รีเซ็ตคณะ 'ปฏิรูปเศรษฐกิจ' แบ็คอัพรัฐบาล ดึง ‘คีย์แมน’ สร้างโอกาสท่ามกลางวิกฤติ
สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันได้รับผลกระทบมากจากโควิด-19 คณะกรรมการปฏิรูปชุดหนึ่งที่ได้รับความสนใจ คือ คณะกรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจที่จะสรุปข้อเสนอทางเศรษฐกิจสู่รัฐบาล เพื่อนำไปสู่นโยบายในการแก้ไขปัญหา และนำเสนอทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
การปฏิรูปประเทศด้านต่างๆถือว่าเป็นจุดมุ่งหมายในระยะยาวในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้มีการพัฒนามากขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ตลอดจนภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของประชาชน รัฐบาลตั้งแต่สมัยของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศใน 13 คณะ โดยได้มีการประกาศรายชื่อคณะกรรมการปฏิรูปที่แต่งตั้งใหม่เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา มีวาระการทำงานต่อเนื่องถึงเดือน ส.ค.2565
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันสภาวะทางเศรษฐกิจโลกและไทยได้รับผลกระทบมากจากโควิด-19 คณะกรรมการปฏิรูปชุดหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากประชาชน คือ คณะกรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจ ที่จะสรุปข้อเสนอทางเศรษฐกิจสู่รัฐบาล เพื่อนำไปสู่นโยบายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และนโยบายที่ใช้ในการขับเคลื่อนประเทศในระยะต่อไปหลังโควิด-19 คลี่คลายลง
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจชุดใหม่แม้ไม่มีชื่อ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ที่ลาออกจากตำแหน่งประธานและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจไปก่อนหน้านี้ แต่เมื่อดูรายชื่อคณะกรรมการชุดใหม่ทั้ง 15 คน ถือเป็นบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เป็นส่วนผสมของอดีตรัฐมนตรี และคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมีรายชื่อที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล อดีตประธานกรรมการและประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานกรรมการ กรรมการประกอบไปด้วย นายปรีดี ดาวฉาย อดีตประธานสมาคมธนาคารไทย
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ,นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาในรัฐบาล คสช. นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการในคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และอดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.),นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ,นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และ นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยให้ทำหน้าที่โฆษกประจำคณะกรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยอีกหนึ่งตำแหน่ง
ในรายชื่อดังกล่าวมีชื่อของ นายปรีดี ดาวฉาย ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งหลังจากนี้คงจะมีการปรับเปลี่ยนรายชื่อเพื่อให้ภาคเอกชนรายใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจชุดใหม่ได้มีการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2563 โดยคณะกรรมการชุดนี้มีวาระการดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่ 14 ส.ค.2565
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบผลการประชุมที่ประชุมร่วมประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีการแจ้งกรอบระยะเวลาในการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศ ตามที่ ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2563 ให้ขยายเวลาปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศ โดยให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศดำเนินการภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการปฏิรูปประเทศเพิ่มเติมทุกด้าน
สำหรับวาระเร่งด่วนที่คณะกรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจชุดปัจจุบันต้องเดินหน้าทำงานนอกจากนำเอาวาระการปฏิรูปเร่งด่วนที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว ซึ่งบรรจุในแผน Thailand 2020 ยังมีการพิจารณาคัดเลือกและปรับปรุงจุดเน้นในกิจกรรมปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญ (Big Rock) 4 ด้าน ประกอบด้วย
1.ด้านท่องเที่ยว โดยเน้นการท่องเที่ยวแบบนิวนอมอลที่เน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ
2.ด้านการเกษตรที่มีมูลค่าสูง ซึ่งเป็นสาขาที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตอยู่แล้วแต่ต้องมีการยกระดับพัฒนาทางการตลาดมากขึ้น
3.ด้านการให้ความช่วยเหลือและพัฒนาเอสเอ็มอี โดยเน้นการปรับธุรกิจสู่นิวนอมอล ท่ี่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในอนาคต
4.การพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาค รวมทั้งการพัฒนาแรงงานรองรับความต้องการในอนาคต โดยเชื่อมโยงกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา อาชีวะ 4.0 และการพัฒนาทักษะแรงงานแห่งอนาคต
ทั้งนี้คณะกรรมการจะได้มีการหารือในรายละเอียดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนประเด็นปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริงในระยะต่อไป โดยคณะกรรมการชุดนี้มีกำหนดการประชุม 2 สัปดาห์ครั้ง
ในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 จำเป็นอย่างยิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องดึงบุคลากรทุกส่วนเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เพิ่มมากขึ้นทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน