'พิชัย' ชี้ เผด็จการทำประเทศเสียหาย แนะ ให้ซอฟท์โลนผูกการจ้างงาน
"พิชัย" ชี้ เผด็จการทำประเทศเสียหาย "ประยุทธ์" ต้องจ่ายคดีเหมืองทองเอง ห่วง แก้เศรษฐกิจส่อแววล้มเหลว แนะ ให้ซอฟท์โลนผูกการจ้างงาน และ ให้รัฐประหารจบที่รุ่นเรา
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 63 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ยังคงมีทิศทางที่ย่ำแย่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคาดว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะยังคงติดลบหนักถึง -10% ดังนั้น การที่ นายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง จะมาขายฝันว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะขยายได้ 4-5% ซึ่งถึงเป็นจริงก็ยังฟื้นได้ไม่เท่าครึ่งหนึ่งของที่เศรษฐกิจไทยจะติดลบในปีนี้ และก็ไม่แน่ว่าจะทำได้หรือไม่ จากปัจจัยวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่รู้เลยว่าจะสิ้นสุดกันเมื่อไหร่ ค่าเงินบาทที่แข็งค่า และความไม่สงบทางการเมืองจากความไม่พอใจของนักศึกษาและประชาชนจำนวนมากที่มีต่อรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ ล่าสุดที่ปรากฏข่าวความขัดแย้งในการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังจนต้องถอนวาระออกจากการประชุมคณะรัฐมนตรี ทำให้กังวลว่าถ้าขนาด รมว.คลัง ยังไม่สามารถแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลังได้ตามที่เห็นชอบแล้ว การแก้ปัญหาเศรษฐกิจยิ่งจะต้องล้มเหลวอย่างแน่นอน เพราะข้าราชการระดับสูงจะไม่เชื่อฟัง รมว.คลัง อีกต่อไป อีกทั้งในภาวะการเมืองที่ผันผวนข้าราชการก็มักจะใส่เกียร์ว่างเพื่อเซฟตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ และเรื่องดังกล่าวยิ่งตอกย้ำการเสียฟอร๋มของทีมเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การที่ นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเขาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน มีแนวคิดที่จะเพิ่มการจ้างงานเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะตลอด 6 ปีที่ผ่านมารัฐบาลแทบไม่ได้สร้างงานใหม่ๆ เลยเพราะการลงทุนภาคเอกชนทั้งจากต่างประเทศและในประเทศมีน้อยมาก แถมยังมีการโยกย้ายการผลิตและปิดโรงงาน ทำให้คนตกงานเพิ่มขึ้น แต่ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้การเพิ่มการจ้างงานจำนวน 1 ล้านตำแน่งตามที่บอกไว้ไม่ใช่เรื่องง่าย และน่าจะฝันเกินจริง ดังนั้น เรื่องที่ควรเร่งทำก่อนคือการรักษางาน หยุดไม่ให้คนตกงาน ซึ่งหลายบริษัทกำลังจะปิดกิจการจากภาวะเศรษฐกิจที่ทรุดหนัก ซึ่งจะทำให้คนตกงานเพิ่มขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจึงควรเร่งเข้าช่วยเหลือบริษัทที่จะสามารถไปรอดได้ในอนาคตโดยอนุมัติซอฟท์โลนดอกเบี้ยต่ำ อีกทั้งผูกติดเงื่อนไขการจ้างงานด้วย โดยรัฐอาจจะต้องช่วยเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้คนตกงาน ซึ่งจะสามารถประคองเศรษฐกิจพร้อมทั้งรักษาการจ้างงานไปพร้อมกัน ซึ่งน่าจะให้ผลดีมากกว่า อีกทั้งหากจำเป็นรัฐอาจตั้งหน่วยงานใหม่ต่างหาก เพื่อเข้าถือหุ้นบางส่วนพร้อมกันไปด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจ อีกทั้ง รัฐบาลจะได้ประโยชน์เมื่อเศรษฐกิจฟื้นและนำมาชดเชยความเสียหายของรัฐ จึงอยากให้นำไปพิจารณา
ในการฟื้นเศรษฐกิจที่ทรุดหนักนี้ รัฐบาลจะต้องคิดทุกกรอบให้เดินไปด้วยกัน และต้องทำหลายอย่างไปพร้อมๆ กัน จะมาคิดทำทีละอย่างไม่ได้ เพราะจะไม่เกิดผลดีในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และจะต้องไม่ทำขัดแย้งหรือย้อนแย้งกัน ดังนั้น การที่มีข่าวว่ารัฐบาลจะเลื่อนการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำในวงเงิน 22,500 ล้านบาทไปก่อน เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนที่ต้องมาก่อนเรื่องอื่นทั้งหมด และถ้าเป็นไปได้ก็ควรยกเลิกไปเลย เพราะเทคโนโลยีโดรนใต้น้ำได้เข้ามาแทนที่เรือดำน้ำแล้ว แถมยังมีประสิทธิภาพมากกว่าและราคายังถูกกว่ามาก อีกทั้งน่าจะทำให้เพื่อนบ้านเกรงใจได้เหมือนกัน
นอกจากเรื่องเรือดำน้ำแล้ว อีกเรื่องที่เป็นเรื่องถกเถียงกันอย่างมากคือ คดีเหมืองทองที่มีปัญหาฟ้องร้องกันอยู่ จากการใช้ ม.44 ยกเลิกเหมืองทอง ทำให้มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจำนวนมาก และมีโอกาสสูงที่ไทยจะเสียค่าโง่ในความผิดพลาดครั้งนี้ แค่เฉพาะค่าทนายก็ต้องจ่ายถึง 389 ล้านบาท และมีการแอบจ่ายกันมา 3 ปีติดกันแล้วโดยที่ประชาชนไม่รู้เรื่องเลย จนมาถึงปีนี้ที่ต้องจ่ายค่าทนาย 111 ล้านบาท ทั้งๆที่พลเอกประยุทธ์ประกาศไว้ว่าจะรับผิดชอบเอง ซึ่งก็ควรจะต้องจ่ายเอง และหากแพ้คดีอาจต้องจ่ายหลายหมื่นล้านบาท ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ อีกทั้งยังมีคำตัดสินว่าพลเอกประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นการจะให้รัฐจ่ายค่าความเสียหายให้แก่การกระทำของคนที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นพลเอกประยุทธ์จึงต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งค่าทนายและค่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
เรื่องความเสียหายจากคดีเหมืองทองนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของความเสียหายที่เกิดขึ้นจากระบอบเผด็จการ ซึ่งหากมองย้อนหลังจะพบว่าระบอบเผด็จการได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างใหญ่หลวงโดยได้ทำให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำมาตลอด 6 ปี ทำลายโอกาสของประเทศและประชาชนที่จะมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น และไม่ได้สะสมความมั่งคั่งไว้เลย ดังนั้นพอมาเจอวิกฤตไวรัสโควิด เศรษฐกิจไทยจึงได้ทรุดหนักมากกว่าประเทศอื่นๆในเอเชีย และทำให้ประชาชนเดือดร้อนกันอย่างมาก ซึ่งเชื่อว่าเมื่อใดที่พลเอกประยุทธ์ลุกจากอำนาจไม่ว่าโดยสมัครใจหรือถูกบังคับ หากได้มีการตรวจสอบ น่าจะต้องพบความผิดปกติหลายเรื่องที่ซุกซ่อนอยู่เหมือนกับที่ซุกซ่อนค่าใช้จ่ายค่าทนายนี้ และจากประวัติศาสตร์ในอดีตถึงปัจจุบันจะพบว่าหลังจากเผด็จการลุกจากอำนาจ จะพบการทุจริตคอรัปชั่นจำนวนมากเสมอ ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ในระหว่างอยู่ในอำนาจ ดังนั้นจึงอยากให้เริ่มมีการตรวจสอบกันเลยตั้งแต่ตอนนี้ เพราะประชาชนที่ลำบากจะได้รับรู้ว่าเงินภาษีที่จ่ายไปตกหล่นไปอยู่กับกระเป๋าใครบ้าง และจะเป็นบทเรียนว่าการปฏิวัติรัฐประหารจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก และให้การปฏิวัติรัฐประหารมันจบที่รุ่นเรา