'หอการค้าต่างประเทศ' แนะ รมต.เศรษฐกิจใหม่ 3 ข้อเสนอฟื้นฟูผลกระทบโควิด
หอการค้าไทยต่างชาติชง 3 ข้อเสนอกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้าน ส.อ.ท.แนะเพิ่มแผนกระตุ้น หอการค้าไทยเสนอเร่งแก้ว่างงาน
นายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) กล่าวว่า นักธุรกิจต่างชาติรอดูนโยบายรัฐมนตรีเศรษฐกิจชุดใหม่ ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจไทยมีความท้าทายมาก เพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและโควิด-19 โดยเศรษฐกิจไทยพึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก และการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจก็อาศัยเอสเอ็มอี แต่ขณะนี้ทั้ง 3 ส่วนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ดังนั้นจึงมีข้อเสนอ 3 ประเด็น ดังนี้
1.ด้านการส่งออก โดยเฉพาะปัญหาเงินบาทแข็งค่าที่กระทบการส่งออก ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ต้องหารือกัน
2.ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งไทยอาศัยนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ดังนั้นการพึ่งนักท่องเที่ยวไทยเพียงอย่างเดียวไม่พอ แต่หากจะเปิดประเทศยังกังวลการติดเชื้อโควิด-19 ที่อาจจะกลับมาอีกครั้ง เพราะขณะนี้ต่างประเทศก็มีการแพร่ระบาดอยู่ ดังนั้นารเปิดประเทศเพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาจะต้องรอบคอบและมีมาตรการควบคุมป้องกันเป็นอย่างดี
3.ปัญหาเอสเอ็มอี ทีมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน จะมีมาตรการช่วยเหลือย่างไรรวมทั้งการแก้ปัญหาการว่างานด้วย
นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า รายชื่อรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจคนใหม่ทั้งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ที่คุ้นเคยในการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม จึงรับรู้ปัญหาด้านเศรษฐกิจมาเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ กกร.รวมถึงสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้ตั้งคณะทำงานฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อรวบรวมข้อเสนอไปหารือรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจคนใหม่ เพื่อฟื้นฟูผลกระทบต่อการส่งออก การท่องเที่ยวและซัพพลายเชน
“รัฐบาลควรมีมาตรการใหม่เพิ่มเติม รวมทั้งยืดเวลามาตรการเดิม เช่น การเพิ่มกระแสเงินสด การยืดการพักชำระหนี้ให้ประชาชนและผู้ประกอบการ”
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าว รัฐมนตรีเศรษฐกิจคนใหม่เป็นที่ยอมรับในภาคเอกชน รวมทั้งหอการค้าไทยเคยร่วมงานกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ และนายปรีดี ดาวฉาย ส่วนนายดอน ปรมัตถ์วินัย ก็เป็นผู้ที่รู้จักในภาคเอกชนเป็นอย่างดีเช่นกันและมีความสามารถ โดยภาคเอกชนพร้อมร่วมทำงานเพื่อแก้ปัญหาฟื้นเศรษฐกิจ
นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า ต้องให้เร่งช่วยเอสเอ็มอีที่มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งการเข้าถึงซอฟต์โลนมีปัญหาจึงเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบต่อลมหายใจให้เอสเอ็มอีก่อนเดือน ต.ค.นี้ ที่มาตรการผ่อนผันการชำระหนี้หมดลง
ในขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจมีข้อเสนอ ดังนี้ เร่งการสร้างงานผ่านโครงการรัฐ เพื่อเศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและลดกว่างงานลงได้ รวมทั้งต้องการให้ต่อมาตรการพักชำระหนี้และมาตรการช่วยเหลือคนว่างงาน
นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสาหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า การปรับ ครม.ครั้งนี้ ควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีหลายตำแหน่ง ซึ่งถือว่าค่อนข้างแปลกและไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจเท่าที่ควร โดยเฉพาะยังขาดคนที่มีบารมีและมือประสานหน่วยงานเศรษฐกิจและพรรคร่วมรัฐบาล
“ระยะต่อไปจะมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกลไกทางเศรษฐกิจมาก เช่น การขอปรับเพดานหนี้สาธารณะเกิน 60% ของจีดีพี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องขอโหวตจากในสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งนายกรัฐมนตรีควรประเมินการทำงานของ ครม.ในอีก 3 เดือนข้างหน้า หากยังไม่เห็นการฟื้นเศรษฐกิจหรือสร้างความเชื่อมั่นได้ก็ต้องปรับ ครม.อีกครั้ง”