Xinomics นำ 'จีน' ก้าวสู่ 'มหาอำนาจเศรษฐกิจ' ด้วยโมเดลใหม่
ส่องโมเดล Xinomics หรือสังคมนิยมการเมือง-เสรีนิยมเศรษฐกิจ แนวทางใหม่ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่นำพาจีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจได้ดี ท่ามกลางความตกต่ำของระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม 100% แบบตะวันตกในปัจจุบัน
อาจกล่าวได้ว่าปี 2020 อาจไม่ใช่ปีที่ดีนักของจีน COVID-19 โรคร้ายที่ระบาดครั้งแรกในจีน ทำให้มีผู้ป่วยกว่า 8.5 หมื่นคน เสียชีวิตกว่า 4,600 คน และลามทั่วโลก ทำให้หลายชาติประณามว่าจีนเป็นต้นกำเนิดแห่งโรคร้าย
ส่งผลให้แนวนโยบายอื่นๆ ของจีน โดยเฉพาะด้านการต่างประเทศ ทั้งจากการเผยแผ่อิทธิพลเศรษฐกิจและแนวนโยบายสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ ผ่านโครงการ Belt and road initiative ต้องชะลอลง ส่วนด้านอุตสาหกรรม ผู้ผลิตในหลายประเทศที่เคยสั่งซื้อของจากจีน เริ่มกังวลในประเด็นการหยุดชะงักของการผลิต (Supply chain disruption) รวมถึงด้านความปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชน จึงลดการนำเข้าจากจีนและการลงทุนในจีน
นอกจากนั้นประเด็นด้านสงครามเย็นระหว่างจีน-สหรัฐและพันธมิตรน่าจะกดดันจีนเช่นกัน ทั้งการประกาศพร้อมนำหุ้นจีนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐ หากไม่ทำตามกฎระเบียบทางบัญชี ประกาศแบน Huawei, TikTok และ WeChat ประกาศปิดสถานกงสุลจีนในฮุสตัน และประกาศแบนประธานเจ้าหน้าที่และผู้บริหารเกาะฮ่องกง 11 ท่าน ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากภาพเหล่านี้ เศรษฐกิจ-สังคม-การเมืองภายในจีนน่าจะไม่ดีนัก
หาได้ไม่ เมื่อพิจารณาภายในประเทศนั้น อาจกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวดีมาก โดยในไตรมาส 2 ขยายตัวกว่า 3.2% ขณะที่ IMF คาดการณ์ว่า GDP จีนในปีนี้จะเติบโตประมาณ 1% ซึ่งเป็นส่วนน้อยในโลกที่เศรษฐกิจปีนี้ยังจะเติบโตเป็นบวก เมื่อเทียบกับสหรัฐและไทยที่คาดว่าอาจหดตัวถึงกว่า 8%
คำถามคือ มีสูตรลับอะไร และแผนการของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐในการจำกัดการเติบโตขึ้นของจีน เหตุใดจึงไม่ประสบผลสำเร็จ
คำตอบ นั่นเป็นเพราะสหรัฐและชาติพันธมิตรมองผิด คิดว่าจีนยังโตด้วยสูตรเก่า คือ 1.โตด้วยการก่อหนี้และอุดหนุนโดยรัฐ ช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจก่อนภาคเอกชน และ 2.การใช้ Forced techno transfer (บังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี) และการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา ฉะนั้น ถ้ากดดันมากพอ จะทำให้จีนต้องเปิดจุดอ่อน ยอมเปิดเสรี และพ่ายแพ้ต่อชาติตะวันตกที่โปร่งใส เป็นประชาธิปไตย และมีนวัตกรรม
แต่ปัจจุบันจีนก้าวไปอีกขั้นแล้ว ด้วยแนวทาง “สังคมนิยมการเมือง-เสรีนิยมเศรษฐกิจ” ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่เรียกว่า Xinomics โดยหลังจากที่จีนสามารถใช้โมเดลการปิดเมืองที่เด็ดขาด จนทำให้การติดเชื้อ COVID รอบแรกแทบหายขาดไปจากจีนแล้ว ก็ผลักดันนโยบายเศรษฐกิจสำคัญที่ประกอบด้วยแนวทางสำคัญ 3 ประการคือ
1.ลดการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกินตัวที่เคยทำในยุคหลังแฮมเบอร์เกอร์ อันนำไปสู่ปัญหาหนี้ประชาชาติ (ที่รวมทั้งหนี้รัฐ เอกชน และครัวเรือน) ที่สูงถึงระดับเกือบ 300% ต่อ GDP แต่ในวิกฤติครั้งนี้ จีนจะกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับจำเป็น โดย
(1) ให้สถาบันการเงินหยุดทำธุรกรรมแบบนอกงบดุล (off-balance sheet) ที่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของภาคการเงินเงา (Shadow banking) และหันไประดมทุนผ่านตลาดพันธบัตรที่โปร่งใสกว่าแทน ทำให้ปัจจุบันขนาดของตลาดพันธบัตรมีขนาดเท่ากับเศรษฐกิจจากเพียง 50% ใน 8 ปีก่อน
(2) ใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างสุขุม เพียงประมาณ 5% ของ GDP ต่างจากสหรัฐที่เพิ่มขึ้นถึงกว่า 10% ของ GDP
(3) ใช้นโยบายการเงินอย่างสุขุม โดยลดดอกเบี้ยลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป (ลดเพียง 2 ครั้งในปีนี้) และจำกัดการขยายตัวของปริมาณเงินและสินเชื่อ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ทำให้ปัญหาหนี้ประชาชาติต่อ GDP ที่ขึ้นมหาศาลปีละกว่า 10% ในช่วง 2008-2016 เหลือเพียง 4% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
2.ปฏิรูปเชิงสถาบัน เช่น ระบบกฎหมายให้ทันสมัยและเป็นสากลมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายธุรกิจ ทำให้การฟ้องล้มละลายเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าในรอบ 5 ปี ขณะที่คดีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าตั้งแต่ปี 2012 (และส่วนใหญ่โจทก์ที่เป็นบริษัทต่างประเทศจะชนะในคดีเหล่านี้) รวมถึงการอนุญาตให้เอกชนฟ้องภาครัฐมีมากขึ้นด้วย
การใช้กฎหมายอย่างรัดกุม เป็นสากลขึ้น ทำให้การบริหารราชการ และธุรกิจโปร่งใส รวมถึงเกิด Creative destruction อันเป็นจุดเริ่มต้นของการล้างโมเดลธุรกิจเก่าและสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ที่มีประสิทธิภาพ
3.ลดพรมแดนระหว่างการเป็นรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชน โดยพยายาม “รีดไขมัน” รัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพขึ้นมาก มีความสามารถทำกำไรทัดเทียมบริษัทเอกชน รัฐวิสาหกิจบางแห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จีน ทำผลประกอบการดีและเป็นที่นิยมในการลงทุนมากกว่าธุรกิจเอกชนเสียอีก (เช่น China Merchant Bank ที่เป็นธนาคารของรัฐ ทำผลประกอบการได้ดีกว่า Bank of Communications ที่เป็นของเอกชนเสียอีก)
ส่วนภาคเอกชนนั้น สี จิ้นผิง มีการ “สอดส่อง” ผ่านการตั้งสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ให้ไปนั่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริษัท ทำให้มีส่วนในการตัดสินใจของบริษัทให้อยู่ในแนวทางของพรรค และหากมีโมเดลทำธุรกิจได้ดีก็จะมีเงินทุนจากภาครัฐช่วยในการทำธุรกิจอีกด้วย ตัวอย่างโมเดลนี้ได้แก่ Huawei, Alibaba, Tencent (เจ้าของ WeChat) Bytedance (เจ้าของ TikTok), BYD (ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า) เป็นต้น
โดยโมเดลนี้เรียกว่า “Mixed Ownership” หรือการลดพรมแดนระหว่างการเป็นรัฐวิสาหกิจ-เอกชน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารของรัฐวิสาหกิจแล้ว ในส่วนภาคเอกชน พรรคคอมมิวนิสต์ยังสามารถผลักดันเศรษฐกิจให้พัฒนาไปยังอุตสาหกรรมที่อยู่ในแผน 5 ปี และเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และแบตเตอรี่ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้บางบริษัท เช่น YMTC บริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่อยู่ในเมือง Wuhan สามารถผลิตหน่วยความจำที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับซัมซุงได้แล้ว
แม้ในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมเช่นผู้เขียน จะไม่ชอบโมเดลเศรษฐกิจจีนในรูปแบบที่มีภาครัฐเข้ามาก้าวก่ายอย่างมากก็ตาม เพราะเชื่อว่าการเปิดเสรีให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้พัฒนานวัตกรรมอย่างอิสระ จะนำไปสู่สังคมแห่งการพัฒนา และเป็นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า Xinomics ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจได้ดี ท่ามกลางความตกต่ำของระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม 100% แบบตะวันตกในปัจจุบัน
โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของมหาอำนาจใหม่ได้เปิดเผยแล้ว นักวิชาการ ผู้กำหนดนโยบาย ตลอดจนนักธุรกิจและนักลงทุนไทย เตรียมพร้อมรับมือแล้วหรือยัง
[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]