ลงทุน ‘เทคโนโลยี’ ในเอเชีย
การลงทุนในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่น่าสนใจของเม็ดเงินลงทุนจากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เทคโนโลยีเริ่มกระจายตัวในวงกว้าง
ทำให้หลายบริษัทในหลายประเทศชั้นนำในภูมิภาคนี้ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง หรือสิงคโปร์ ต่างเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด
หนึ่งในกองทุนที่โฟกัสกับการลงทุนในภูมิภาคนี้มายาวนานนับ 10 ปี คือ กองทุนเปิดกรุงศรีโอเรียนทัลเฟล็กซ์ หรือ KF-ORTFLEX ซึ่งเป็นกองทุนประเภท Feeder fund โดยนำเงินไปลงทุนกับกองทุนหลักต่างประเทศ คือ Allianz Oriental Income Fund
ผลตอบแทนของกองทุน KF-ORTFLEX อยู่ในระดับที่ค่อนข้างน่าพอใจ ด้วยค่าเฉลี่ยผลตอบแทน 8% ต่อปี สำหรับ 10 ปีที่ผ่านมา ส่วน 3 ปีล่าสุด ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 9.36% ขณะที่ผลตอบแทนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาค่อนข้างโดดเด่น ทำได้ 42.8% และถึงแม้ว่าผลกระทบจากโควิด-19 จะค่อนข้างรุนแรงในปีนี้ แต่กองทุนยังให้ผลตอบแทนในระดับ 23.79% (อิงจาก NAV ณ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา)
สำหรับกองทุนหลักอย่าง Allianz Oriental Income Fund เป็นกองทุนประเภท active ที่มุ่งหวังผลตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งปัจจุบันกระจายการลงทุนใน 4 กลุ่มหลัก คือ เอเชียในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในเอเชีย 47.87% เอเชียในส่วนของตลาดเกิดใหม่ 20.48% กลุ่มประเทศในทวีปออสเตรเลีย 15.42% และญี่ปุ่น 13.81% ส่วนที่เหลือกระจายการลงทุนไปยังโซนยุโรปและอเมริกาเหนือ
โดยกองทุนมองว่ากลุ่มประเทศในแถบเอเชียเหนือมีกลุ่มที่มีโอกาสของการเติบโตสูงที่สุดนับแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา ด้วยการพัฒนาของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทที่ยังมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก แต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการวิจัยและพัฒนาค่อนข้างมาก จนมีความสามารถในการแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่ได้ โดยเฉพาะในประเทศไต้หวันและเกาหลีใต้
พอร์ตการลงทุนของ Allianz Oriental Income Fund ณ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา เน้นการลงทุนในธุรกิจด้านเทคโนโลยี โดย 8 ใน 10 หุ้นที่กองทุนถือลงทุนมากสุดอยู่ในกลุ่มนี้ อาทิ Lasertec Corp สัดส่วน 8.39% ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ทำธุรกิจผลิตเครื่องจักรในการทดสอบชิป ถัดมาคือ Koh Young Technology 6.95% บริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ ผู้พัฒนาและผลิตอุปกรณ์ในการตรวจสอบความแม่นยำของเครื่องจักรแบบ 3 มิติ รวมถึง EO Technics Co Ltd 4.48% อีกหนึ่งบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ และ Alchip Technologies Ltd 4.26% ผู้ผลิตชิ้นส่วนเทคโนโลยีสัญชาติไต้หวัน
ส่วนกลุ่มธุรกิจที่กองทุนลงทุนรองลงมาคือ สินค้าอุตสาหกรรม อย่างบริษัทสัญชาตินิวซีแลนด์ Mainfreight Ltd สัดส่วน 6.87% รวมถึงธุรกิจเฮลธ์แคร์ อย่าง Hutchison China Meditech Ltd ADR บริษัทสัญชาติฮ่องกง ในสัดส่วน 3.36%
จุดเด่นของกองทุน Allianz Oriental Income Fund นอกจากผลตอบแทนเฉลี่ย 12.44% ต่อปี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยังมีการกระจายการลงทุนที่ค่อนข้างกว้าง โดย 10 หุ้นที่ถือลงทุนในสัดส่วนสูงสุด กระจายอยู่ใน 8 ประเทศ และยังเป็นกองทุนที่ได้เรทติ้งจาก Morningstar ในระดับ 5 ดาว จากผลงานที่ผ่านมา ในขณะที่ KF-ORTFLEX ได้รับเรทติ้งที่ต่ำกว่าอยู่ในระดับ 4 ดาว
ในแง่ความเสี่ยงของ KF-ORTFLEX เคยมีผลขาดทุนสูงสุดในช่วง 5 ปีที่ 29.88% และมีความผันผวนของผลการดำเนินงาน 16.73% ต่อปี ปัจจุบันกองทุนมีขนาดกองทุน 218.50 ล้านบาท โดยมี NAV อยู่ที่ 19.0057 บาทต่อหน่วย โดยที่ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดอยู่ที่ 1.02% ต่อปี แต่การลงทุนในกองทุนประเภท Feeder fund จะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียให้กับกองทุนหลักอีก โดยปัจจุบัน Allianz Oriental Income Fund เรียกเก็บอยู่ที่ 1.85%
ธุรกิจในกลุ่มประเทศเอเชีย แปซิฟิก ถือเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการกระจายการลงทุน ด้วยการที่หลายประเทศสามารถยกระดับธุรกิจโดยการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาเสริม แม้ว่าบริษัทเหล่านี้อาจจะยังไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่เมื่อลองพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่าบริษัทเหล่านี้สามารถก้าวขึ้นมาเป็นกลุ่มผู้นำในธุรกิจของตัวเอง