'ราคายาง' ทะลุ 60 บาทต่อกก. ทำสถิติสูงสุดรอบ 3 ปี 2 เดือน
กยท. เผยราคายางทะลุ 60 บ.ต่อกก. สูงสุดรอบ 3 ปี 2 เดือน ปัจจัยความต้องการจีนเพิ่ม การใช้ในประเทศ คาดทำใช้เงินโครงการประกันรายได้ลดลงน้อยกว่า 2หมื่นล้านบาท เชื่อราคาร้อนแรงไม่หยุด เหตุพฤติกรรมบริโภคเปลี่ยน
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ราคายางปรับตัวสูงขึ้นทะลุ 60 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.) ครั้งแรกในรอบ 3 ปี 2 เดือน โดยราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ราคา 60.50 บาทต่อ ก.ก. ราคายางมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะจีนสั่งซื้อปริมาณมาก หลังเริ่มฟื้นฟูประเทศทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมกระเตื้องขึ้น และผู้บริโภคในจีนยังมีพฤติกรรมการหันมาใช้รถยนต์ส่วนบุคคลแทนรถโดยสารสาธารณะ เป็นผลให้ล้อยางจำหน่ายเพิ่มขึ้น ล่าสุดยอดการใช้ยางพาราในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าแล้ว
“ขณะนี้ราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากความต้องการในตลาดโลกและประเทศจีน อาจมีผลทำให้โครงการประกันรายได้ยางพาราระยะที่ 2 วงเงินประมาณ 3.3 หมื่นล้าน ที่ตั้งงบไว้แล้วนั้นน่าจะนำมาใช้จริงน้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่คาดว่าคงยังต้องมีโครงการ เพราะที่ผ่านมาราคายางตกต่ำ”
นายณกรณ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ราคายางพาราเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เกิดจากมาตรการส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานภาครัฐ เช่นโครงการนำร่องการนำยางพารามาใช้ เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนนที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วม (MOU) ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงคมนาคม โดยกระทรวงคมนาคมรับซื้อยางพาราจากสถาบันเกษตรกรเป็นวัสดุในการปรับปรุง ก่อสร้าง เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำยางพาราในประเทศและสร้างสมดุลราคายางพาราให้เหมาะสม ตลอดจนเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน
รายงานจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) แจ้งว่า สถานการณ์ยางพารา ปี 2563 เนื้อที่กรีดได้ รวมทั้งประเทศ 20.579 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น จากปีที่แล้ว 123,402 ไร่ หรือ 0.60%ผลผลิต รวมทั้งประเทศ 4.908 ล้านตัน เพิ่มขึ้น จากปีที่แล้ว 68,232 ตัน หรือ 1.41% ผลผลิตต่อเนื้อที่กรีดได้ ทั้งประเทศ 239 กก.ต่อไร่ เพิ่มขึ้น จากปีที่แล้ว 2 กก.ต่อไร่ หรือ 0.84%
สถานการณ์การผลิตเนื้อที่กรีดได้เพิ่มขึ้น จากการขยายพื้นที่ปลูกใหม่เมื่อปี 2557 ซึ่งเกษตรกรปลูกแทนพืชไร่ พื้นที่นา พื้นที่ว่างเปล่า และปลูกแทนต้นยางพาราที่อายุมากให้ผลผลิตน้อย เริ่มกรีดได้ในปีนี้ สำหรับผลผลิตต่อเนื้อที่กรีดได้คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นยางพาราที่กรีดได้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง ประกอบกับปริมาณน้ำฝนมีเพียงพอต้นยางสมบูรณ์ดี
ทั้งนี้การปลูกยางพารากระจายตัวทั่วประเทศโดยภาคเหนือ เนื้อที่กรีดได้ในปี 2563 เพิ่มขึ้นเนื่องจากยางพาราที่ปลูกในปี 2557 ซึ่งเกษตรกรขยายพื้นที่ ปลูกยางพาราในพื้นที่ว่างเปล่าและปลูกแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เริ่มกรีดได้ในปีนี้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกยางพาราในพื้นที่ว่างเปล่า ปลูกแทนที่นาดอน มันสำปะหลัง เริ่มกรีดได้ในปีนี้ ภาคกลาง เนื้อที่กรีดได้ในปี 2563 ลดลง เนื่องจากเกษตรกรโค่นต้นยางอายุมากและให้ผลผลิตน้อย เพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกปาล์มน้ำมันและไม้ผลทดแทน ภาคใต้ เนื้อที่กรีดได้ในปี 2563 ลดลง เนื่องจากเกษตรกรโค่นต้นยางอายุมากและให้ผลผลิตน้อย เพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกไม้ผลทดแทน