ชป. หวังโนอึลเติมน้ำในเขื่อน ชี้ยังไม่งดทำนาปรังแม้น้ำต้นทุนมีน้อย
กรมชลประทาน ย้ำต้นทุนน้ำมีน้อย หวังโนอึลดันน้ำลงเขื่อน ด้านเฉลิมชัย ลั่น ยังไม่มีนโยบายงดทำนาปรัง หนุนชาวนาใช้นำฝนเป็นหลัก
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากปริมาณน้ำต้นทุนในขณะนี้ที่มีน้อยกว่าปีที่ผ่านมา 8พันล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ. ม. )แต่ตามนโยบายของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังไม่มีนโยบายที่จะให้เกษตรกรงดทำนาปรังแต่อย่างใด แต่เป็นความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ ที่แม้ขณะนี้ใกล้จะสิ้นสุดฤดูฝนแล้วก็ตาม แต่ปริมาณน้ำในอ่างฯ ก็ยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าอย่างเพียงพอ
ส่วนเกษตรกรที่เพาะปลูกแล้ว ขอให้ใช้น้ำท่าในแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก คาดว่าพายุ “โนอึล” ที่ทำให้มีฝนตกมากขึ้น ส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในอ่างฯเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย”
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีปริมาณรวมกันประมาณ 34,560 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 11,124 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,185 ล้าน ลบ.ม หรือ41 %ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 3,489 ล้านลบ.ม.
ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (17 ก.ย. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 10,436 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 87 ของแผนฯเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 3,357 ล้าน ลบ.ม. หรือเกินแผนไปแล้ว3%ของภาพรวมสถานการณ์น้ำทั้งประเทศ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ปีนี้(2563) น้อยกว่าปี 2562 ที่ผ่านมาถึง 11,882 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำรวมกันปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 1,671 ล้าน ลบ.ม. ในส่วนของพื้นที่ทำนาปีในเขตชลประทานทั่วประเทศปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 13.34 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 77 ของแผนฯ (แผนวางไว้ 16.79 ล้านไร่) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการทำนาปีไปแล้ว 5.66 ล้านไร่ หรือร้อยละ 69 ของแผนฯ(แผนวางไว้8.10 ล้านไร่)
กรมชลประทาน ได้กำหนดแผนบริหารจัดการน้ำภายใต้ภาวะน้ำน้อยเน้นเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำต่างๆให้ได้มากที่สุด ส่งน้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก พร้อมบริหารจัดการน้ำท่าในแหล่งน้ำธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรับทราบถึงสถานการณ์น้ำต้นทุนที่มีอยู่น้อย โดยขอให้ใช้น้ำฝนเป็นหลักในการเพาะปลูก หากพื้นที่ใดมีการเพาะปลูกไปแล้วให้ใช้น้ำท่าในแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนที่ยังไม่มีการเพาะปลูกให้พิจารณาปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน ทั้งนี้ ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าอย่างไม่ขาดแคลน