อัยการสูงสุด ตั้งคณะทำงานเคลียร์ปม นายกฯสั่งสตช.สอบไม่สั่งฟ้อง 'บอส อยู่วิทยา'
“อัยการสูงสุด” สั่งตั้งคณะทำงานเคลียร์ปมไม่สั่งฟ้อง “บอส อยู่วิทยา” เร่งตรวจสอบโดยเร็ว “ประยุทธ์” จี้สตช.ตรวจสอบอีกทาง ลั่นไม่เคยให้ความช่วยเหลือใครแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เปิดสำนวนพยานใหม่ 2 ราย อ้างขับรถความเร็ว 50-60 กม.
จากกรณีสำนักอัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส อยู่วิทยา หลังขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งาน ป.สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 ต่อมานายวรยุทธ ได้หลบหนีคดี 8 ปี กระทั่งปรากฏเอกสารจากสน.ทองหล่อว่า คดีนี้จบลงเนื่องจากอัยการไม่ส่งฟ้องผู้ใด ทำให้นายวรยุทธ อยู่วิทยา สามารถกลับประเทศไทยได้
ความคืบหน้าล่าสุด วานนี้ (26 ก.ค.) สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ออกเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ลงนาม นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 และรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด โดยระบุว่า นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี ตามที่ปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนว่า พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเห็นชอบแล้ว
โดยข่าวดังกล่าวสื่อมวลชนได้นำเสนอเมื่อช่วงเช้า วันที่ 24 กรกฎาคม 2563 นั้น สำนักงานอัยการสูงสุดขอชี้แจงว่า เมื่อปรากฏข่าวดังกล่าว อัยการสูงสุด ซึ่งกำลังปฏิบัติราชการอยู่ในพื้นที่สำนักงานอัยการภาค 4 ในการประชุมสัมมนา ข้าราชการฝ่ายอัยการในเขตพื้นที่ภาค 4 จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 23-26 กรกฎาคม 2563 จึงทำการตรวจสอบและทราบว่า กรณีที่เป็นข่าวเป็นสำนวน ส.1 เลขรับที่ 10712556 ของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1
ดังนั้นเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าการสั่งสำนวนคดีดังกล่าวเป็นไปตามหลักกฎหมาย หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือไม่ และมีเหตุผลในการสั่งพิจารณาคดีอย่างไร จึงมีคำสั่งทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ พิเศษ2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีดังกล่าว โดยมี นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และคณะทำงานอื่น รวมทั้งสิ้น 7 คน
ทั้งนี้โดยให้คณะทำงานเร่งตรวจสอบเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงโดยเร็ว และเมื่อมีผลคืบหน้าประการใด จะได้แจ้งให้บุคลากรสำนักงานอัยการสูงสุด และประชาชนทราบโดยทั่วกัน
ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด กรณีที่สำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีต่อนายวรยุทธ อยู่วิทยา ในทุกข้อกล่าวหา และสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่แย้งคำสั่งของอัยการ
ทั้งนี้เมื่อท่านนายกรัฐมนตรีทราบจากข่าวแล้ว ด้วยความไม่สบายใจ และเห็นว่าควรต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เกิดความชัดเจนเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยท่านนายกรัฐมนตรีรู้สึกเข้าใจดีถึงความรู้สึกของประชาชน พร้อมกับสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงของคดีดังกล่าวตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ถึงขั้นตอนของอัยการว่าเป็นมาอย่างไร พร้อมทั้งรายงานโดยด่วน
“ยืนยันนายกรัฐมนตรีไม่เคยช่วยเหลือใคร ไม่เคยแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม และไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง”
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีย้ำว่าผู้ที่เกี่ยวข้องหลักตามกระบวนการยุติธรรมในกรณีนี้ คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าของคดี และพนักงานอัยการ โดยเฉพาะอัยการนั้นนายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นผู้แต่งตั้งและมีอำนาจพิจารณาคดีได้อย่างอิสระตามขอบเขตของกฎหมาย
“นายกรัฐมนตรีไม่สั่งการใครในคดีนี้ และทุกอย่างต้องเป็นไปตามพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง และขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม หากใครทำผิดจะต้องถูกลงโทษทั้งสิ้น พร้อมทั้งเตือนขอให้อย่านำเรื่องนี้ไปบิดเบือนหรือเชื่อมโยงกับปัญหาอื่น ๆ จนเกิดความเข้าใจผิดและสับสน”
นอกจากนี้สตช.สนช.ในขณะนั้น กำลังเตรียมการตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการเรื่องดังกล่าวโดยด่วน เพื่อให้สังคมปราศจากข้อสงสัยได้โดยเร็วที่สุด
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวอิศรา นำเสนอรายละเอียดสำนวนอัยการ สั่งไม่ฟ้องคดี “บอส-นายวรยุทธ อยู่วิทยา” โดยระบุว่า อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อเหตุที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ( โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ) มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ในความผิดฐานนี้ เนื่องจากได้ความจากพันตำรวจตรี ท.( สงวนชื่อและนามสกุลจริง ) ผู้ตรวจสอบความเร็วของรถยนต์ ว่าขณะเกิดเหตุ รถยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับ แล่นด้วยความเร็วเฉลี่ย 177 กม.ต่อชั่วโมง
อีกทั้งพันตำรวจตรี ท. ผู้ตรวจสอบยืนยันว่าการคำนวณดังกล่าวอาจมีความคลาดเคลื่อน (จากความเร็วเฉลี่ย 177 กม.ต่อชั่วโมง ) มากขึ้นหรือน้อยลง ประมาณ 17 กม.ต่อชั่วโมง ซึ่งความเร็วดังกล่าวเกินกว่าความเร็วของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่จะแล่นได้ภายในกรุงเทพมหานคร ( 80กิโลเมตรต่อชั่วโมง ) ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2522 ข้อ 1 (3) ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2522 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 5 , 67 วรรคแรก การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยประมาท ปราศจากความระมัดระวังในการขับรถ
ต่อมาเมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรมในครั้งนี้อีกและมีการสอบสวนพยานบุคคลเพิ่มเติมคือพลอากาศโท จ. และนาย ช. เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 ได้ความว่าพยานทั้ง 2 ขับรถยนต์แล่นตามหลังรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มาด้วยความเร็วไม่เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ( ปรากฏในภาพกล้องวงจรปิด ) ให้การว่าผู้ต้องหาที่ 1 ขับรถยนต์มาด้วยความเร็วประมาณ 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
นาย ช.ชะลอความเร็วของรถลง และหักพวงมาลัยหลบไปทางซ้ายเพื่อไม่ให้ชนกับรถจักรยานยนต์ที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มา แต่รถจักรยานยนต์ที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มาได้แล่นเข้าไปในช่องทางเดินรถที่ 3 ที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับรถแล่นมาในระยะกระชั้นชิด จึงทำให้รถยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่มา ชนท้ายรถจักรยานยนต์ คันที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มา เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาที่ 2 ถึงแก่ความตาย
รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย เมื่อเหตุที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่รถจักรยานยนต์เปลี่ยนช่องทางเดินรถ เข้าไปในช่องทางเดินรถที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่มา ด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในระยะกระชั้นชิด ทำให้ผู้ต้องหาที่ 1 ไม่สามารถหลบหลีกและหยุดรถได้ทันท่วงที เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหตุสุดวิสัย มิใช่เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ของผู้ต้องหาที่ 1 แต่เกิดจากความประมาท ปราศจากความระมัดระวัง ของผู้ต้องหาที่ 2 ที่เปลี่ยนช่องทางเดินรถในระยะกระชั้นชิด