ศาลฎีกายกฟ้อง 5 จำเลย 'คดีสติ๊กเกอร์โหวตโน'
ศาลฎีกายกฟ้องทุกข้อกล่าวหา "คดีสติ๊กเกอร์โหวตโน" 5 จำเลย ลั่นหนุนปิดสวิชต์ ส.ว. - ร่าง รธน. ใหม่ทั้งฉบับ
เมื่อวันที่ 26 ส.ค.63 เวลา 09.00 น.ที่ศาลจังหวัดราชบุรี มีนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีสติ๊กเกอร์โหวตโน โดยกรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2559 ระหว่างสมาชิกขบวนประชาธิปไตยใหม่ 4 คน(ณ ขณะนั้น) ประกอบด้วย ปกรณ์ อารีกุล , อนุชา รุ่งมรกต , อนันต์ โลเกตุ และภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิชัย เดินทางไปให้กำลังใจกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งถูกออกหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาจากกรณีถ่ายรูปเปิด “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” ซึ่งการเดินทางครั้งนั้นมี ผู้สื่อข่าวประชาไท ติดตามไปทำข่าวด้วย
โดยทั้ง 5 คนถูกจับกุมหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และสติ๊กเกอร์โหวตโน ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก จึงได้จับกุมแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 และขัดประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 25 กรณีไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ
โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นยกฟ้องข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 ส่วนข้อหาขัดคำสั่งไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ทั้งหมดรับสารภาพ ศาลสั่งปรับ 1000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือปรับ 500 บาท ต่อมาอัยการยืนอุทธรณ์ ศาลพิพากษายืนตามศาลชั้นต่อ
จากนั้นจำเลยยืนขอฎีกากรณีไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ เนื่องจากเห็นว่าประกาศดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาเห็นว่าคำร้องของจำเลยฟังขึ้น จึงพิพากษายกฟ้อง
ปกรณ์ อารีกุล ให้สัมภาษณ์หลังจากฟังคำพิพากษาว่า คดีนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญ ที่ทำให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีความชอบทำ ทั้งในกระบวนการร่างที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม และกระบวนการประชามติที่ไม่เป็นธรรม นอกจากกลุ่มตนแล้วยังมีผู้ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีเพราะออกมารณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 212 คน ทำให้บรรยากาศในการลงประชามติไม่มีการเสนอนำและถกเถียงประเด็นต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญอย่างทั่วถึง และที่สำคัญประชาชนหลายคนเพิ่งรู้หลังจากเลือกตั้งว่า ส.ว. 250 คนสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ส่วนการเคลื่อนไหวทางการเมืองเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้ เห็นว่า ควรปิดสวิชต์ ส.ว. 250 คน และเปิดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
ด้านอนุชา รุ่งมรกต กล่าวด้วยว่า รู้สึกยินดีที่วันนี้ได้รับความเป็นธรรม แต่เมื่อคิดย้อนกลับไปตลอดระยะเวลาที่เกิดคดีนี้ขึ้น ยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับชีวิตอย่างมากจากเรื่องไม่เป็นเรื่อง พร้อมชี้ว่า คดีนี้ไม่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่ต้น เพราะเมื่อมีการทำประชามติก็ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เเสดงความเห็นอย่างเต็มที่ หากมีการปิดกั้นการแสดงออกไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการทำประชามติที่แท้จริง การฟ้องร้องดำเนินคดีในช่วงนั้น ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปากปิดประชาชน ซึ่งในเวลากลุ่มรณรงค์พยายามชี้ให้เห็นปัญหาของ ส.ว. 250 คนที่ได้มาจากการแต่งตั้งของ คสช. และมีอำนาจหน้าที่เพิ่มมากขึ้น ว่าจะสร้างปัญหาให้กับกระบวนการประชาธิปไตยในอนาคต ซึ่งปัจจุบันนี้ปัญหาต่างๆ ได้เกิดขึ้นแล้ว
ขณะที่ทวีศักดิ์ เกิดโภคา ระบุว่า หากพูดอย่างตรงไปตรงมาการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมานั้น หมดความชอบธรรมไปนานแล้ว ไม่เพียงแค่ปัญหาของกระบวนการร่าง และกระบวนการทำประชามติเท่านั้น แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติ กับรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญคนละฉบับ เนื่องจากมีการนำกลับไปแก้ไขก่อนประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นปัญหาที่นำไปสู่คำถามสำคัญว่า สำหรับประเทศนี้ อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของใคร หากเชื่อว่าเป็นของประชาชน ก็ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง