'10 ข้อดี' พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ผู้บริโภค ผู้ประกอบธุรกิจ 'ควรรู้'
ส่อง 10 ข้อดีที่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการควรรู้ เกี่ยวกับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค หรือคดีผู้บริโภค เพื่อป้องกันไมให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ขาย ผู้ประกอบการ ที่เกิดจากความไม่รู้ไม่เข้าใจข้อกฎหมายหรือรู้ไม่ทัน
ปัจจุบันภาครัฐ กระทรวงยุติธรรม ประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติมีจำนวนมากกว่า 1,000 ฉบับ พระราชบัญญัติแต่ละฉบับมีวัตถุประสงค์การใช้แตกต่างกัน อาจขึ้นกับความผิดแต่ละชนิด ประเภท ซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างทั้งสองฝ่าย
ยกตัวอย่างเช่น ความผิดเกี่ยวกับอาคารชุดก็ใช้พระราชบัญญัติอาคารชุดเป็นหลักในการพิจารณาคดีความ ข้อพิพาทที่เกิดขึ้น หรือความผิดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินก็ใช้พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน หรือความผิดทางอาญาก็ใช้ประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความอาญา ประกอบการพิจารณาของศาล หรือความผิดทางแพ่งก็ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบการพิจารณา หรือความผิดอันเกี่ยวข้องกับการปกครอง การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ใช้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาทางปกครอง และพระราชบัญญัติปกครอง ร่วมพิจารณาความผิดดังกล่าว ฯลฯ เป็นต้น
โดยคดีความข้อพิพาทดังกล่าวสามารถขึ้นศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลแขวง ศาลจังหวัด ฯลฯ เป็นต้น ตามสถานที่ที่เกิดเหตุข้อพิพาทที่เกิดขึ้น
“ข้อเท็จจริง” อาจล้วนทราบเป็นอย่างดีกับทุกฝ่าย เมื่อเกิดข้อพิพาทเป็นคดีความระหว่างกัน และไม่สามารถหาข้อยุติ ระหว่างคู่พิพาท คู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้ ทั้งสองฝ่าย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมสามารถใช้สิทธิของตนฟ้องร้องดำเนินคดีต่ออีกฝ่ายได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษา คำสั่งเพื่อให้คู่ความสามารถ หรือคู่กรณีใช้คำพิพากษาดังกล่าวเป็นแนวทางปฏิบัติต่ออีกฝ่าย หรือกำหนดบทลงโทษต่ออีกฝ่ายตามกฎหมายได้
แต่อย่างไรก็ตาม การฟ้องร้องดำเนินคดี นอกจากจำเป็นต้องอาศัยทนายความให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับคดีความดังกล่าวแล้ว ยังจำเป็นต้องแบกภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นค่าจ้างว่าความดำเนินคดี ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี อาทิ การส่งหมาย ปิดหมายให้แก่คู่ความอีกฝ่าย ซึ่งอาจเป็นค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงต่อผู้กล่าวหาเป็นโจทก์ กรณีเป็นประชาชน ผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมาย และไม่มีอำนาจต่อรองกับคู่ความ หรือผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้า ผู้ให้บริการ ซึ่งได้เปรียบทั้งเงินทุน ความรู้ ความสามารถด้านต่างๆ จนเกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตาม คดีพิพาทที่เกิดขึ้นหลายคดีอาจมิใช่ใช้ศาลยุติธรรมพิจารณาตัดสินคดีความที่เกิดขึ้น หลายคดีข้อพิพาทอาจตัดสินด้วย “ศาลเตี้ย” ก่อนถึงศาลยุติธรรมก็มีให้เห็นเป็นจำนวนมาก
เมื่อภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ตระหนักทราบเหตุแห่งปัญหาข้างต้น และเพื่อป้องกันมิให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ขาย ผู้ประกอบการ หรือผู้ให้บริการ อันเกิดจากความไม่รู้ไม่เข้าใจข้อกฎหมาย หรือรู้ไม่ทันผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้า และบริการ อันเกิดจากระบบเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้น อีกทั้งระบบสารสนเทศ อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคได้รับการเอาเปรียบจากการรู้ไม่เท่าทันผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้า หรือให้บริการ ภาครัฐจึงได้ประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฉบับที่หนึ่ง เมื่อเดือน ส.ค.2551 และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่สอง เมื่อปี 2556 และฉบับที่สาม เมื่อปี 2558 ตามลำดับ
“คดีผู้บริโภค” ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวถูกกำหนดให้มีความหมาย จำนวน 4 กรณี ได้แก่ (1) คดีแพ่ง ระหว่างผู้บริโภค หรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ตามมาตรา 19 หรือตามกฎหมายอื่น กับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งพิพาทเกี่ยวกับสิทธิ หรือหน้าที่ตามกฎหมาย อันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้า หรือบริการ (2) คดีแพ่งตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย (3) คดีแพ่งที่เกี่ยวพันกับคดีตาม (1) หรือ (2) และ (3) คดีแพ่งที่มีกฎหมายบัญญัติให้ใช้วิธีพิจารณาตามพระราชบัญญัตินี้
“ตัวอย่าง” คดีผู้บริโภค เช่น ข้อพิพาทเกี่ยวกับการผิดสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ซื้อ ทั้งการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ หรือกรณีไม่โอนกรรมสิทธิ์ ไม่จัดทำสาธารณูปโภค หรือความชำรุดบกพร่องทรัพย์ส่วนกลาง สาธารณูปโภค เป็นต้น หรือข้อพิพาทในการละเมิดการให้บริการสาธารณสุขของโรงพยาบาล สถานพยาบาลเอกชน คลินิก หรือสถานเสริมความงาม หรือข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาประกันภัย วินาศภัย ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ
หรือคดีพิพาทธนาคารพาณิชย์ฟ้องบังคับลูกค้า ชำระหนี้ตามสัญญายืมเงิน ค้ำประกัน จำนอง บัญชีเดินสะพัด ตั๋วเงิน หรือธุรกิจบริการโทรคมนาคม หรือค่าสาธารณูปโภค หรือเกี่ยวกับธุรกิจเช่าซื้อสินค้า บัตรเครดิต บริการสินเชื่อส่วนบุคคล สัญญากู้ยืมเงิน คดีนิติบุคคลอาคารชุด หรือหมู่บ้านจัดสรร ฟ้องบังคับเจ้าของร่วม หรือผู้ซื้อที่ดินจัดสรรให้รับผิดค่าใช้จ่ายทรัพย์ส่วนกลาง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่ามี “ข้อดี” ของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค หรือคดีผู้บริโภค ที่ผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจ “ควรรู้” ดังต่อไปนี้
1.“ผู้บริโภค ผู้ประกอบธุรกิจ” สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องจ้างทนายความ ดำเนินคดีแทนตนได้ สามารถฟ้องร้องได้ด้วยวาจา หรือเป็นหนังสือผ่านเจ้าพนักงานคดีตามที่ศาลนั้นๆ กำหนด
2.คดีความมีความสะดวก ประหยัด รวดเร็ว ไม่เป็นทางการ และมีความยืดหยุ่นพอสมควร เรื่องดังกล่าวแตกต่างจากคดีแพ่งทั่วไปหลายประการ เนื่องจากคู่ความอยู่ในฐานะที่แตกต่างกัน จึงอาจได้เปรียบหรือเสียเปรียบได้
3.กรณีคู่ความมีการโต้แย้งว่าเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่ ในวันนัดชี้สองสถาน หรือวันสืบพยาน อาจขอให้ศาลพิจารณาส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลอุทธรณ์ พิจารณาเรื่อง หรือคดีความดังกล่าวได้
4.ผู้บริโภคสามารถนำสืบพยานบุคคลเกี่ยวกับข้อความ หรือข้อตกลงตามประกาศ โฆษณา คำรับรอง หรือการกระทำใดๆ ของผู้ประกอบธุรกิจที่ได้ทำ หรือสัญญาไว้ได้
5.กรณีเกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภค ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัย ผู้บริโภคต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 3 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย และรู้ตัวผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องรับผิด แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่รู้ ทราบความเสียหายดังกล่าว
6.ลดการใช้ อาศัยเทคนิคทางกฎหมาย เพื่อมิให้เอาชนะกันด้วยเทคนิคทางกฎหมายต่ออีกฝ่าย การดำเนินการตามกระบวนพิจารณาในคดีผู้บริโภค กำหนดให้มีลักษณะที่ไม่เคร่งครัดต่อระเบียบพิธีการดังเช่นคดีแพ่งโดยทั่วไป
7.กรณีคำฟ้องไม่ถูกต้อง หรือขาดสาระสำคัญ เจ้าพนักงานคดีสามารถให้คำแนะนำเพื่อจัดทำคำฟ้องให้ถูกต้อง ครบถ้วน หรือศาลอาจสั่งให้แก้ไขคำฟ้องให้ถูกต้องชัดเจนได้
8.ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภค สามารถฟ้องคดีโดยได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียม (ค่านำส่งหมายเรียก หรือสำเนาคำฟ้อง)
9.การนัดพิจารณา เมื่อศาลมีคำสั่งรับคำฟ้องแล้วให้ศาลกำหนดวันนัดพิจารณาภายในสามสิบวัน “คดีได้รับการพิจารณารวดเร็ว”
10.กรณีฟ้องผู้ประกอบธุรกิจ “รายเดียวกัน” เมื่อศาลได้วินิจฉัยคำพิพากษาถึงที่สุด ศาลใน “คดีหลัง” อาจมีคำสั่งให้ถือว่าข้อเท็จจริงเป็นอันยุติเช่นเดียวกันกับคดีก่อน “โดยไม่ต้องสืบพยานก็ได้"