ไทยเตรียมถกญี่ปุ่นเปิดตลาดหมูเพิ่ม ช่วง"อาเซียน ซัมมิท" พ.ย.นี้
ไทยเดินหน้าเปิดตลาดหมูในญี่ปุ่น ชง“นายกฯ”ใช้เวทีอาเซียนซัมมิท พ.ย.นี้ ถก ญี่ปุ่นเปิดตลาดสุกรแปรรูปไทย 2 พิกัดทวงหลังไทยผ่อนปรนนำเข้าสินค้าประมงฯ
รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig board หรือ พิกบอร์ด ) ที่มี นายองลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธาน ได้พิจารณาท่าทีฝ่ายไทยเพื่อในการเจรจาขยายการส่งออกเนื้อสุกรในตลาดญี่ปุ่น อีกครั้ง ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะหยิบยกขึ้นมาหารือกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN SUMMIT) ในเดือน พ.ย. นี้
ทั้งนี้ ไทยต้องการขยายโควตาสินค้าสุกรแปรรูปไปญี่ปุ่น ผ่านการเจรจาตามท่าที่หลัก 2 ทางคือ ขอให้ญี่ปุ่นยกเลิกโควตาสินค้าสุกรแปรรูป 2 พิกัดภาษีศุลกากร คือ พิกัด ฯ 1602.41.090 คือส่วนขาหลังและส่วนตัดขาหลัง และ พิกัด ฯ 1602.49.290 คือส่วนอื่น เช่น Luncheon meat โดยให้ทยอยลดภาษีลงจาก 16 % เหลือ 0 % ในที่สุด
ส่วนท่าทีสำรอง ขอให้ญี่ปุ่นทยอยเพิ่มปริมาณโควตาสินค้าสุกรแปรรูป 2 พิกัด ดังกล่าว โดยเริ่มจาก 12,000 ตันต่อปี เป็นโควตาในแต่ละปี และให้ญี่ปุ่นทยอยลดภาษีโควตาจาก 16 % เป็น 0 % ในที่สุด โดยให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์พิจารณาช่วงระยะเวลาในการยกเลิกโควตาและช่วงระยะเวลาในการทยอยลดภาษีต่อไป
ที่ผ่านมาไทยใช้กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น(JTEPA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ พ.ย. 2550 ในการผลักดันการเจรจาเปิดตลาดสินค้า โดยทั้ง 2 ฝ่ายสามารถหยิบยกสินค้าบางประเภทที่สามารถนำกลับมาเจรจาเพิ่มเติมได้ในปี ที่ 5 และ 6 ซึ่งไทยได้เริ่มผลักดันให้ญี่ปุ่นขยายโควตาสินค้าสุกร 2 พิกัด มาตั้งแต่ปี 2553 ในขณะที่ญี่ปุ่น มีหนังสือขอเปิดตลาดเนื้อสุกรมายังไทยเมื่อปี 2556 ซึ่งที่ผ่านมา
"ญี่ปุ่นไม่สามารถส่งมาได้ แม้ว่าไทยจะลดภาษีเหลือ 0 % แล้วภายใต้ความตกลง JTEPA เนื่องจากเนื้อสุกรของญี่ปุ่นยังไม่ผ่านมาตรฐานสุขอนามัย (SPS ) โดยต่อมาญี่ปุ่นได้พัฒนาในด้าน SPS ไทยจึงต้องเปิดตลาดให้ ปัจจุบันมี 1 โรงงาน ซึ่งกรมปศุสัตว์จะนำรายชื่อประกาศขึ้น Website ของกรมปศุสัตว์ต่อไป"
สำหรับการขยายตลาดหมูในญี่ปุ่น มีการเจรจาครั้งล่าสุดเมื่อปี 2558 เมื่อครั้งที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนญี่ปุ่น โดยขอให้เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่ายหารือกันต่อไป แต่ญี่ปุ่นได้ขอให้ไทยผ่อนปรนมาตรการห้ามนำเข้าสินค้าประมงจากพื้นที่ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวของญี่ปุ่น และแสดงความสนใจพัฒนารถไฟชินคันเซนจากกรุงเทพ- เชียงใหม่ ด้วย ซึ่งปัจจุบันไทยได้ผ่อนปรนเรื่องการนำเข้าสินค้าประมงดังกล่าวแล้ว ดังนั้น ญี่ปุ่นควรพิจารณาขยายโควตาสุกร 2 พิกัด ให้กับไทยตามข้อเสนอ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพิจารณาการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โรคระบาด และเพื่อให้มีความปลอดภัยในการเลี้ยงสุกร จึงเห็นควรให้ปรับแก้ไขแผนการใช้เงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ปี 2561 ภายใต้โครงการปรับระบบการป้องกันทางชีวภาพของฟาร์มสุกรรายย่อย เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร(ASF)
โดยให้ จัดอบรมระบบ Good Farming Management (GFM) หรือ แนวทางการยกระดับมาตรฐานการทำปศุสัตว์ ด้วยระบบป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม พร้อมทั้งรับรอง สนับสนุนปัจจัยการผลิตต่อเกษตรกร เป็นการประเมินรายฟาร์ม ซึ่งจะไม่เท่ากันในแต่ละราย โดยไทยมีฟาร์มที่ประเมินความเสี่ยงต่อ ASF ระดับสูง- สูงมาก จำนวน 36,649 ฟาร์ม ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย-เล็ก