KKP หั่นจีดีพี ปี 64 เหลือโต 3.4% หลังการท่องเที่ยวฟื้นตัวช้ากว่าคาด
บล.ภัทร ปรับลดจีดีพี ปี 2564 ลงเหลือโต 3.4% จากเดิมที่ 5.2% หลังนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวช้ากว่าคาด พร้อมคาดจีดีพีอาจลดลงไปถึง 15% จากระดับก่อนโควิด
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร ระบุว่า เราได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ลงจาก 5.2% เป็น 3.4% เนื่องจากมุมมองเชิงบวกที่ลดลงจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในประเทศ ขณะที่คาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2563 ยังคงไว้ที่ติดลบ 9% เช่นเดิม อย่างไรก็ตาม มุมต่อการเติบโตในอนาคตขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการผลิตวัคซีนและอุปสงค์ของการท่องเที่ยว
เดิมทีเราคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเริ่มกลับเข้ามาได้ในช่วงไตรมาส 4 นี้ และในปี 2564 คาดว่าจะมีจำนวน 17 ล้านคน สำหรับปัจจุบันเราประเมินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 น่าจะอยู่ที่ 6 ล้านคน และคาดว่าวัคซีนจะพร้อมใช้ในวงกว้างช่วงกลางปี 2564 ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาอีก 3-4 ปี กว่าที่จีดีพีจะกลับมาสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19 โดยสัดส่วนจีดีพีที่หายไปอาจจะสูงถึง 15% ของตัวเลขก่อนเกิดโควิด-19
สำหรับความท้าทายสำคัญ 3 ประการ ในช่วงครึ่งปีหลังของไทยต่อเนื่องถึงปี 2564 ประการแรกคือ การฟื้นตัวที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากความไม่แน่นอนของการกลับมาเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติว่าจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ อย่างไร และในปริมาณมากเพียงใด หากการปิดประเทศยังคงดำเนินต่อไปในไตรมาส 4 ปีนี้ ถึงไตรมาส 1 ปี 2564 ซึ่งถือเป็นช่วงไฮซีซั่น ผลกระทบจากการหายไปของนักท่องเที่ยวต่อเศรษฐกิจน่าจะรุนแรงกว่าไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซั่น
ประการถัดมาคือ แม้ว่าจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจน่าจะผ่านไปแล้วในช่วงของการล็อกดาวน์ที่ผ่านมา แต่ผลกระทบทางด้านการเงินต่อธุรกิจและการจ้างงานยังคงมีอยู่ ซึ่งเราคาดว่าจะเห็นการล้ะลายและตัวเลขอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจที่อิงกับการท่องเที่ยว และส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศอ่อนแอลง
ประการสุดท้าย สัดส่วนหนี้ของธุรกิจเอสเอ็มอีและรายย่อยจำนวนมากที่อยู่ภายใต้โครงการช่วยเหลือชั่วคราว หลังจากที่โครงการช่วยเหลือจบลงในเดือน ต.ค. นี้ และลูกหนี้ต้องกลับมาชำระหนี้อีกครั้ง จะกระทบต่อกำลังซื้อในประเทศ รวมถึงเครดิตของธนาคารพาณิชย์
ด้วยความอ่อนแอของแนวโน้มเศรษฐกิจ เรามองว่ามีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาและรองรับการว่างงานที่สูงขึ้น ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวงเงิน 1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6% ของจีดีพี แต่การอนุมัติเงินออกมายังค่อนข้างช้าอย่างน่าผิดหวัง จากเงินเพียงน้อยกว่าครึ่งที่ถูกอนุมัติออกมา
ขณะที่นโยบายด้านการเงินไม่น่าจะเห็นการกระตุ้นได้มากกว่านี้ เว้นแต่ว่าสถานการณ์จะย่ำแย่ลงไปอีก ซึ่งเราคาดว่าธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ไปจนถึงปลายปี 2564