ปัจจัยลบหุ้นสินเชื่อเงินสด ทำธุรกิจแข่งขันสูง- กำไรดอกเบี้ยลด
ก่อนที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะมีการประชุม วันที่ 5 ส.ค. ซึ่งเป็นนัดที่ 6 ของปี จากก่อนหน้านี้อัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ที่ 0.50 % ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำมากที่สุดในประวัติศาสตร์อยู่แล้ว
หากแต่ในช่วงวิกฤติทางเศรษฐกิจแบบนี้ ต่างคาดหวังว่าในครึ่งปีหลังรวมถึงการประชุมกนง. นัดนี้ นโยบายการเงินจะดำเนินการใช้ต่อเนื่อง ด้วยการลดดอกเบี้ยลงอีก จนเริ่มมีการพูดถึงอัตราดอกเบี้ยลงไปต่ำได้ถึง 0 %
เมื่อดอกเบี้ยลงมาต่ำในระดับดังกล่าวจะช่วยด้านต้นทุนให้กับภาครัฐที่ต้องก่อหนี้สาธารณะสูงขึ้น เพื่อนำเม็ดเงินมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจล็อตใหญ่ในครึ่งปีหลัง เช่นเดียวกับภาคธุรกิจที่หลายบริษัทอยู่ระหว่างประคองตัวให้อยู่รอดรอกำลังซื้อจากในประเทศและต่างประเทศกลับมาเป็นปกติ
ทางกลับกันธุรกิจที่ต้นทุนอิงกับดอกเบี้ยและยังได้ประโยชน์ทุกครั้งนอกจากแบงก์แล้วยังมีธุรกิจนอนแบงก์ ซึ่งจะได้ต้นทุนทางการเงินที่ถูกลงสามารถนำไปปล่อยกู้เพื่อกินส่วนต่างจากดอกเบี้ยในอัตราที่สูง
นอนแบงก์ทั้ง ลิสซิ่ง สินเชื่อเงินสด บัตรเครดิต หรือพีโลน และ ฟิโกนาโนไฟแนนซ์ เตรียมตอบรับประเด็นดังกล่าวหากเกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตามธุรกิจนอนแบงก์กลับเผชิญปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากขึ้นกว่าในอดีต
ทั้งคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น การเข้ามาควบคุมเพดานดอกเบี้ยของ ธปท. ที่คิดกับลูกค้าให้ลดต่ำลง เพื่อช่วยลดภาระให้กับประชาชน ให้คิดดอกเบี้ยบัตรเงินสด 25 % จาก 28 % บัตรเครดิต 16 % จาก 18 % จำนำทะเบียนรถ 24 % จาก 28 % และล่าสุดนาโนไฟแนนซ์ เหลือ 33 % จาก 36 % เริ่มใช้ 1 ส.ค. 2563 นี้
ยิ่งมีธนาคารภาครัฐ อย่าง ธนาคารออมสิน ที่ประกาศจะกระโดดลงมาแข่งในตลาดนี้ด้วยไม่เกินภายใน 6 เดือนจากนี้ พร้อมกับอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าในตลาด อยู่ที่ 8-10 % ทำให้เกิดความกังวลใจในหุ้นนอนแบงก์จะถูกกดดันไปด้วย และกระทบเติบโตของอุตสหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ทำให้ลูกค้ามีความเสี่ยงสูงขึ้นในการชำระหนี้และอาจจะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)
ประเด็นดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบต่อหุ้นในกลุ่มดังกล่าวหากออมสินดำเนินการจริง จากการประเมินจำนวนลูกหนี้รายย่อยทั้งประเทศคาดอยู่ที่ 25.4 ล้านราย มีมูลหนี้ประมาณ 4.8 แสนล้านบาท แบ่งตามสัดส่วนแล้ว ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบุคคลและบัตรกดเงินสด 48 % รองลงมา บัตรเครดิต 31 % จำนำทะเบียนรถ 21 %
หุ้นในกลุ่มดังกล่าวมีบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (KTC) เน้นบีตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งบริษัทเตรียมเดินหน้านาโนไฟแนนซ์ ฟิโกไฟแนนซ์ สินเชื่อทะเบียนรถยนต์ และธุรกิจ E-wallet บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์ ) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS มีมีพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคล มากที่สุดรองมาบัตรเครดิต
บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC และบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD อยู่ในตลาดแข่งขันเดียวกันในสินเชื่อแบบมีทะเบียน และนาโนไฟแนนซ์ ที่ขับเคี่ยวกันมาอย่างต่อเนื่อง
ช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 โบรกเกอร์ต่างมองว่ากลุ่มเหล่านี้ ยังโชว์กำไรเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน (ยกเว้น KTC กำไรลดลง 13 %) จากมาตรการหยุดพักชำระหนี้ตามมาตรการของธปท. มีสัดส่วนต่อพอร์ตสินเชื่อที่ค่อนข้างจำกัด และการบริหารต้นทุนที่ลดลงต่อเนื่อง แต่ยังได้รับผลกระทบจากการเติบโตของสินเชื่อที่ลดลงหรือทรงตัว
ล่าสุดทั้ง MTC และ SAWAD ได้ซอฟโลนดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารออมสิน 4,958 ล้านบาทและ 3,000-4,000 ล้านบาทตามลำดับ สามารถนำมาใช้ในการขยายสินเชื่อในช่วงที่เหลือของปีได้อีก ส่วนการแข่งขันมาจากรายใหม่ยังประเมินได้ยาก เพราะแผนการปล่อยสินเชื่อของออมสินต้องใหญ่พอที่จะกดดันตลาดให้ปรับอัตราดอกเบี้ยลงไประดับเดียวกันจึงจะเกิดแรงกระเพื่อมเป็นลบในกลุ่มนี้