มติวิป 3 ฝ่ายกำหนดไทม์ไลน์ เห็นร่วมตั้ง ส.ส.ร. - ‘ก้าวไกล’ แก้ปมฝ่ายค้านเสียงแตก ล่า 5 หมื่นชื่อยื่นญัตติ
มติวิป 3 ฝ่าย เคาะไทม์ไลน์ญัตติแก้รัฐธรรมนูญ เริ่มวาระแรก 23 ก.ย. ส่วนเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลไม่ลงมติ 9 ก.ย. ด้าน“ก้าวไกล” แถลงจุดยืนปิดสวิตช์ ส.ว.-ค้านส.ส.ร.ปิดตายแก้หมวด 1-2 แก้ปมฝ่ายค้านเสียงแตก จ่อล่า 5 หมื่นชื่อปชช. ขณะที่นายกฯ เตือนเอาชนะคะคานประเทศล่มสลาย
ความคืบหน้าการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของสภาผู้แทนราษฎร ล่าสุดมีความชัดเจนมาจากวิป 3 ฝ่าย โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) แถลงผลการประชุมร่วมกันของวิป 3 ฝ่ายถึงการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในเดือน ก.ย.2563 ทั้งนี้ในเดือน ก.ย.ก่อนปิดสมัยประชุมสภาจะมีวาระการประชุมทั้งการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามลำดับ
ดังนี้ วันที่ 1 ก.ย.ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศจำนวน 3 ฉบับ วันที่ 9 ก.ย. ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะมาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น ส่วนวันที่ 10 ก.ย. ประชุมสภาฯ พิจารณารายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน วันที่ 16-18 ก.ย. ประชุมสภาฯพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2564 และจะส่งร่างพ.ร.บ.ที่ผ่านสภาฯให้กับในวันที่ 21-22 ก.ย.
จากนั้นวันที่ 23-24 ก.ย.เป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับในวาระที่ 1 ชั้นรับหลักการ
“ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อยู่ในรัฐสภาตอนนี้ต่างมีหลักการเหมือนกัน คือ การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพียงแต่แตกต่างกันในรายละเอียด เช่น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านเสนอให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง แต่ของพรรคร่วมรัฐบาลกำหนดให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งบางส่วน แต่ในการประชุมร่วมของวิป 3 ฝ่ายในวันนี้ ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า วุฒิสภาและแต่ละฝ่ายจะลงมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอมายังสภาอย่างไร เพราะทั้ง 3 ฝ่าย หารือเฉพาะเรื่องการบรรจุระเบียบวาระเท่านั้น ส่วนการลงมติจะเป็นอย่างไรจะต้องให้มีการอภิปรายกันในที่ประชุมรัฐสภาก่อน” นพ.ชลน่าน กล่าว
“ก้าวไกล”เดินหน้าปิดสวิตช์ส.ว.
ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ร่วมกันแถลงย้ำถึงเตรียมเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อยกเลิกบทเฉพาะกาลมาตรา 269 ถึง 272 เกี่ยวกับ ส.ว.ที่แต่งตั้งโดย คสช. และอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า วันนี้พรรคก้าวไกล ขอแถลงจุดยืนและข้อเสนอในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในสถานการณ์ปัจจุบัน ดังต่อไปนี้
ประการแรก พรรคก้าวไกลยังยืนยันที่จะผลักดันให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่ไปจำกัดว่าห้ามแก้หมวดใดหมวดหนึ่ง
ในประเด็นนี้ พรรคก้าวไกลได้เสนอในที่ประชุมระดับหัวหน้าพรรค ของพรรคร่วมฝ่ายค้านหลายครั้งในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้ไปกำหนดห้าม ส.ส.ร. แก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 1 และ 2 แต่สุดท้ายเมื่อเสียงส่วนใหญ่ของพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นต่างออกไป พรรคก้าวไกลจึงขอถอนชื่อในการเสนอญัตติ เพื่อสงวนความเห็นในเรื่องนี้เอาไว้
ทั้งนี้เมื่อญัตติที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอให้ตั้ง ส.ส.ร.เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา พรรคก้าวไกลจะโหวตสนับสนุนในวาระที่ 1 และจะขอแปรญัตติในวาระที่ 2 ต่อไป เพื่อให้ ส.ส.ร.สามารถโอบรับเจตจำนงของประชาชนได้ทุกกลุ่ม ลำดับต่อไป พรรคก้าวไกลจะเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อปิดสวิตช์ส.ว. โดยไม่ควรรอให้ ส.ส.ร.เป็นผู้ดำเนินการ
ย้ำว่ากระแสสูงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความยินยอมพร้อมใจของรัฐบาล หรือของ ส.ว. แต่อย่างใด ทว่าเกิดขึ้นจากเสียงเรียกร้องกดดันจากนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วประเทศ จนกระทั่งขณะนี้ ส.ว. หลายคนได้ออกมายอมรับที่จะยกเลิกอำนาจในการเลือกนายกฯ แล้ว เพื่อไม่ให้การเมืองไทยเดินไปสู่ทางตัน
แก้เกมล่า5หมื่นชื่อแก้รธน.
ด้านนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยลงมติไม่สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคก้าวไกล เนื่องจากมีแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา269-272 เรื่องการปิดสวิตช์ ส.ว.ว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยไม่สนับสนุน พรรคก้าวไกลอาจเปลี่ยนแนวทางไปใช้วิธีล่าชื่อประชาชน 50,000 คน ในการเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแทน
“บางครั้งก็ต้องใช้พลังจากนอกสภาฯ เป็นตัวกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจส.ว.ให้เกิดผลสำเร็จ ส่วนการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อแก้รัฐธรรมนูญนั้น พรรคก้าวไกลก็จะขออภิปรายร่วมแก้รัฐธรรมนูญตามแนวทางของพรรคต่อไป” นายธีรัจชัย กล่าว
นายกฯวอนหยุดเอาชนะคะคาน
ส่วนท่าทีจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีถูกวิจารณ์ว่าเป็นเผด็จการว่า ตนอดทนเพื่อประเทศชาติและประชาชน ส่วนที่หลายคนมองว่าตนมาแบบเผด็จการอะไรต่าง ๆ ก็ต้องมองย้อนกลับไป ตนไม่อยากพูดทบทวนให้ทุกคนถือเป็นบุญคุณ
“ประเทศไทยเราเป็นประชาธิปไตยที่มีรูปแบบของเราแล้วไม่ได้ไปผิดจากที่อื่นทำไมเราต้องทำเหมือนคนอื่นเขาหมดแล้วความเป็นไทยของเราหายไปไหน ถ้าจะเอาชนะคะคานทางการเมือง ผมว่าประเทศชาติมันล่มสลาย ถ้ามันเกิดอย่างนั้นขึ้นมาจริงๆ รอดูแล้วกัน แล้วทุกคนจะต้องอยู่บนแผ่นดินที่ร้อนระอุลุกเป็นไฟ ก็ว่ากันไปก็แล้วกัน ผมก็สุดกำลังสติปัญญาของผมแล้ว”
“ประวิตร” ลั่นไม่มียุบสภา
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวว่า จะมีการยุบสภาหลังพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณ 64 แล้วเสร็จ ว่า ไปถามคนที่ปล่อยข่าวเอง ซึ่งตนในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐดูแล้วไม่มีทางเป็นไปได้
เมื่อถามว่า ถามหากมีความจำเป็นที่ต้องยุบสภาหากสถานการณ์การชุมนุมรุนแรงหรือไม่ พล.อ.ประวิตร ปฏิเสธตอบคำถาม เมื่อถามย้ำว่า เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์หากมีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวเพียงว่า การชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นักศึกษานั้น จะต้องมีการพูดคุยกันและดูแลกันให้ดี ส่วนจะพัฒนาไปสู่ความรุนแรงหรือไม่นั้น ไม่รู้
ปชป.หนุนตัดอำนาจส.ว.
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)กล่าวว่า ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญวปชป.มีความชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าเราไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ60และเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลที่ให้บรรจุเป็นนโยบายของรัฐบาล และมีความเห็นชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญควรแก้ไขอย่างน้อยก็มาตรา256ซึ่งเราเป็นพรรคแรกที่พูดเรื่องนี้โดยให้มีส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่แตะหมวด1และหมวด2ส่วนประเด็นอะไรที่จะนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเราพร้อมสนับสนุน เช่นการให้มีบัตรเลือกตั้ง2ใบเพื่อให้เลือกคนกับพรรคสะท้อนเจตนารมย์ของประชาชนได้ชัดเจน
ส่วนเรื่องส.ว.นั้นเรามีจุดยืนว่ายังมีความจำเป็นในระบบรัฐสภาเราสนับสนุนให้มีระบบสองสภามาตลอดเพียงแต่ควรจำกัดบทบาทอำนาจหน้าที่มีความเหมาะสมคือหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายและควบคุมการบริหารของรัฐบาล
เมื่อถามว่าควรตัดอำนาจส.ว.ในการเลือกนายกฯหรือไม่นายจุรินทร์กล่าวว่าเราสนับสนุนอำนาจ ส.ว.ในการกลั่นกรองกฎหมายและควบคุมการบริหารส่วนอำนาจอื่นที่เกินความจำเป็นควรทบทวนซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้วิปของปชป.ไปยกร่างร่วมกับวิปของรัฐบาลตอนนี้กำลังดำเนินการปรับปรุงว่าจะแก้อย่างไรให้เป็นที่ยอมรับได้ของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด