20 ก.ย. วันเยาวชนแห่งชาติ สรุปสถานการณ์ ‘เด็กและเยาวชน’ ไทย กำลังเจอกับอะไร

20 ก.ย. วันเยาวชนแห่งชาติ สรุปสถานการณ์ ‘เด็กและเยาวชน’ ไทย กำลังเจอกับอะไร

วันที่ 20 กันยายนของทุกปี กำหนดให้เป็น "วันเยาวชนแห่งชาติ" สำหรับปี 2563 นี้มีสถานการณ์สำคัญอะไรที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนบ้าง

เด็กวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า การให้ความสำคัญของเด็กและเยาวชนจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม วันที่ 20 กันยายนของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็น "วันเยาวชนแห่งชาติ"

ในปี 2563 นี้ เป็นปีที่เกิดเหตุการณ์หลายๆ อย่างทั้งเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 ระบาด อุบัติเหตุครั้งใหญ่ ภัยธรรมชาติ และการชุมนุมเรียกร้อง เด็ก และเยาวชน ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สรุปสถานการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับเด็กในประเทศไทยว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีเรื่องไหนน่ากังวลกับพวกเขาบ้าง

160044134434

  • อายุเท่าไหร่ ถึงเรียกว่า เด็ก และ เยาวชน

ก่อนที่จะไปดูข้อมูลสถานการณ์เด็กในประเทศไทยนั้น ควรทำความรู้จักกับนิยามของคำว่า เด็ก และเยาวชน

  • นิยามของ สหประชาชาติ

เด็ก หมายถึง ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี ถึง 14 ปี (0 – 14 ปี)

เยาวชน หมายถึง ผู้ที่มีอายุระหว่าง 15 – 24 ปี

  • นิยามของ ...ศาลเยาวชนและครอบครัว

เด็ก หมายความว่า บุคคลอายุยังไม่เกินสิบห้าปีบริบูรณ์

เยาวชน หมายความว่า บุคคลอายุเกินสิบห้าปีบริบูรณ์แต่ยังไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์

  • นิยามของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

เด็ก หมายถึง บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์

เยาวชน หมายถึง บุคคลซึ่งมีอายุตั้ง 18 ปีบริบูรณ์ถึง 25 ปีบริบูรณ์

  • นิยามของ สิทธิเด็ก องค์กรยูนิเซฟ

เด็ก คือบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

  • นิยามของ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์

บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุยี่สิบปีบริบูรณ์

และล่าสุด เกณฑ์อายุของเด็กที่กระทำความผิดทางอาญาแต่ไม่ต้องรับโทษนั้นถูกปรับจาก 10 เป็น 12 ปี จากมาตรา 73 และยังได้แก้ไขเกณฑ์อายุของเด็กที่ใช้มาตรการอื่นแทนการรับโทษทางอาญาเช่นกัน จากเดิมมาตรา 74 กำหนดไว้ที่ เด็กอายุเกิน 10 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี เพิ่มเป็น เด็กอายุเกิน 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี ถ้ากระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจใช้มาตรการอื่นแทน

  • โควิด-19 กับเด็กไทย

โรงเรียนไม่ได้เป็นเพียงสถานที่จัดการศึกษา แต่ยังให้บริการสวัสดิการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก เมื่อมีมาตรการปิดโรงเรียนเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ความเสียหายจึงไม่ได้เกิดขึ้นกับการศึกษาเท่านั้น แต่ยังมีต้นทุนอื่นที่กระทบคุณภาพชีวิตของเด็กไปด้วย ทั้งด้านโภชนาการ ความปลอดภัยและสุขภาพจิต

  • ด้านโภชนาการของนักเรียน

ในประเทศไทย โรงเรียนรัฐทุกแห่งได้รับเงินอุดหนุนสำหรับจัดสรรอาหารกลางวันและนมให้เด็กทุกคนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจนถึงระดับประถมศึกษา โดยไม่มีเงื่อนไขด้านสถานะทางเศรษฐกิจ จากข้อมูลโครงการอาหารกลางวันทั่วโลกของ The Global Child Nutrition Foundation พบว่า เงินอุดหนุนดังกล่าวครอบคลุมเด็กประถมของไทยจำนวนเกือบ 4.1 ล้านคน มาตรการปิดโรงเรียนจึงอาจทำให้เด็กเหล่านั้นมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับสวัสดิการดังกล่าว

แม้จะเป็นเพียงมื้อเดียวของวัน อาหารกลางวันที่โรงเรียนอาจเป็นโอกาสเดียวที่จะได้รับสารอาหารครบถ้วนของกลุ่มเด็กในพื้นที่ชนบทหรือกลุ่มที่มาจากครอบครัวฐานะยากจน ซึ่งมีแนวโน้มน้ำหนักร่างกายต่ำกว่าเกณฑ์มากกว่าเด็กกลุ่มอื่นในวัยเดียวกัน ข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชี้ว่า จากนักเรียนยากจนพิเศษทั้งหมดจำนวน 720,946 คน มีนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาจำนวน 29,991 คนที่มีภาวะทุพโภชนาการ (น้ำหนักและส่วนสูงไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กรมอนามัยกำหนด)

  • ด้านความปลอดภัยและสุขภาพจิตของนักเรียน

ในบทความ ระวังความรุนแรงในโรคระบาด เมื่อ “บ้าน” อาจไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน ดร. บุญวรา สุมะโน เจนพึ่งพร ได้ยกบทเรียนจากหลายประเทศที่แสดงให้เห็นว่า อัตราความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นกับเด็กและผู้หญิงเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ ในช่วงมาตรการปิดเมืองและมาตรการกักตัวอยู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในมณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีนและเขต Nassau ในนิวยอร์ก เหตุการณ์แพร่ระดับของเชื้ออีโบล่าในแอฟริกาช่วงปี พ.ศ. 2557-2559 ตลอดจนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2554 ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก และประชาชนต้องติดอยู่ในบ้านเป็นเวลานาน

แม้ประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลเชิงสถิติเรื่องการเพิ่มขึ้นของความรุนแรงในครอบครัวในช่วงที่ใช้มาตรการกักตัวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ข้อมูลในช่วงปกติที่ผ่านมาก็เตือนให้เราเห็นว่า โดยปกติเด็กและผู้หญิงในประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับความรุนแรงค่อนข้างสูง ความเสี่ยงของปัญหาดังกล่าว จากการสำรวจพหุดัชนีแบบจัดกลุ่ม (Multiple Indicator Cluster Survey: MISC) ขององค์การ UNICEF

ประเทศไทย พบว่า สถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับความรุนแรงค่อนข้างสูง เห็นได้จากจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวนกว่าร้อยละ 75 เคยถูกผู้ดูแล (Caregivers) ทุบตี (Physical Punishment) หรือทำร้ายทางจิตใจ (Psychological Aggression) และในแต่ละปี มีเด็กมากกว่า 10,000 คนที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เนื่องจากถูกทำร้ายร่างกาย โดยส่วนใหญ่เป็นการล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Abuse) สาเหตุเป็นเพราะพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนหนึ่งของไทยยังเชื่อว่า การทำร้ายร่างกายเพื่อลงโทษเป็นสิ่งจำเป็นในการเลี้ยงดู และอบรมสั่งสอนบุตรหลานของตน

ดังนั้นในช่วงที่ปิดโรงเรียน เด็กไทยจำนวนหนึ่งอาจมีความเสี่ยงที่จะประสบกับความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น เพราะในช่วงเปิดเรียนปกติ เด็กกลุ่มนี้สามารถหลบหลีกปัญหาได้จากการไปโรงเรียน พบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆ โดยมีครูคอยสอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิด

  • เยาวชนไทยตกงาน

การระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม การคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า จีดีพีของไทยในปีนี้น่าจะติดลบ 8.1% และอัตราว่างงานพุ่ง 8-12 เท่า สูงสุดในรอบ 20 ปี เป็นความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หนึ่งในกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือเยาวชน โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ นักเรียน และเด็กด้อยโอกาส ที่เสี่ยงต่อการหลุดออกนอกระบบการศึกษา และมีแนวโน้มตกลงสู่ความยากจนมากขึ้นในที่สุด

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่าผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้อัตราการว่างงานจะสูงถึง 3-4% จากเดิมเฉลี่ย 1% บ่งชี้ว่าแรงงานเยาวชนจะประสบปัญหาการว่างงานรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากเดิมเยาวชนมีอัตราการว่างงานสูงถึง 5% หรือเกือบ 5 เท่าของแรงงานผู้ใหญ่ เนื่องจากตำแหน่งงานหดตัวไปมากอันเป็นผลจากโควิด จนไม่พอรองรับบัณฑิตจบใหม่ในปีนี้ และที่สะสมในปีก่อนๆ มีมากกว่า 5 แสนคน และคาดว่าจะมีปริมาณสะสมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนกว่าภาวะเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติ

กลุ่ม NEET (Youth not in education, employment, or training) ที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO นิยามว่าหมายถึงเยาวชนอายุ 15-24 ปี ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงาน และการฝึกอบรม ซึ่งในสังคมไทยยังไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก จากข้อมูลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไทย

กลุ่ม NEET ประกอบด้วยเยาวชนที่ 1.ทำงานบ้าน 2.อยู่ว่าง หรือกำลังพักผ่อน 3.ยังเด็ก ป่วย พิการ จนทำงานไม่ได้ และ 4.ว่างงาน โดยในปี 2562 ไทยมีจำนวนกลุ่ม NEET มากถึง 1.3 ล้านคน คิดเป็น 14% ของเยาวชนไทย และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 1% สวนทางกับจำนวนเยาวชนไทยที่ลดลงเฉลี่ย 1.2% ในทศวรรษที่ผ่านมา

การถูกละเลยจากระบบการศึกษาและการจ้างงาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบการศึกษาไทยยังไม่รองรับกลุ่มเด็กเรียนรู้ช้า (Slow Learner) และผู้บกพร่องในการเรียนรู้ (Learning Disabilities) ทำให้เด็กบางส่วนหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งการเรียนออนไลน์จะเป็นอุปสรรคใหม่สำหรับเด็กกลุ่มนี้ อีกทั้งกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ระบุงานที่เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีห้ามทำ แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่านายจ้างสามารถจ้างเยาวชนในตำแหน่งใดได้บ้าง ทำให้นายจ้างมักหลีกเลี่ยงการจ้างงานเยาวชน

นอกจากนี้ยังพบ 65% ของกลุ่ม NEET เป็นเพศหญิง และปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนเป็นสาเหตุสำคัญ ซึ่งจากสถิติพบว่า 80% ของกลุ่ม NEET คือเพศหญิงทำงานบ้าน กว่าครึ่งมีสถานภาพสมรสและสำเร็จการศึกษาเพียงระดับมัธยม สอดคล้องกับโครงการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ปี 2558-2559 พบว่า 88% ของนักเรียนหญิงออกกลางคันด้วยสาเหตุตั้งครรภ์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

160044149266

  • เด็กไทยกับการถูกบูลลี่

นายอธิวัฒน์ เนียมมีศรี เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า เครือข่ายฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นเรื่อง “บลูลี่ กลั่นแกล้ง ความรุนแรง ในสถานศึกษา” ในกลุ่มเด็ก อายุ10-15 ปี จาก 15 โรงเรียน พบว่า ร้อยละ 91.79 เคยถูกบูลลี่ ส่วนวิธีที่ใช้บูลลี่ คือ การตบหัว ร้อยละ 62.07 รองลงมา ล้อบุพการี ร้อยละ43.57 พูดจาเหยียดหยาม ร้อยละ41.78 และอื่นๆ เช่น นินทา ด่าทอ ชกต่อย ล้อปมด้อย พูดเชิงให้ร้าย เสียดสี กลั่นแกล้งในสื่อออนไลน์ นอกจากนี้ 1 ใน 3 หรือ ร้อยละ 35.33 ระบุว่า เคยถูกกลั่นแกล้งประมาณเทอมละ 2 ครั้ง ที่น่าห่วงคือ 1 ใน 4 หรือ ร้อยละ 24.86 ถูกกลั่นแกล้งมากถึงสัปดาห์ละ3-4ครั้ง ส่วนคนที่แกล้งคือ เพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง

“เด็กๆ ร้อยละ 68.93 มองว่า การบูลลี่ ถือเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง และผลกระทบที่เห็นได้ชัด คือ ร้อยละ 42.86 คิดจะโต้ตอบเอาคืน ร้อยละ 26.33 มีความเครียด ร้อยละ 18.2 ไม่มีสมาธิกับการเรียน ร้อยละ 15.73 ไม่อยากไปโรงเรียน ร้อยละ 15.6 เก็บตัว และร้อยละ 13.4 ซึมเศร้า นอกจากนี้ เด็กๆ ยังต้องการให้ทางโรงเรียนมีบทลงโทษที่ชัดเจน มีครูให้คำปรึกษา จัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจ” นายอธิวัฒน์ กล่าว

  • การลักพาตัว

มูลนิธิกระจกเงา มีสถิติรับแจ้งเด็กหาย ปี 2562 รวมทั้งหมด 244 ราย กว่า 74% คือ เด็กสมัครใจหนีออกจากบ้าน โดยมักมีอายุเฉลี่ยระหว่าง 13-15 ปี เป็น เด็กหญิง มากกว่า เด็กชาย

เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่ากลุ่มวัยรุ่นอายุ 11-15 ปี เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะหนีออกจากบ้าน โดยเฉพาะเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว ทำให้เด็กไว้วางใจเพื่อนหรือคนที่เพิ่งรู้จักในโลกออนไลน์มากกว่า และรู้สึกว่าไม่อยากอยู่บ้านจึงตัดสินใจหนี

ส่วนข้อมูล พฤติกรรมผู้ก่อเหตุลักพาตัวเด็กในประเทศไทย ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าไม่ได้มีลักษณะเป็นกลุ่ม แต่จะเป็นผู้ที่ลงมือตามลำพังหรือสามีภรรยา ที่เข้าไปพูดคุยตีสนิท หลอกล่อด้วยวิธีการต่างๆ และผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่จะลักพาเด็กโดยพาขึ้นรถสาธารณะ

ส่วนสาเหตุของการลักพาตัวเด็ก พบว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อพาไปกระทำทางเพศ (บางรายอาจฆาตกรรมปิดปาก) นำเด็กไปเร่ร่อนขอทานหรือขายสินค้า และบางรายมีความเสน่หาในตัวเด็ก อยากนำไปเลี้ยงดู

หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายยังระบุอีกว่า ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศที่กระทำต่อเด็กไม่ได้มีกระบวนการป้องกันการก่อเหตุซ้ำเพราะยากในการปรับทัศนคติผู้ก่อเหตุ ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาก็พบว่า ไม่สามารถปรับพฤติกรรมคนเหล่านี้ได้ รัฐจึงใช้มาตรการป้องปราม ติดตาม เฝ้าระวังผู้ก่อเหตุแทน

โดยในประเทศไทยนั้น ไม่ได้มีระบบติดตามคนกลุ่มนี้อย่างจริงจัง จึงมีแนวโน้มที่คนเหล่านี้ไปก่อเหตุซ้ำอีกตามสถิติที่ผ่านมา

160044151957

  • เยาวชนติดหนี้พนัน

ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจในปี 2560 พบว่า เยาวชนไทยเล่นพนันมากถึง 3.64 ล้านคน เพศชายราว 2 ล้านคน เพศหญิง 1.6 ล้านคน ในจำนวนนี้ติดหนี้พนันมากถึง 9.53 หมื่นคน เป็นวงเงิน 335 ล้านบาท เฉลี่ยประมาณคนละ 3,500 บาท ซึ่งปัจจุบันการพนันโดยเฉพาะพนันออนไลน์ได้เข้ามาเป็นปัญหาที่สำคัญของเด็กและเยาวชน จากผลสำรวจความคิดเห็นของเยาวชนกับการพนันออนไลน์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) พบว่า 75.6% รู้จักการพนันออนไลน์ และ 17.2% ไม่แน่ใจ เมื่อถามถึงความคิดอยากเล่นการพนันออนไลน์ 48.3% ไม่อยากเล่น รองลงมา 28.1% อยากเล่น เป็นบางครั้ง และ 23.6% อยากเล่นแน่ๆ นอกจากนี้ เมื่อถามว่าเคยเล่นการพนันออนไลน์หรือไม่ พบว่า 67.8 % ไม่เคยเล่น รองลงมา 17% เคยเล่น และ 15.2% เคยเล่นเป็นบางครั้ง ซึ่งไม่มีอะไรรับรองว่าคนที่ไม่เคยเล่นจะไม่มีโอกาสเข้าไปเล่นในอนาคต

อ้างอิง 

ilaw.or.th  tdri.or.th unicef.org