ราคา ‘ถั่วเหลือง’ นิวไฮ 2ปี หนุนหุ้น ‘น้ำมันพืชไทย’
ราคา “กากถั่วเหลือง” ในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง ตามการฟื้นตัวของดีมานด์ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในตลาดจีน หลังการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) เริ่มคลี่คลาย
ประกอบกับการเกิดภาวะ “ลานีญา” หรือ ภัยแล้งที่รุนแรงในทวีปอเมริกา ทั้งในบราซิล อาร์เจนตินา ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกถั่วเหลืองหลักของโลก ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง
หากย้อนดูราคาถั่วเหลืองจะพบว่า กลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้น ตั้งแต่เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา โดยขยับจากระดับ 8.40 ดอลลาร์ต่อบุชเชล มาอยู่ที่ 9.75 ดอลลาร์ต่อบุชเชล ในปัจจุบัน หรือ เพิ่มขึ้นกว่า 16% ถือเป็นจุดสูงสุดใหม่ในรอบเกือบ 2 ปี และดูจากสัญญาณแล้วยังมีโอกาสขึ้นต่อ
โดยเป็นการฟื้นตัวกลับสู่ระดับปกติ หลังราคาอยู่ในช่วงขาลงมากว่า 2 ปี ยิ่งขณะนี้การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย มีการปลดล็อกดาวน์ ภาคธุรกิจสามารถกลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง การบริโภค จับจ่ายใช้สอยเริ่มฟื้นตัว
ทำให้บรรดาเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เร่งเพิ่มกำลังการผลิต ประกอบกับได้รับแรงจูงใจจากราคาเนื้อหมู เนื้อไก่ ที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง อย่างปีนี้ “Muyuan Foodstuff” ผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ที่สุดของจีน มีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตถึงเท่าตัวเป็น 20 ล้านตัว แน่นอนว่าย่อมทำให้ความต้องการวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นไปด้วย
กลายเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการที่เพาะปลูกและจำหน่ายกากถั่วเหลืองอย่าง บริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TVO จากราคาขายที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทถือเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ของประเทศ มีกำลังการผลิตเมล็ดถั่วเหลืองมากถึง 6,500 ตันต่อวัน และมีสัดส่วนรายได้จากการขายกากถั่วเหลือง 62% ของรายได้รวม ส่วนที่เหลืออีก 38% มาจากผลิตภัณฑ์น้ำมันถั่วเหลืองสำหรับปรุงอาหาร
โดยบล.ทิสโก้ ระบุว่า ผลประกอบการของ TVO ในไตรมาส 3 ปี 2563 จะยังคงทรงตัว ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 4 ปี 2563 ตามฤดูกาล โดยผู้บริหารคาดว่าราคาถั่วเหลืองเฉลี่ยปีนี้จะอยู่ที่ 8.8-10 ดอลลาร์ต่อบุชเชล จากระดับ 8.9 ดอลลาร์ต่อบุชเชล ในไตรมาส 1 ปี 2563 และ 8.5 ดอลลาร์ต่อบุชเชล โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการบริโภคในจีนที่เพิ่มขึ้น
และประเมินว่ามีโอกาสถึง 70% ที่ภาวะลานีญาจะส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกถั่วเหลืองในทวีปอเมริกาใต้ ส่วนสต็อกถั่วเหลืองโลกในปีนี้จะลดลงเหลือ 96 ล้านตัน และ 95 ล้านตัน ในปีหน้า เป็นปัจจัยหนุนราคาถั่วเหลืองในตลาดโลก แต่อย่างไรก็ตามยังถูกกดดันจากราคาถั่วเหลืองในประเทศที่ยังอ่อนแอ
ด้านบล.เคจีไอ ระบุว่า ราคาหุ้นในปัจจุบันยังวิ่งไม่ทัน (Laggard) เมื่อเทียบกับราคาถั่วเหลืองในตลาดโลกที่ปรับขึ้นแรงกว่า 10% เทียบกับเดือนก่อน รับจิตวิทยาเชิงบวกจากปรากฏการณ์ลานีญา ทั้งนี้ หากอิงข้อมูลจาก Bloomberg Consensus มีโอกาสที่จะปรับประมาณการขึ้นจากภาวะลานีญา นอกจากนี้ บริษัทมีจุดเด่นที่การจ่ายเงินปันผลคิดเป็น Dividend Yield ราว 6% ต่อปี
มองอีกมุมเมื่อมีคนที่ได้ประโยชน์ ย่อมต้องมีฝ่ายที่เสียประโยชน์ ซึ่งคงหนีไม่พ้นผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์ เพราะต้นทุนกากถั่วเหลืองซึ่งเป็นอาหารสัตว์ชั้นดีย่อมสูงขึ้น ในบ้านเรามีอยู่หลายบริษัท เช่น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG, บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT ฯลฯ
แต่ต้องยอมรับว่า CPF อาจถูกจับตามองมากกว่ารายอื่นๆ เพราะเป็นเจ้าใหญ่ทำธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ยิ่งเดือนนี้ราคาหุ้นเข้าสู่โหมดขาลง สวนทางการบริโภคที่ฟื้นตัว ราคาหมูราคาไก่ที่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น จึงมีหลายฝ่ายพยายามหาประเด็นมาเชื่อมโยง ซึ่งต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมา
แต่ล่าสุดทางผู้บริหารได้ออกมาชี้แจ้งสยบข่าวเป็นที่เรียบร้อย โดย “ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ” ประธานคณะผู้บริหาร ของ CPF ระบุว่า ราคากากถั่วเหลืองในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ของบริษัทมากนัก เนื่องจากมีสัดส่วนในการใช้ค่อนข้างน้อย และที่ผ่านมาได้ตุนสต็อกเก็บไว้เยอะแล้ว สามารถใช้ได้จนถึงต้นปี 2564