KTAM หนุนTFFIF ระดมทุน-ลดหนี้สาธารณะภาครัฐ
บลจ. กรุงไทย ชี้กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ช่วยรัฐระดมทุนและลดหนี้สาธารณะได้ ย้ำใช้กองทุนTFFIF เป็นประโยชน์สูงสุดกับผู้ลงทุนและรอความชัดเจนการแก้กม.เปิดทางเพิ่มทรัพย์ใหม่เข้ากองทุน ขณะที่ดอกเบี้ยปัจุบันจะเป็นตัวกำหนดผลตอบแทนกองทุน ส่วนผลตอบแทนกองทุนTFFIF ยังเห็นสัญญาฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM เปิดเผยว่า แนวทางการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund/Opportunity Fund) สามารถเป็นเครื่องมือที่ภาครัฐใช้ระดมทุนแทนการกู้เงิน สำหรับการลงทุนในโครงการต่างๆ ของภาครัฐที่มีความจำเป็นในการใช้เงิน และลดการก่อหนี้ของภาครัฐ ที่มีกรอบการบริหารหนี้สาธารณะไม่เกิน60% อีกทั้งยังเหลือวงเงินกู้ยืมเพื่อดำเนินมาตรการที่จำเป็นอื่นๆ ในอนาคต รวมถึงเป็นการลงทุนดังกล่าวยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนในภาวะดอกเบี้ยยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ด้วย
ทั้งนี้ในเบื้องต้นมองว่า การใช้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย ไทย แลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์(TFFIF) ที่มีอยู่แล้วมารองรับ น่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ลงทุน จากการสร้างรายได้เข้ากองทุนมากขึ้น และไม่มีความจำเป็นต้องตั้งกองทุนใหม่ที่อาจมีต้นทุนมากว่า
โดยโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ที่มีแนวโน้มเข้ากองทุนได้ มองว่า ต้องมีวัตถุประสงค์การใช้เงินที่ชัดเจนและต้องการลดหนี้สาธารณะ รวมถึงโครงการต้องมีการสร้างรายได้ที่ชัดเจนสม่ำเสมอ เช่น โครงการทางด่วน โครงการท่าเรือโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสีต่างๆ ขณะที่โครงการของรัฐวิสาหกิจ เช่น โรงไฟฟ้า ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ความน่าสนใจและในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
แต่การพิจารณาเพิ่มทรัพย์ใหม่ๆ เข้ากองทุน TFFIF ขณะนี้ยังต้องรอการปรับปรุงกฎเกณฑ์ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการถือครองสัดส่วนทรัพย์สินในส่วนของภาครัฐ เพื่อที่จะสามารถนำทรัพย์สินในส่วนโครงการของรัฐวิสาหกิจนำมาเข้ากองทุนเพิ่มเติมได้ ซึ่งยังเห็นความพยายามในส่วนนี้อยู่
ขณะที่ทางด้านการพิจารณาผลตอบแทนของกองทุนนั้น มองว่า คงจะต้องสะท้อนภาวะความเป็นจริงมากที่สุด โดยอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันจะเป็นตัวกำหนด ซึ่งเทียบเคียงกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ20ปีหรือ30ปี เป็นหลัก
ทางด้านผลการดำเนินงานของกองทุนTFFIFในช่วงที่ผ่านมานี้ ยอมรับว่าได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส2 ที่ผ่านมานี้ เห็นภาพชัดเจนมากจากการทำงานที่บ้าน( Work From Home ) ประชาชนงดเดินทาง มีปริมาณการใช้ทางด่วนลดลง ทำให้รายได้ทางด่วนลดลงและ ส่งผลให้ผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุน TFFIF ลดลงด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส3 นี้ เริ่มมีสัญญาณการใช้ทางด่วนกลับมาดีขึ้น และคาดว่าไตรมาส 4 ปีนี้จะทยอยกลับมาดีต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าหากสถานการณ์ทุกอย่างกลับมาดีขึ้นเข้าสู่สภาพปกติ ผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนTFFIF ก็กลับมาดีขึ้นเหมือนเดิม และยังมีโอกาสในการเพิ่มทรัพย์เข้ากองทุนแต่ยังต้องรอความชัดเจนจากภาครัฐ
“แม้ว่าประเทศไทยจะสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19ได้ดีก็ตาม แต่หากประเทศคู่ค้าและประเทศเพื่อนบ้านยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ เศรษฐกิจไทยก็ไม่สามารถดีขึ้นได้ ในส่วนภาครัฐยังจำเป็นต้องใช้เงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งกองทุนTFFIF น่าจะเหมาะสมกว่าการออกตราสารหนี้ในการระดมทุนเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย”
ส่วนมุมมองภาพรวมกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน นางชวินดา กล่าวว่า กองทุนประเภทนี้ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้า ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอให้แก่นักลงทุนได้ในอนาคต ยังเป็นที่ต้องการของนักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันโดยเฉพาะประกันและกองทุนที่เป็น Fund fo Fund ที่หาจังหวะเหมาะสมเข้ามาทำกำไรในกองทุนประเภทนี้มากขึ้น