ทำความรู้จัก 'โคเคน' ยาเสพติดที่ถูกอ้างว่า ใช้โคเคนรักษาฟัน

ทำความรู้จัก 'โคเคน' ยาเสพติดที่ถูกอ้างว่า ใช้โคเคนรักษาฟัน

ทำความรู้จัก "โคเคน" ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 ที่เคยถูกนำมาใช้ทางการแพทย์

จากกรณีคดี วรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส อยู่วิทยา ทายาทตระกูลดัง "เฉลียว อยู่วิทยา" (เสียชีวิตแล้ว) ซึ่งดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง ทั้งแบรนด์กระทิงแดง และ Red Bull ที่กำลังตกอยู่ในความสนใจและจับจ้องจากอุบัติเหตุที่ "บอส อยู่วิทยา" ขับรถชนนายตำรวจบาดจนจนถึงแก่ความตาย เมื่อปี 2555 หรือราว 7 ปีก่อน และยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน ที่ทำท่าจะตัดจบดื้อๆ เมื่อ อัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่สั่งฟ้อง นำไปสู่การถอนหมายจับของตำรวจในที่สุด

เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจเป็นวงกว้าง และตั้งคำถามถึงการบวนการยุติธรรมของไทย พร้อมเรียกร้องให้ตรวจสอบอีกครั้ง นายกรัฐมนตรีไม่นิ่งเฉย ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมา

ล่าสุดวานนี้ (30 ก.ค.) นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ..สงขลา พรรคภูมิใตไทย ในฐานะโฆษก กมธ.ตำรวจ ได้ออกมาระบุถึงประเด็นสารเสพติดโคเคน ที่พบในร่างกายผู้ต้องหา หรือบอส อยู่วิทยา นั้น ได้รับการชี้แจงจากพนักงานสอบสวนซึ่งให้ข้อมูลว่า ได้รับการยืนยันจากหมอฟัน ว่า สารที่ตรวจพบในร่างกายของ "บอส อยู่วิทยา" เป็น "ยาที่มีส่วนผสมของสารโคเคน" ซึ่งได้จ่ายให้ผู้ต้องหาเพื่อใช้ในการรักษาฟัน ทำให้ไม่มีการสั่งฟ้องเรื่องสารเสพติด

งานนี้ หลายคนถึงกับงงหนักว่า "โคเคน" ใช้ในทางการแพทย์ได้จริงหรือ.. แล้วถูกใช้เพื่อการ "รักษาฟัน" ได้จริงหรือไม่ 

คลิกอ่านข่าว :  ‘โคเคน’ มีประโยชน์ทางการแพทย์จริงหรือไม่?

แต่ก่อนจะได้คำตอบนั้น เราขอพาทุกคนย้อนกลับไปทำความรู้จัก​ ผงสีขาวละเอียดหน้าตาคล้ายแป้งอย่าง "โคเคน" กันก่อน..

  

  • ทำความรู้จักโคเคน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จึงได้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโคเคน เพื่อให้เข้าใจยาเสพติดประเภทนี้มากขึ้น โดยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ..2522 โคเคนจัดอยู่ในยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 2 คือ ยาเสพติดประเภทนี้สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ แต่ต้องใช้ในการควบคุมของแพทย์ และใช้เฉพาะกรณีที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งกลุ่มนี้ประกอบด้วย ฝิ่น มอร์ฟีน โคเคน หรือโคคาอีน โคเคอีน และเมทาโดน  

โดยมีบทลงโทษสำหรับผู้ผลิต นำเข้า หรือส่งออก จะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปจนถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2 ล้านบาท ถึง 5 ล้านบาท ด้านผู้เสพก็มีโทษเช่นกัน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

ขณะที่ข้อมูลของโรงพยาบาลธัญญสรักษ์สงขลา อธิบายว่า โคเคน หรือโคคาอีนนั้น นิยมปลูกมากในแถบอเมริกาใต้และอเมริกากลาง เช่น โบลิเวีย เปรู โคลัมเบีย เอกวาดอร์ เป็นต้น

โดยขั้นตอนการผลิตโคเคน มี 2 ประเทศหลักที่ผลิต คือ เปรูและโบลิเวีย เป็นแหล่งแปรสภาพใบโคคาเป็น COCA PASTE และ COCA BASE ซึ่งจะแปรเป็น COCAINE HYDROCHLORIDE หรือโคเคนบริสุทธิ์ ซึ่งกลุ่มผู้เสพมักนิยมเรียกว่า COKE , SNOW , SPEED BALL , CRACK ฯลฯ 

สำหรับในประเทศไทยพบโคเคนใน 2 ลักษณะ คือ 1.ชนิดผง มีลักษณะเป็นผงละเอียด สีขาว มีรสขม ไม่มีกลิ่น 2.ชนิดผลึกเป็นก้อน หรือเรียกว่าแคร็ก

ทั้งนี้ความแตกต่างของโคเคนทั้ง 2 ชนิดคือ แคร็กจะเสพโดยการสูบ ทำให้เกิดอารมณ์สนุกสนานเร็วกว่ามาก ภายในระยะเวลาเพียง 10 วินาที และมีฤทธิ์อยู่นานถึง 5-15 นาที นอกจากนี้จะทำให้เคลิบเคลิ้ม มีความสุขมากกว่า เสพติดง่ายกว่า แต่จะทำให้ผู้เสพอ่อนแอและเกิดโรคทางกายเร็วและรุนแรงกว่าอาการที่ปรากฏ ขณะที่โคเคนผงนั้นเสพด้วยการสูดดม ออกฤทธิ์ช้ากว่า แต่อยู่ได้นานใกล้เคียงกันเมื่อเสพแคร็กด้วยกล้องสูบไปป์ 

  • โคเคนเคยถูกนำมาใช้ทางการแพทย์

ขณะที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ได้อธิบายถึงต้นตอของโคเคนไว้ว่า โดเคนนั้นเป็นสารที่ได้จากการสกัดจากใบของต้นโคคา (Coca) ซึ่งพบมากในอเมริกาใต้

เริ่มต้นจากเมื่อ 1,000 ปีก่อน ชาวอินเดียนในเปรูมีวัฒนธรรมในการเคี้ยวใบโคคา และใบโคคานี้ได้เข้าไปในยุโรปและอเมริกา จนถึงศตวรรษที่ 19 Sigmund Freud ปรมาจารย์ทางจิตเวช นำสารที่สกัดจากต้นโคคามาใช้เป็นยารักษาโรคจิต ซึมเศร้า และภาวะติดยาเสพติดอื่นๆ ต่อมาทางการแพทย์ใช้โคเคนเพื่อเป็นยาชาเฉพาะที่

ขณะเดียวกันมีการนำไปผลิตเครื่องดื่มที่ทำจากใบโคคาและ caffeine ใช้ชื่อว่า Coca Cola ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จนถึงศตวรรษที่ 20 บริษัทเครื่องดื่มได้สกัดเอาโคเคนออกจากใบโคคา

  • โคเคนตรวจพบได้ในปัสสาวะได้นานถึง 24-36 ชั่วโมง

ทั้งนี้โคเคนระบาดหนัดที่สุดตั้งแต่ปี 1970 เนื่องจากมีการมีพัฒนาการการผลิตที่ดีขึ้น ทำให้มีราคาถูก ใช้ได้ง่าย และออกฤทธิ์เร็ว โดยฤทธิ์ของโคเคนจะเหมือนยาม้า (amphetamine) มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง  แต่โคเคนจะออกฤทธิ์เร็วกว่าและสั้นกว่า

สำหรับวิธีการเสพโคเคนจะทำให้เกิดอาการเมายาที่แตกต่างกันออกไป เช่น หากเสพด้วยวิธีการสูดผงเข้าทางจมูก ผู้เสพจะมีอาการเมายาประมาณ 15-30 นาที ส่วนการสูบ หรือการฉีดเข้าเส้นเลือดจะทำให้ยาออกฤทธิ์รุนแรงมากกว่า แต่จะมีอาการเมายาในระยะเวลาสั้นๆ 5-10 นาทีเท่านั้น

สรุปพิษที่มีต่อร่างกาย

  1. มีลมในช่องอก เนื่องจากผู้ป่วยหายใจอย่างแรงเพื่อดูดซึมโคเคนได้มากที่สุด ทำให้ผนังช่องปอดฉีกขาด หายใจไม่ออก และอาจเสียชีวิต
  2. เป็นโรคไซนัสอักเสบ เลือดออกในจมูก และผนังกั้นในจมูกทะลุ
  3. น้ำหนักลดมาก โดยโคเคนกดสมอง ทำให้ไม่อยากรับประทานอาหาร
  4. อาจเป็นโรคหัวใจขาดเลือด และเสียชีวิต แม้อายุยังน้อย
  5. ใจสั่นหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ
  6. มีอาการชัก แบบโรคลมบ้าหมู

นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ที่พบ เช่น ภาพหลอน อาเจียน จากการที่ฤทธิ์เข้าไปกระตุ้นระบบประสาท sympathetic ทำให้เกิดความดันสูง หัวใจเต้นเร็วหรือผิดจังหวะ รวมถึงมีภาวะแทรกซ้อนของระบบหัวใจและหลอดเลือดด้วย ฯลฯ ทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บได้สูง

ขณะที่การวินิจฉัยสามารถทำได้จากตรวจได้จากประวัติและตรวจร่างกายเป็นหลัก รวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการก็จะช่วยในการวินิจฉัยด้วย และถึงแม้โคเคนจะมีฤทธิ์สั้น แต่ metabolite ของโคเคน คือ benzolecgonine จะถูกขับออกทางปัสสาวะ สามารถตรวจพบในปัสสาวะได้นานถึง 24-36 ชั่วโมงหลังได้ยา

   

ที่มา : oicmed.mahidolsdtcpmnidatbangkokhealth