'เศรษฐกิจโลก' ต้องระวังพายุใหญ่ครึ่งปีหลัง
เปิดมุมมอง ดร.บัณฑิต นิจถาวร เมื่อเศรษฐกิจโลกช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า อาจต้องเจอ 3 พายุใหญ่ ทั้งการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สงบ ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพการเมืองในประเทศ ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนทั่วโลกอย่างไรบ้าง?
อาทิตย์ที่แล้ว ผมเขียนบทความ “ข้อคิดเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง” พูดถึงเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ทำให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” หลายคนถามว่า แล้วเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไร อยากให้ลงรายละเอียดมากหน่อย ซึ่งผมเข้าใจดีเพราะใครที่ตามเศรษฐกิจโลกขณะนี้ จะรู้สึกว่าเศรษฐกิจโลกมีปัญหามาก มีแต่ข่าวไม่ดี วันนี้จึงขอเขียนถึงมุมมองผมเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า ที่เศรษฐกิจโลกอาจเจอสามพายุใหญ่ที่จะส่งผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก
พายุลูกแรก คือ การระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สงบ แต่กำลังเป็นปัญหาต่อเนื่องทั่วโลก ทั้งในประเทศที่ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในรอบแรก และการระบาดรอบ 2 ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่ควบคุมการระบาดได้ดีในรอบแรก เช่น จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ เวียดนาม และล่าสุดนิวซีแลนด์ที่ต้องกลับมาล็อกดาวน์บางส่วนของประเทศอีก ยอดผู้ติดเชื้อโควิดทั่วโลกล่าสุดได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 21 ล้านคน ยอดสะสมของผู้เสียชีวิตกว่าเจ็ดแสนห้าหมื่นคนและตัวเลขเพิ่มขึ้นทุกวัน ทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่ไม่มีท่าทีว่าจะลดลง
พายุลูกที่ 2 คือ ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจที่เป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย เม็กซิโก รัสเซีย ตุรกี ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ อินเดีย บราซิล ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกช่วง 6-12 เดือนข้างหน้าจะมีข้อจำกัดมาก กระทบการค้าระหว่างประเทศ การใช้จ่ายภายในประเทศ การท่องเที่ยว และฐานะการเงินของบริษัท ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะใช้เวลาและล่าช้าออกไป
ที่สำคัญ คนจะตกงานมากจนการไม่มีงานทำจะเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก เรื่องนี้องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เคยประเมินเมื่อเดือนมิถุนายนว่า ในกรณีที่การระบาดของโควิด-19 ยึดเยื้อ มีการระบาดรอบ 2 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอจะทำให้ชั่วโมงทำงานในเศรษฐกิจโลกลดลง 12% เท่ากับจำนวนคนว่างงาน ประมาณ 340 ล้านคน ซึ่งตัวเลขอาจดูต่ำไปในสถานการณ์ปัจจุบัน
ความตกต่ำของภาวะเศรษฐกิจจะทำให้เศรษฐกิจโลกถลำเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง และภาครัฐจำเป็นต้องใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบ ในประเทศอุตสาหกรรม ที่ฐานะการคลังยังไม่เป็นปัญหา รัฐบาลจะต้องกู้เงินมากขึ้นเพื่อลดทอนผลกระทบ แต่ในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ฐานะการคลังมักมีข้อจำกัด การกู้เงินมากขึ้นจะทำให้ประเทศเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติการคลัง เป็นข้อจำกัดที่จะทำให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจทำได้ยาก และเสี่ยงต่อการเกิดทั้งวิกฤติหนี้และวิกฤติการคลังตามมา
สำหรับประเทศที่พึ่งพาเศรษฐกิจโลกเพื่อการเติบโต ผ่านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว เช่น ไทย เศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงจะยิ่งสร้างข้อจำกัดต่อการฟื้นตัว ทำให้การฟื้นตัวต้องอาศัยปัจจัยภายในประเทศอย่างเดียว หมายความว่า ถ้าภาวะตกต่ำของเศรษฐกิจโลกยืนระยะนาน 2 –3 ปี เศรษฐกิจเหล่านี้ก็จำเป็นที่ต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถอยุ่ได้ในช่วงที่โควิดยังระบาด และช่วงหลังโควิดที่เศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนไม่เหมือนเดิม
ตัวอย่างเรื่องนี้ ก็เช่นคำเตือนต่อนักธุรกิจสิงคโปร์จากรัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ นายชาน ชุน ซิง เมื่ออาทิตย์ที่แล้วว่าโลกธุรกิจจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมในสี่ด้าน คือ 1.ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐ ที่จะมีมากขึ้นในหลายมิติ จะกระทบการค้าระหว่างประเทศ และเป็นอุปสรรคต่อการค้าเสรี 2.การกลับทางของโลกาภิวัตน์ ที่บริษัทต่างประเทศจะเลือกลงทุนนอกบ้านน้อยลง เพื่อลดความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทาน
3.การว่างงานจะเพิ่มขึ้นจากการสูญเสียตำแหน่งงานให้กับเทคโนโลยี หรือแรงงานนอกประเทศที่สามารถทำงานให้บริษัทในสิงคโปร์ได้ โดยทำงานที่บ้านในประเทศของตน 4.เศรษฐกิจที่เติบโตลดลง จะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น ทั้งหมดนี้จะสร้างปัญหามากต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในประเทศ
พายุลูกที่ 3 คือ เสถียรภาพการเมืองในประเทศที่จะเปราะบางมากขึ้นจากการประท้วงของคนในประเทศต่อการทำหน้าที่ของรัฐบาลในการแก้ปัญหาและจากความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น มองว่ารัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาและบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ การประท้วงของประชาชนจึงเป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้ และนับวันจะมีมากขึ้น เป็นสิ่งที่สะสมมาตั้งแต่ก่อนโควิดเพราะประชาชนไม่เชื่อมั่นในระบบการเมืองและผิดหวังใน ความสามารถของรัฐที่จะแก้ปัญหา
ประเด็นนี้ สถาบันคาร์เนกี้เพื่อสันติภาพสากล (Carnegie Endowment for International Peace) รายงานว่า ช่วงปี 2018-2020 มีการประท้วงรัฐบาลกว่า 100 ครั้งทั่วโลก นำมาสู่การเปลี่ยนรัฐบาลหรือผู้นำทางการเมืองกว่า 30 เหตุการณ์ มากสุดก็ที่อเมริกาใต้ และรุนแรงสุดที่ตะวันออกกลาง สำหรับปี 2020 ที่มีการระบาดของโควิด-19 ถึงปลายเดือนที่แล้วมีการประท้วงของประชาชนแล้วในกว่า 30 ประเทศทั่วโลกประท้วงเรื่องความสามารถในการแก้ปัญหาโควิดของรัฐบาล การใช้อำนาจโดยมิชอบ ปัญหาการว่างงาน การทุจริตคอร์รัปชั่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ความชอบธรรมของรัฐบาล เรื่องผิว และระบบยุติธรรม
ที่น่าห่วง คือ ถ้าภาวะตกต่ำของเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น การระบาดของโควิดยึดเยื้อ ขณะที่ประชาชนไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ ความโกรธและความไม่พอใจของประชาชนก็จะยิ่งมีมากขึ้น อาจนำไปสู่ความไม่มีเสถียรภาพของการเมืองในประเทศ ล่าสุดที่เลบานอน มีการเปลี่ยนรัฐบาลจากผลของระเบิด ปัจจัยการเมืองเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ ต้องให้ความสำคัญและระมัดระวังมาก
ประเทศเราเองก็ต้องระวังพายุทั้ง 3 ลูกนี้เช่นกัน เพื่อไม่ให้เกิดเป็น Perfect storm หรือ พายุใหญ่ที่จะกระทบเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง การหลีกเลี่ยงต้องเริ่มจากนโยบายสาธารณสุขและการเปิดประเทศที่ระมัดระวัง เพื่อลดความเสี่ยงของการระบาดรอบ 2 ใช้ทรัพยากรการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างตรงจุดและไม่รั่วไหล เสริมด้วยการแก้ไขปัญหาการเมืองที่ประเทศมีอย่างสันติ ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายเพื่อประโยชน์ของคนทั้งประเทศ