ม็อบเยาวชนลาม 26 จังหวัด ลากยาวสวน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
"..ดาวกระจายตามมาทั่วประเทศ โดยคนรุ่นใหม่ได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการแสดงความคิดเห็นและนัดรวมตัว จากม็อบออนไลน์ จึงกลายเป็นม็อบจริงในพื้นที่ 26 จังหวัด.."
การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของ กลุ่มเยาวชนปลดแอก ประกอบด้วย ทัตเทพ เรืองประไพกิจ จุฑาพิพย์ ศิริขันธ์ ภาณุพงศ์ จาดนอก และ นนท์ - ณัชนน พยัฆพรรณ และ กลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนท.) เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 ได้ขยายวง มีการเชิญชวนให้ร่วมกันทำกิจกรรมแสดงออก ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล กระทั่งไล่รัฐบาล แบบดาวกระจายตามมาทั่วประเทศ โดยคนรุ่นใหม่ได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการแสดงความคิดเห็นและนัดรวมตัว จากม็อบ Online จึงกลายเป็นม็อบจริงในพื้นที่ 26 จังหวัด
แยกเป็นรายจังหวัด ล่าสุดการนัดชุมนุมเวทีต่างๆ ใน 26 จังหวัด มีดังนี้ กทม.ผุดขึ้นหลายเวที โดยเฉพาะพื้นที่มหาวิทยาลัย ส่วนภาคเหนือ 4 จังหวัด 1.เชียงใหม่ 2.ลำพูน 3.ลำปาง 4.แพร่ ภาคกลาง 8 จังหวัด 1. เพชรบูรณ์2. พิษณุโลก3. นครสวรรค์ 4. ราชบุรี 5. สุพรรณบุรี 6. อยุธยา 7. ปทุมธานี 8. สมุทรปราการ ภาคตะวันออก 3 จังหวัด1.ชลบุรี2.ระยอง3.จันทบุรี
ภาคอีสาน 7 จ้งหวัด 1.นครราชสีมา2.ขอนแก่น3.อุดรธานี 4.อุบลราชธานี5.มหาสารคาม6.ร้อยเอ็ด 7.สกลนคร และ ภาคใต้ 3 จังหวัด1.สงขลา 2.ปัตตานี 3.พัทลุง และมีแนวโน้มจะขยายวงออกไปอีกในจังหวัดอื่นๆ
การชุมนุมที่เริ่มต้นด้วย เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 18 ก.ค.2563 เยาวชนปลดแอก และกลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.)นัดชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ ในเวลา 17.00 น. โดยแกนนำประกาศค้างคืนในพื้นที่ชุมนุมจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น แต่สุดท้ายก็ประกาศยกเลิกในเวลาเที่ยงคืน เนื่องจากเหตุผลเรื่องความปลอดภัย และความไม่พร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวกในการชุมนุม
และได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 3 ประเด็น คือ 1.ขอให้รัฐบาลประกาศยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน และเปิดทางให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจ
2.ขอให้หยุดคุกคามประชาชน ทั้งทางกายภาพ ทางจิตวิทยา ตลอดจนการยัดข้อหาเพื่อดำเนินคดี รวมไปถึงให้รัฐสภายกเลิกกฎหมายที่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมตามระบอบประชาธิปไตย
3.ขอให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยคำนึงถึงหลักการสิทธิมนุษยชนเป็นหลักและปราศจากการแทรกแซงของคนที่ประชาชนไม่ได้เลือก
เวทีวันถัดมา 19 ก.ค.2563 ม็อบเยาวชนใน เชียงใหม่-อุบลราชธานี รับช่วงต่อทันที ใช้ธีมหลัก #คนเชียงใหม่จะไม่ทันtoo ส่วนอุบลราชธานี ใช้กิจกรรมวิ่งไล่ลุง
การประท้วงในเชียงใหม่ ก็ได้ยื่นข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล 3 ข้อ เช่นเดียวกับกลุ่มเยาวชนปลดแอก ได้แก่ 1.ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. 2.ยุบสภาจัดการเลือกตั้งใหม่ 3.อย่าขัดขวางการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม
22 ก.ค.2563 ได้มีการนัดชุมนุมใน 5 จังหวัด มหาสารคาม-แพร่-ชลบุรี-เพชรบูรณ์-สงขลา คือ คนแพร่เล่าขวัญเผด็จการ จังหวัดแพร่, อีสานสิบ่ทน จังหวัดมหาสารคาม, มาเก็บขยะ จังหวัดชลบุรี, เพชรบูรณ์ไม่รับใช้เผด็จการ จังหวัดเพชรบูรณ์, สงขลาไม่ทนtoo จังหวัดสงขลา
ขณะที่มหาสารคาม ได้มีอุปสรรคเนื่องจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ออกประกาศห้ามนักศึกษาใช้ลานแปดเหลี่ยมในการจัดกิจกรรม แต่แนวร่วมนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) เพื่อประชาธิปไตยที่เป็นแกนนำ ยังคงเดินหน้าจัดกิจกรรมตามกำหนดเดิม พร้อมขึ้นรถปราศรัยไปที่หน้าอาคารของผู้บริหารมหาวิทยาลัยด้วย
การชุมนุม ประท้วงที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีผู้เข้าชุมนุมจำนวนมาก ดันให้แฮชแท็ก #อีสานสิบ่ทน ติดอันดับ 1 บนเทรนด์ทวิตเตอร์ และในช่วงกลางคืน ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้เปิดไฟส่องสว่างให้ผู้ชุมนุม โดยอ้างว่าระบบไฟฟ้าเสีย ทำให้ผู้ร่วมชุมนุมต้องเปิดไฟจากแฟลชโทรศัพท์มือถือเป็นเชิงสัญลักษณ์ แต่การชุมนุมก็เดินหน้าจนจบและมีการประกาศข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 4 ข้อ ดังนี้
1.ขอให้รัฐบาลยุบสภา 2.เรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ทั้ง 250 คนลาออกเพื่อยุติบทบาทและอิทธิพลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 3.เลือกตั้งใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ใช่ปี 2560
4.ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นมาใหม่
23 ก.ค. 2563 อีก 5 จังหวัดทั้ง ขอนแก่น-อยุธยา-สกลนคร-ปัตตานี-3 สถาบัน ปทุมธานี นัดหมาย ภายใต้สโลแกน อีสานบ่านเด้อ จังหวัดขอนแก่น, อยุธยาจะไม่ทันอีกต่อไปจังหวัดอยุธยา, ลูกภูพานต้านเผด็จการ จังหวัดสกลนคร, หมุดหมายประชาธิปไตย จังหวัดปัตตานี,
ที่น่าสนใจคือการชุมนุมในปทุมธานี ที่เป็นการผนึกกันระหว่าง 3 สถาบันการศึกษา ได้แก่ ภาคีนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ กลุ่มรังสิตพะยอมเก่า และเครือข่ายราชมงคล โดยประกาศเชิญชวนให้นักศึกษาและประชาชนร่วมการชุมนุมในเวลา 17.00-19.00 น. บริเวณท่าเรือตู้ต่างจังหวัด ศูนย์ค้าการค้ากินซ่า ตรงข้ามศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต
24 ก.ค.2563 เป็นอีกกลุ่ม ตั้งแต่ ลำพูน-อุดรธานี-นครราชสีมา-พัทลุง-และม.เกษตร กรุงเทพฯ ทั้ง 5 จังหวัด ใช้ธีม คนลำพูนก็ไม่ทนแล้วโว้ย จังหวัดลำพูน, อุดรสิบ่ทน จังหวัดอุดรธานี, โคราชจะไม่ทน จังหวัดนครราชสีมา, พัทลุงไม่ทนแล้วโว้ย จังหวัดพัทลุง และประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ
ขณะที่เพจเฟซบุ๊ค มอกะเสด (KU Daily) ได้ประกาศเชิญชวนให้ประชาชน นิสิต นักศึกษา ร่วมชุมนุมครั้งใหญ่พรุ่งนี้ (24 ก.ค. 63) เวลา 16.30 น. ณ หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
“มอกะเสด และเครือข่าย ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่า และเพื่อนพ้องนิสิตนักศึกษาทุกท่านจากทุกที่ มาร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ถึงอำนาจประชาชนโดยพร้อมเพรียงกันในงานชุมนุมใหญ่ครั้งนี้ เพื่อประกาศว่า “ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” และจบเรื่องเลวร้ายนี้ให้ได้ในยุคสมัยของเรา” จากเพจเฟซบุ๊ค มอกะเสด (KU Daily)
25 ก.ค.2563 สมุทรปราการ-เพชรบูรณ์ มีการประกาศเชิญชวน ภายใต้ธีมจะไม่ทนอีกต่อไป 26 ก.ค.2563 จันทบุรี ใช้สโลแกน จันรีไม่ทนคนจัญไร 29 ก.ค.2563 มีการนัดชุมนุมใน 2 จังหวัด คือ นครสวรรค์จะไม่ทน จังหวัดนครสวรรค์ และสุพรรณจะไม่ทนจังหวัดสุพรรณบุรี
ข้ามเดือนไปที่ส.ค. ไทม์ไลน์ เริ่ม 1 ส.ค. 2563 มีการนัดชุมนุมประท้วง 1 จังหวัด คือ ราชบุรีไม่ได้มีดีแค่ปาก จังหวัดราชบุรี 2 ส.ค.2563 ร้อยเอ็ด ธีม ร้อยเอ็ดเราไม่เอาเผด็จการ
และในกทม.ก็เตรียมเวที ธรรมศาสตร์ อีกระลอก โดยเพจพรรคโดมปฏิวัติ Dome Revolution ได้ประกาศจะนัดชุมนุมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเร็วๆ นี้ ด้วยคำเชิญชวน “ชาวธรรมศาสตร์พร้อมกันหรือไม่ ทวงคืนประชาธิปไตย รับเพื่อนใหม่ด้วยการไปม็อบ พวกเรายินดีต้อนรับพี่น้องประชาชนทุกคน เพราะประชาธิปไตยเป็นของทุกคนเร็วๆ นี้ #ม็อบ #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน #เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน”
ถือเป็นม็อบเยาวชน ไม่ทนรัฐบาล ที่เดินหน้าสวนกระแส พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพร้อมจะลากยาว