ปัจจัยการเมือง ท้าทายนักธุรกิจอีกรอบ
สถานการณ์การชุมชนทางการเมือง หนึ่งปัจจัยที่อาจมีผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน เนื่องจากนักธุรกิจกังวลว่าอาจส่งผลประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง แม้จะเป็นคนละกลุ่มกับผู้ชุมนุมช่วง 10 ปีก่อน แต่บาดแผลจากการชุมนุมในอดีตยังเป็นที่จดจำ
ถึงแม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตลอดแต่อยู่ในระดับที่ควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้ โดยเฉพาะจำนวนผู้ติดเชื้อที่ส่วนใหญ่เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งข้อมูลล่าสุดสถานการณ์การระบาดถึงวันที่ 17 ก.ย.2563 ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ในขณะที่มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,490 ราย หายป่วยแล้ว 3,325 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 58 ราย ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับถึงมาตรการด้านสาธารณสุขในระดับที่ดี
การที่สถานการณ์การระบาดดีขึ้นทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการดีขึ้น เพราะรัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 5 หลังจากที่ได้มีการผ่อนปรนตั้งแต่ระยะที่ 1-4 มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคธุรกิจที่ต้องหยุดกิจการชั่วคราวนั้นสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ปกติ รวมทั้งประชาชนสามารถออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้เกือบเป็นปกติ โดยเฉพาะการแข่งขันกีฬาบางประเภทที่มีการเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้แบบจำกัด ถือเป็นการผ่อนคลายทางธุรกิจได้มาก
ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ดีขึ้นสะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประจำเดือน ส.ค.2563 อยู่ที่ระดับ 84.0 เป็นค่าดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เพราะหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนร่วมมือกันจนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้มีประสิทธิภาพ ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือน ส.ค.2563 อยู่ที่ระดับ 25.6 ดีขึ้นด้วยเหตุผลหลักเดียวกัน
ในขณะที่สถานการณ์การเมืองที่มีการชุมชนแสดงความเห็นทางการเมืองเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจมีผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน โดยที่ผ่านมาการชุมนุมไม่อยู่ในระดับที่รุนแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนเรียนร้องมาตลอดถึงการชุมนุมที่อยู่ในกติกา แต่ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางด้านการเมือง ตลอดจนการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเยาวชนยังเป็นคำตอบที่นักธุรกิจกังวลว่าอาจส่งผลประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง
ไม่น่าแปลกใจที่นักธุรกิจจะมีความกังวลดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น เพราะถึงแม้กลุ่มที่ออกมาชุมนุมในขณะนี้เป็นคนละกลุ่มกับผู้ชุมนุมในอดีต แต่การชุมนุมในอดีตหลายครั้งมีความรุนแรงเกิดขึ้นในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา บาดแผลจากการชุมนุมของแต่ละกลุ่มในอดีตยังเป็นที่จดจำ ซึ่งจำเป็นการแสดงออกทางการเมืองจะไม่มากไปกว่าขอบเขตที่กฎหมายกำหนด ในขณะที่ภาครัฐจำเป็นที่ต้องเปิดให้ทุกคนได้มีโอกาสแสดงความเห็นทางการเมืองตามกรอบกฎหมาย