'ถาวร แสนเนียม' เปิดผลสอบทุจริต ต้นตอการบินไทยทำไมขาดทุน
"รมช.คมนาคม" เปิดผลสอบทุจริต ต้นตอการบินไทยทำไมขาดทุน ระบุ ตั้งแต่ปี 2551 ซื้อเครื่องบินรุ่นA340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ เริ่มบินจนสิ้นสุดการบินก็ขาดทุน ต้องแบกภาระหนี้62,803.49 ล้านบาท ยังพบโอทีฝ่ายช่างที่สูงถึง 2,022 ล้านบาท
วันนี้ ( 28 สิงหาคม 2563 ) นายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริการกิจการของการบินไทย ได้แถลงข่าวผลการตรวจสอบการขาดทุน ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมสนใจและตั้งคำถามถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น
นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ชี้แจงว่า ปัญหาขาดทุนเรื้อรังของการบินไทย เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2551 จากการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ ที่เมื่อนำมาบินก็ขาดทุนตั้งแต่เที่ยวแรกจนถึงเที่ยวสุดท้าย จนการบินไทยต้องออกหุ้นกู้เป็นครั้งแรก
และประสบปัญหาขาดทุนถึง 62,803.49 ล้านบาท และยังเป็นภาระในการดูแลมาจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกจำนวนมหาศาลที่ส่อไปในทางทุจริต
โดยคณะทำงานได้ตรวจสอบข้อมูลการใช้จ่าย ในช่วงปี 2560-2562 ซึ่งการบินไทยขาดทุนไม่ต่ำกว่า25,659 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูงมาก เช่น ค่าโอทีฝ่ายช่างที่สูงถึง 2,022 ล้านบาท โดยตรวจสอบพบว่าพนักงาน1คน ทำโอทีได้ถึง 3,354 ชั่วโมง เฉลี่ย 419 วัน ทั้งที่ 1 ปีมีเพียง 365 วัน
นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบว่า มีผู้รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ที่ปกติควรจะได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษในอัตราเดือนละ 2 แสนบาท แต่ปรากฎว่าผ่านไป9 เดือน กลับได้รับเงินพิเศษเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 6 แสนบาท
รวมถึงการจัดหาเครื่องบินรุ่น B787-800 จำนวน 6 ลำ ซึ่งเป็นแบบเช่า ที่พบว่าแต่ละลำกลับมีราคาไม่เท่ากัน และมีส่วนต่างถึง 589 ล้านบาท ทั้งที่เป็นเครื่องบินแบบและรุ่นเดียวกัน