รัฐเร่งเคลียร์อุปสรรค 'อีวี' ดันแผนชาร์จไฟ-ส่งเสริมผลิต

รัฐเร่งเคลียร์อุปสรรค 'อีวี' ดันแผนชาร์จไฟ-ส่งเสริมผลิต

กระแสการส่งเสริมใช้ยานยนต์แห่งอนาคต หรือ ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม กำลังมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย ภาครัฐต้องเร่งเคลียร์อุปสรรคในระยะเริ่มต้นเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม ทั้งแผนการผลิตและระบบชาร์จไฟฟ้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่น

ย้อนไปเมื่อ 4 ปีก่อน หรือตั้งแต่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2560 เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และตั้งแต่ ปี2560-2563 พบว่า มี 16 บริษัท 26 โครงการที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์สนับสนุนการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) รวมกำลังการผลิต 5.6 แสนคัน ครอบคลุมรถไฮบริด(HEV) รถปลั๊กอินไฮบริด(PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้า(BEV) ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นรถยนต์ไฟฟ้า(EV) ราว 1.2 แสนคัน  นับว่ายังห่างไกลจากโรดแมปการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือแผน 30@30 ที่ตั้งเป้าหมายภายในปี 2573 จะมีการผลิตยานยนต์ไฟฟฟ้า(EV) อยู่ที่ 7.5 แสนคัน

โชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าให้สำเร็จตามเป้าหมายได้ช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ เช่น จีนมีฐานการตลาดใหญ่สามารถใช้มาตรการไม้แข็งกระตุ้นได้ แต่ไทยเป็นตลาดขนาดเล็กต้องใช้มาตรการไม้นวมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งจากข้อมูลในประเทศต่างๆ พบว่า ประเทศที่มีฐานอุตสาหกรรมเก่าอยู่แล้วและจะเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ต้องใช้เวลา เช่น ญี่ปุ่น ใช้เวลากว่า 2 ทศวรรษ เป็นต้น และประเทศไทยเองก็มีฐานอุตฯผลิตรถยนต์รูปแบบเก่าอยู่แล้ว

ฉะนั้น ในแง่ของซัพพลาย เช่น มาตรการบีโอไอ และภาษีสรรพสามิต ของไทยถือว่าพร้อม แต่ในแง่ของผู้ผลิตและผู้ใช้รถ มีความพร้อมหรือไม่ยังไม่ชัดเจน ขณะเดียวกันมองว่า ภาครัฐยังจำเป็นต้องช่วยกระตุ้นตลาดในประเทศ เช่น ส่งเสริมการใช้รถบัสไฟฟ้าในเขตกทม. เป็นต้น

ขณะที่ บีโอไอ ก็เตรียมนำเสนอ บอร์ด บีโอไอ ในเร็วๆนี้ พิจารณาออกมาตรการส่งเสริมฯ รอบใหม่ ให้ครอบคลุมรถยนต์นั่งไฟฟ้า จักรยานยนต์ไฟฟ้า รถสามล้อไฟฟ้า และรถยนต์สาธารณะไฟฟ้า รวมถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้า(Charging Station) ที่จะครอบคลุมยานพาหนะอื่นๆ เช่น เรือไฟฟ้า และรถอีวี

“การลงทุนรถยนต์นั่งไฟฟ้า ยังมีผู้สนใจอีกมาก ตลาดในประเทศมีความต้องการสูง และถ้าเทคโนโลยีที่เป็นต้นทุนของรถไฟฟ้า โดยเฉพาะแบตเตอรี่หากมีราคาถูกลง จะทำให้ความต้องใช้รถอีวีเกิดเร็วขึ้น”

159965759256

159965106568

ไกรสร อัญชลีวรพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สวทช. กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้เกิดความพร้อมในการส่งเสริมการใช้ยายนต์ไฟฟ้า และไทยยังมีเทคโนโลยีอีกหลายที่ขาดการพัฒนาเพื่อรองรับ ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี เช่น ค่าย MG ที่เป็นเจ้าตลาดรถอีวีของจีน ก็สามารถถ่ายทอดได้

โดยสวทช. ได้มุ่งในการวิจัยและพัฒนาเป็นอย่างมาก ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า แท่นการประจุไฟฟ้า และเทคโนโลยีในการเชื่อมต่อกับยานยนต์ในอนาคต (5G) หรือ การขับแบบเคลื่อนอัตโนมัติ

“ถ้าไทยมีสนามทดสอบฯเกิดขึ้น ไทยจะเป็นฮับผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียนได้ เพราะไทยมีฐานการผลิตที่เข้มแข็ง และวันนี้อุตฯไทยเริ่มตื่นตัวแล้ว ถ้าได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจะไปได้เร็วขึ้น”

159965107668

เสกสรร เสริมพงศ์ รองผู้ว่าการวางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) กล่าวว่า PEA ได้รับการอนุมัติงบประมาณจากครม.เมื่อ 26 พ.ค.2563 วงเงิน 16,202 ล้านบาท เพื่อลงทุนปรับปรุงระบบจำหน่ายแรงต่ำ รองรับการใช้งานของรถอีวีหลายคันเฉพาะพื้นที่ หรือในหมู่บ้านเดียวกันพร้อมกัน ซึ่งงบประมาณส่วนนี้จะเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ได้ประมาณ 4-5 ปีข้างหน้า 

รวมถึงยังเตรียมศึกษาจัดทำโมเดลรองรับการเคลื่อนย้ายการใช้งานของรถอีวีไปยังจังหวัดต่างๆทั่วประเทศพร้อมกัน เพื่อป้องกันระบบไฟฟ้าล่ม รับมือการใช้งานรถอีวีในระยะยาว ซึ่งจะเป็นการเตรียมพร้อมโครงสร้างพื้นฐานในระบบหลังบ้าน

“สิ่งที่คนกังวลนอกจากจะมีที่ชาร์จไหม ชาร์จนาน ชาร์จแล้วไฟจะไหม้บ้านไหม PEA จึงต้องทำเรื่องมาตรฐานต่างๆให้ตอบโจทย์ลูกค้า”

ดังนั้น PEA จึงได้จัดทำมาตรฐานการติดตั้งระบบอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าภายในบ้าน โดยปรับปรุงระเบียบรองรับการติดตั้งมิเตอร์เพิ่มอีกตัว คาดว่าจะออกประกาศได้ในเร็วๆนี้

พรศักดิ์ อุดมทรัพยากุล ผู้ช่วยผู้ว่าการวางแผนและพัฒนาองค์กร การไฟฟ้านครหลวง(MEA) กล่าวว่า MEA กล่าวว่า การจะส่งเสริมรถอีวีให้ได้ผล จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้รถ ทั้งราคารถต้องเป็นราคาที่จับต้องได้ โดยอาจมีสิทธิประโยชน์จูงใจซื้อรถ

“ในแง่ของกฎหมาย ยังไม่ใช่อุปสรรคของการส่งเสริมอีวี แต่ทางผู้ผลิตรถและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ต้องบรูณาการทำงาน ให้สามารถควบคุมและบริหารจัดการปัญหาได้”