“โนอึล” ส่งผลดี กรมชลฯเร่งเก็บน้ำสำรองใช้แล้งหน้า
โนอึล ดันน้ำเข้าอ่างทำปริมาณน้ำทั่วประเทศเพิ่มเป็น 1,135 ล้าน ลบ.ม. ขณะ 22 -26 ก. ย. นี้ มีร่องมรสุม คาดมีฝนตกต่อเนื่องในภาคเหนือ-อีสาน
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมทั้งสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั้ง 17 แห่งทั่วประเทศ ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ อาคารหม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน
ระบุว่าจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา วันที่ 22 -26 กันยายน2563 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(21ก.ย.63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 38,373 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 14,425 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,381 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 3,685 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (21 ก.ย. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว10,721 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 90 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้ว 3,405 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 105 ของแผนฯ
จากสถานการณ์พายุ โนอึล ในช่วงวันที่ 18-20 กันยายน 2563 ที่ผ่านมาส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศรวมกัน 1,135 ล้านลบ.ม. ซึ่งส่งผลดีต่อสถานการณ์น้ำ
กรมชลประทาน ได้กำหนดแผนบริหารจัดการน้ำ โดยเน้นส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ให้ได้มากที่สุด พร้อมบริหารจัดการน้ำท่าในแหล่งน้ำธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตาม แม้ในขณะนี้จะมีปริมาณฝนตกเพิ่มมากขึ้น แต่ขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด รวมทั้งเก็บกักน้ำฝนไว้ในพื้นที่ของตน เพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งถัดไป