อัพ"กัญชาทางการแพทย์"สู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
จากรายงาน The Global Cannabis Report ของ Prohibition Partners ผู้ให้บริการข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ชั้นนำระดับโลก คาดว่ามูลค่าตลาดกัญชาทั่วโลกจะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 103.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2567
แบ่งเป็นตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์มีสัดส่วนราว 60% ของมูลค่าตลาดกัญชาทั้งหมด และอีก 40 % เป็นตลาดกัญชาเพื่อการสันทนาการ
โดยในประเทศไทยมีการปลดล็อคให้มีการใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมายเมื่อช่วงต้นปี แต่ปัจจุบันตลาดกัญชาถูกกฎหมายของไทยยังมีมูลค่าน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นส่วนผสมอยู่ในตำรับยาไทย และยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการทดลองทางการแพทย์เพื่อใช้กับผู้ป่วย และยังต้องได้รับการควบคุมดูแลโดยหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ
ว่ากันว่าถ้ามีการผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง และมีการจำหน่ายในรูปแบบเชิงพาณิชย์ ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ของไทยน่าจะมีมูลค่าราว 3,600-7,200 ล้านบาทในปี 2564 ซึ่งยังมีขนาดที่เล็กมากหรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.02-0.04 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หรือถ้าเทียบกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ขนาดใหญ่ของโลก มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท
วานนี้(14 ก.ย.) “มหาวิทยาลัยรังสิต” ร่วมกับ“กระทรวงกลาโหม” ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการวิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อการแพทย์ อันนำไปสู่การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อใช้งานผลิตภัณฑ์กัญชาในด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ มุ่งสู่การผลิตใช้ในราชการ การสร้างมาตรฐานทางการทหาร และลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ
“พล.อ.ธนิส พิพิธวณิชการ” ผู้อำนวยการศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร กระทรวงกลาโหม กล่าวว่า จากกรอบยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดให้พัฒนานวัตกรรมและนำมาใช้ขับเคลื่อนพัฒนาในทุกมิติ เพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศ ทั้งการนำความคิดสร้างสรรค์สู่นวัตกรรม เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจ การผลิตยาเวชภัณฑ์นับเป็นงานวิจัยที่มีความสำคัญอย่างมาก ยิ่งเป็นการวิจัยและผลิตภัณฑ์ทางการกัญชาเพื่อการแพทย์เป็นที่ต้องการมากขึ้น และมีประโยชน์ต่อประเทศชาติ
ดังนั้นการลงนามบันทึกข้อตกลงการวิจัยทั้ง 2 องค์กร นอกจากเป็นการพัฒนางานวิจัยแล้วยังเป็นต่อยอดสู่การจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อการแพทย์ ภายใต้คุณสมบัติ มาตรฐาน และรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม ยังเป็นการเพิ่มการจ้างงาน ลดต้นทุนการผลิต การนำเข้าจากต่างประเทศ
รวมถึงเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางการทหาร เพื่อใช้งานผลิตภัณฑ์กัญชาในด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยเบื้องต้นจะเริ่มผลิตในส่วนของยาแผนไทย เป็นลักษณะสเกลเล็กๆ ก่อนสู่อุตสาหกรรมใหญ่
“ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่ามีความเชื่อมั่นว่าความพยายามทั้ง 2 ฝ่ายที่จะร่วมสืบสานการใช้ธรรมชาติบำบัดทางการแพทย์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราช สุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ความสำคัญกับเรื่องของสวนพฤกษศาสตร์เขตร้อน เพื่อใช้อนุรักษ์และทำให้พืชพันธุ์ต่างๆ เกิดประโยชน์สูงสุด
โดยที่ผ่านมา ไทยเป็นหนึ่งในเรื่องงานวิจัย และใช้ประโยชน์จากพืชพันธุ์ ซึ่งม.รังสิตได้สร้างขุมพลังปัญญาของชาติ เพื่อพัฒนาประเทศไทย เห็นคุณค่า และประโยชน์ของกัญชาอย่างยาวนาน เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ ที่ขอและได้รับอนุญาตให้ผลิตและครอบครองกัญชา ตั้งแต่ปี 2560 โดยมีเป้าหมายเพื่อวิจัย พัฒนายาและตำรับยาที่พัฒนาจากกัญชาให้มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ
“ขณะนี้มีผลิตภัณฑ์จากกัญชาหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ยาเม็ดเวเฟอร์จากสารสกัดกัญชา สเปรย์ฉีดพ่นในช่องปากของแคนนาบินอล และน้ำมันสกัดกัญชาหยดใต้ลิ้น รวมถึงได้จัดทำมาตรฐานตำรับและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาแผนไทยของน้ำมันกัญชา ยาน้ำมันสนั่นไตรภพ ยาศุขไสยาสน์ และยาทำลายพระสุเมรุ เป็นต้น”อธิการบดีม.รังสิต กล่าว
ความร่วมมือครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ถึงการบูรณาการครั้งสำคัญในทุกมิติของไทย ที่จะมีการนำผลิตภัณฑ์กัญชาเพื่อการแพทย์และยาสกัดกัญชาเป็นส่วนประกอบ สามารถจำหน่ายให้แก่หน่วยงานต่างๆ เพื่อเป็นการลดการนำเข้าวัถตุดิบและเพิ่มการส่งออกผลิตภัณฑ์จากพืชเศรษฐกิจอย่างกัญชาสู่หน่วยงานต่างๆทั้งในและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามม.รังสิต จะมีผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ หรือผลิตภัณฑ์สารสกัดจากกัญชาเป็นส่วนประกอบมากมาย แต่ไม่สามารถจำหน่ายอย่างเสรีได้ต้องใช้ในทางการแพทย์เท่านั้น
"ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์" คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าประเทศไทยมีการใช้กัญชาในระบบ 25% แต่มีการใช้กัญชาใต้ดิน 75% แสดงให้เห็นว่าคนใช้กัญชาที่ผลิตโดยไม่ได้มาตรฐานสูงมาก และจากการทดลองกัญชาใต้ดินที่จำหน่ายในรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆนั้นส่วนใหญ่จะมีสารปนเปื้อน เช่น โลหะหนัก และสารต่างๆที่เป็นโทษต่อร่างกาย โดยผลิตภัณฑ์กัญชาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ น้ำมันกัญชา รองลงมาจะเป็นยาหม่อง หรือยาทาในรูปแบบต่างๆ
ทั้งนี้ เมื่อมีการเปิดให้ศึกษาวิจัยกัญชา จนก่อให้เกิดการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิ์ อยากให้รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนอกจากคำนึงถึงความปลอดภัยในการผลิตแล้ว ควรจะเปิดกว้างให้หน่วยงาน สถาบันที่มีการศึกษาวิจัยผลชัดเจน เชื่อถือได้เปิดกว้างให้ประชาชนได้ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่ดี มีคุณภาพ
เพราะไม่เช่นนั้นต่อให้มีปลดล็อคกฎหมาย กัญชาไม่ใช่สารเสพติด แต่สามารถผลิตใช้ในทางการแพทย์โดยต้องได้รับอนุญาต ก็ไม่อาจจะช่วยให้คนหันมาใช้กัญชาอย่างถูกวิธี ทั้งที่กัญชามีประโยชน์ต่อการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้คน รักษาโรค และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้