้าขาเข้าที่ท่าเรือแหลมฉบังดำเนินการบรรทุกตู้สินค้าลงเรือ ที่ท่าเทียบเรือชายฝั่ง Aมีผลบังคับใช้ 15 ก.ค.นี้   ซึ่งประกาศดังกล่าวกำหนดให้เรือขนส่งชายฝั่งที่มารับตู้สินค้าขาเข้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง จะต้องใช้บริการท่าเทียบเรือชายฝั่ง A เป็นลำดับแรก ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบด้านต้นทุน และประสิทธิภาพในการให้บริการของผู้ให้บริการขนส่งชายฝั่ง สายเดินเรือระหว่างประเทศ ผู้ให้บริการท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าเอกชนในแม่น้ำเจ้าพระยา และผู้ส่งออกนำเข้าสินค้า

         

นางสาวกัณญภัค กล่าวว่า  ประกาศฉบับนี้ทำให้ต้นทุนการขนส่งโดยรวมสูงขึ้น 228 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากการขนส่งสินค้าชายฝั่งของตู้ขาเข้าที่ต้องใช้บริการท่าเทียบเรือชายฝั่ง A นั้นจะมีค่าภาระยกตู้ซ้ำซ้อน  เรือชายฝั่งจะเสียเวลารอคอย และเกิดต้นทุนแก่เจ้าของสินค้า จากความแออัดบริเวณหน้าท่าของท่าเทียบเรือชายฝั่ง A  เนื่องจากในพื้นที่หน้าท่าของท่าเทียบเรือชายฝั่ง A ซึ่งเป็นตัว L นั้นมีความยาวหน้าที่ 125 เมตร และ 120 เมตร และตั้งอยู่ก้นอ่าวติดกับท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์ A0 ดังนั้นการนำเรือเข้า/ออก จะต้องใช้เวลา และความระมัดระวังเพิ่มขึ้น เพิ่มความรุนแรงปัญหาการจราจรติดขัดภายในท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องจากตู้สินค้าขาเข้าด้วยเรือชายฝั่งจะต้องใช้บริการท่าเรือชายฝั่ง A เป็นหลัก ดังนั้นจะต้องใช้รถบรรทุกในการเคลื่อนย้ายตู้สินค้าระหว่างท่าเรือระหว่างประเทศ และท่าเทียบเรือชายฝั่ง A ค่าใช้จ่ายของการขนส่งตู้สินค้าขาเข้าโดยเรือชายฝั่งสูงขึ้น 4,056 บาท/TEUs และมีอัตราใกล้เคียงกับการขนส่งทางถนน และทางรางจากจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังไอซีดีลาดกระบัง

นอกจากนี้ยังขัดกับนโยบายการ Shift Mode ของภาครัฐ  ตามที่ภาครัฐให้การสนับสนุนการ Shift Mode มาใช้การขนส่งชายฝั่ง โดยการสร้างท่าเทียบเรือเฉพาะเรือชายฝั่งที่ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง ขณะที่ผู้ประกอบการภาคเอกชน อาทิ ผู้ให้บริการขนส่งด้วยเรือชายฝั่ง หรือผู้ประกอบการท่าเรือเอกชน ได้มีนโยบายเพิ่มการลงทุนในธุรกิจของตนเพื่อให้สอดคล้องและสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายการ Shift Mode ของภาครัฐ

         

นางสาวกัณญภัค  กล่าวว่า  ประกาศดังกล่าวของการท่าเรือฯ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อภาพรวมการค้า การขนส่ง และโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศไทย กอปรกับช่วงเวลาในการบังคับใช้ประกาศฉบับนี้อยู่ในสภาวะซึ่งเศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบรอบด้าน จึงขอให้มีการพิจารณาทบทวนเลื่อนการบังคับใช้ประกาศดังกล่าวออกไป และให้การท่าเรือฯ หารือกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นให้ครอบคลุมในทุกด้าน และเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายกับการขนส่งรูปแบบอื่นเพื่อให้ได้อัตราค่าบริการที่เหมาะสมและแข่งขันได้ ตลอดจนให้นำมาตรการทางการตลาดและมาตรการส่งเสริมอื่นมาใช้เพื่อสร้างแรงจูงใจในการใช้บริการท่าเทียบเรือชายฝั่ง A และสนับสนุนการขนส่งสินค้าชายฝั่ง และเพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถของประเทศไทย